เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลมาได้แล้ว ระเบียบวิธีสถิติขั้นต่อไปก็คือ การนำเสนอข้อมูล การนำเสนอที่ดีมิได้หมายความว่า เป็นการเสร็จสิ้นของการดำเนินงานทางสถิติ แต่การนำเสนอที่ดีจะช่วยปูพื้นฐานในการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะข้อความจริงต่างๆ ตลอดจนการเปรียบเทียบข้อมูลจะได้รับการนำเสนอให้แลเห็นเด่นชัด ความเข้าใจของผู้ใช้สถิติในเรื่องการนำเสนอข้อมูล จะช่วยให้สามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างฉลาด และ ถูกต้อง
ในการนำเสนอข้อมูลอาจทำได้ทั้งอย่างไม่มีแบบแผน และ อย่างมีแบบแผน การนำเสนออย่างไม่มีแบบแผน หมายถึง การนำเสนอที่ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรที่จะต้องถือเป็นหลักมากนัก การนำเสนอแบบนี้ได้แก่ การแทรกข้อมูลลงในบทความ และข้อเขียนต่างๆ ส่วนการนำเสนออย่างมีแบบแผนนั้น เป็นการนำเสนอที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ที่ได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน ตัวอย่างการนำเสนอแบบนี้ ได้แก่ การนำเสนอในรูปตาราง รูปกราฟ และ รูปแผนภูมิ เป็นต้น
๑. การนำเสนอในรูปตาราง (Tabular presentation) ข้อมูลต่างๆ ที่เก็บรวบรวมมาได้เมื่อทำการประมวลผลแล้ว จะอยู่ในรูปตารางส่วนการนำเสนออย่างอื่นเป็นการนำเสนอโดยใช้ข้อมูลจากตาราง
๒. การนำเสนอด้วยกราฟเส้น (Line graph) เป็นแบบที่รู้จักกันดี และใช้กันมากที่สุดแบบหนึ่ง เหมาะสำหรับข้อมูล ที่อยู่ในรูปของอนุกรมเวลา เช่น ราคา ข้าวเปลือกในเดือนต่างๆ ปริมาณสินค้าส่งออกรายปี เป็นต้น
๓. การนำเสนอด้วยแผนภูมิแท่ง (Bar chart) ประกอบด้วยรูปแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งแต่ละแท่งมีความหนาเท่าๆ กัน โดยจะวางตามแนวตั้ง หรือ แนวนอนของแกนพิกัดฉากก็ได้
๔. การนำเสนอด้วยรูปแผนภูมิวงกลม (Pie chart) เป็นการแบ่งวงกลมออกเป็นส่วนต่างๆ ตามจำนวนชนิดของข้อมูลที่จะนำเสนอ