- ซีร์รัส (Cirrus) มีลักษณะเหมือนเส้นใยเบานุ่ม เป็นริ้ว กระจายตัวกันออกไป มีลักษณะโปรงใส หากลอยผ่านดวงอาทิตย์ แสงของดวงอาทิตย์จะสามารถลอดผ่านไปได้โดยไม่ลดความสว่างของแสงเลย เมฆชนิดนี้จะเกิดขึ้นก่อนเมฆชนิดอื่นๆและจางหายไปในภายหลัง ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและตก เมฆซีร์รัสอาจจะมีสีเหลืองหรือแดงก็ได้
- ซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) ลักษณะเป็นริ้วบาง ๆ คล้ายเส้นใย ต่อกันเป็นแผ่นสีขาว แผ่ปกคลุมทั้งท้องฟ้า มีความโปร่งแสง และจากการที่สามารถหักเหแสงได้ ในบางครั้งจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกรดหรือพระจันทร์ทรงกลดได้
- ซีร์โรคิวมูลัส (Cirrocumulus) ลักษณะเป็นริ้วคล้ายระลอกคลื่นเล็ก ๆ แผ่นบาง ๆ สีขาว เป็นผลึกน้ำแข็ง ปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง
- แอลโตสเตรตัส (Altostratus) เป็นเมฆแผ่นหนาหรือเป็นชั้นของเส้นใยที่มีสีเทาหรือฟ้า ปกคลุมทั้งหมดหรือบางส่วนของท้องฟ้า แสงอาทิตย์สามารถลอดผ่านได้บางส่วน ลักษณะเหมือนกับแสงที่ผ่านกระจกฝ้า
- แอลโตคิวมูลัส (Altocumulus) เป็นเมฆก้อนสีขาว อาจมีทรงกลม หรือทรงกลมยาว มีเส้นใยบางส่วนที่กระจายตัวออกไป โดยเมฆจะเกาะกลุ่มกันลอยเป็นแพ ซึ่งบางส่วนของเมฆอาจปล่อยให้แสงลอดผ่านไปได้บ้าง
- สเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus) เป็นเมฆที่มีสีเทา ลักษณะม้วนกลมต่อกันเป็นแผ่นหรือชั้น ไม่มีส่วนที่คล้ายเส้นใยกระจายตามขอบ หากมีเมฆชนิดนี้อยูู่มาก แสดงถึงสภาวะอากาศที่อาจมีฝนตกบริเวณนั้นได้
- สเตรตัส (Stratus) โดยทั่วไปเมฆชนิดนี้จะมีสีเทาและอยู่ต่ำที่สุดในแนวนอน แต่ถ้ามันหนามากพอก็จะสร้างละอองฝน เกล็ดน้ำแข็ง หรือเกล็ดหิมะ เมื่อพระอาทิตย์ส่องผ่านเมฆชนิดนี้ เราจะยังสามารถมองเห็นแสงที่ลอดผ่านมาได้ ในลักษณะคล้ายมีฟิล์มกรองแสงไว้
- นิมโบสเตรตัส (Nimbostratus) เมฆสีเทาเข้มที่แผ่กว้างปกคลุมท้องฟ้า ความหนาของมันเพียงพอที่จะบดบังแสงของดวงอาทิตย์ได้เลยทีเดียว หากพบเมฆชนิดนี้ ก็อาจจะต้องพบกับฝนพรำต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
- คิวมูลัส (Cumulus) โดยทั่วไปเป็นเมฆที่มีความหนาแน่น และมีโครงร่างที่ชัดเจน ลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ เป็นสีเทา แสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านเมฆเหล่านี้จะทำให้เมฆมีสีขาวสว่างกว่าเดิม ขณะที่ขอบหรือฐานของมันอาจจะมีสีทึมมืดได้
- คิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) เป็นก้อนเมฆขนาดใหญ่ หนา หนัก มีความหนาแน่นสูง มีสีดำมืด ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองได้
จะสังเกตได้ว่า ในวันที่ฟ้าปลอดโปร่ง เรามักเห็นเมฆในกลุ่มเมฆระดับสูง ขณะที่กลุ่มเมฆระดับต่ำ จะเป็นเมฆที่มีความหนา หนัก แสงอาทิตย์ส่องผ่านได้น้อยกว่าเมฆในระดับสูง เนื่องจากมีความหนาแน่นของหยดน้ำมาก ดังนั้น เมฆเหล่านี้จึงมีโอกาสจะทำให้ฝนตกได้ โดยเฉพาะเมฆคิวมูลัสที่สามารถขยายตัวสูงขึ้นในแนวดิ่งกลายเป็นคิวมูโลนิมบัส หลังจากนั้นยอดเมฆจะเริ่มขยายตัวไปตามแนวราบ ในลักษณะคล้ายโดม และมีส่วนที่เป็นจุกคล้ายดอกกะหล่ำ จุกนี้เรียกว่า โอเวอร์ชูตติงทอป (Overshooting Top-OT) ซึ่งเป็นแกนกลางของอากาศที่เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยจะชะลอตัวและหยุดลงเมื่อพบชั้นบรรยากาศที่มีความเสถียร หากจุุกนี้เกิดอยู่นาน พยากรณ์ได้ว่ากำลังจะเกิดฝนฟ้าคะนองที่มีความรุนแรง และอาจมีฟ้าผ่าร่วมด้วย