การวางแผนในลักษณะนี้เป็นการวางแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพในระยะยาวรวมทั้งเป็นการป้องกันภาวะมลพิษจากการพัฒนา โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างผลดีและผลเสียของระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินงานในรูปของการวางแผนในแนวทางใหม่นี้ เรียกว่า นิเวศพัฒนาและการพัฒนาที่ยั่งยืนนาน การวางแผนการจัดการในพื้นที่เฉพาะนี้ ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๕ (๒๕๒๕-๒๕๒๙) โดยมีการดำเนินงานในลักษณะนี้ในหลายพื้นที่ อาทิเช่น บริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก และพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
เป็นการวางแผนในลักษณะผสมผสานระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกันเพื่อประกอบการตัดสินใจในการกำหนดลำดับความสำคัญของโครงการพัฒนาซึ่งเป็นการนำเอาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นมิติหนึ่งในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เฉพาะ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สามารถใช้ ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้ได้ประโยชน์สูงสุดและคงสภาพความสมดุลของระบบนิเวศในลุ่มน้ำด้วยการกำหนดเป็นแผนแม่บทเพื่อเป็นกรอบของการพัฒนา ทั้งในด้านแผนการจัดการสิ่งแวดล้อม แผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยทั้ง ๓ แผนนี้จะมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน
เป็นการวางแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลตะวันออก ภายหลังจากที่ได้มีการกำหนดโครงการพัฒนาต่าง ๆ ลงในพื้นที่และบางโครงการก็ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วซึ่งแตกต่างไปจากการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ดังนั้นแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมนี้จึงเป็นแผนการเสริมหรือรองรับการพัฒนาให้ดำเนินการต่อไปได้โดยควบคุมให้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นมีน้อยที่สุด โดยเน้นความสำคัญที่เกี่ยวกับการจัดการด้านน้ำเสีย อากาศเสีย กากของเสีย ขยะและสิ่งปฏิกูล และการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล
เป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดการประสานการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและลดปัญหาความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรชายฝั่งรวมทั้งการควบคุมปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม โดยการยึดถือหลักการวางแผนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนาน (Sustainable Development) ดังนั้นในการดำเนินงานจึงได้มีการศึกษารายละเอียด ทรัพยากรเฉพาะเรื่องทั้งในด้านสถานภาพที่แท้จริง การพัฒนาในแต่ละด้านและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นความต้องการหรือความขัดแย้งของการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในพื้นที่นั้นรวมทั้งได้มีการผสมผสานแผนงานเฉพาะเรื่อง ๆ ให้สอดคล้องและประสานการใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกันให้ออกมาเป็นแผนงานของการจัดการและการวางแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ยังได้มีการกำหนดให้มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ไว้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญที่จะต้องให้การคุ้มครองอนุรักษ์หรือควบคุมโดยแบ่งเป็น ๒ พื้นที่ คือ
๑) เขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
ได้แก่ พื้นที่ต้นน้ำลำธารหรือพื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติที่อาจถูกทำลายหรือได้รับผลกระทบจากกิจกรรมต่าง ๆ พื้นที่ที่มีลักษณะมีคุณค่าทางธรรมชาติหรือศิลปกรรมที่อ่อนไหวต่อกิจกรรมของมนุษย์และเป็นพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ซึ่งยังมิได้ถูกประกาศตามกฎหมายอื่น การดำเนินการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าวจะมีการออกกฎกระทรวงภายใต้พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ๒๕๓๕ โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังนี้
(๑) กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติหรือมิให้กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติหรือคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม
(๒) ห้ามการกระทำหรือกิจกรรมใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดผลกระทบในทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของพื้นที่นั้นจากลักษณะตามธรรมชาติหรือผลกระทบต่อคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม
(๓) กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจกรรมของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้างหรือดำเนินการในพื้นที่นั้นให้มีหน้าที่ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
(๔) กำหนดวิธีการโดยเฉพาะสำหรับพื้นที่นั้นรวมทั้งการกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการร่วมมือและประสานงานให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติหรือระบบนิเวศตามธรรมชาติหรือคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมในพื้นที่นั้น
(๕) กำหนดมาตรการคุ้มครองอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่นั้น
๒) เขตควบคุมมลพิษ
ได้แก่ เขตท้องที่ที่มีปัญหามลพิษซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม การดำเนินงาน เพื่อการควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษในเขตดังกล่าว เมื่อได้มีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้วจะต้องมีการวางแผนปฏิบัติการเพื่อการลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษนั้นเพื่อรวมไว้ในแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดโดยในการดำเนินงานจัดทำแผนปฏิบัติการ ฯ ต้องดำเนินการดังนี้ คือ
(๑) ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีอยู่ในเขตควบคุมมลพิษนั้น
(๒) จัดทำบัญชีรายละเอียดแสดงจำนวนประเภทและขนาดของแหล่งกำเนิดมลพิษที่ได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลตาม (๑)
(๓) ทำการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินสถานภาพมลพิษ รวมทั้งขอบเขตความรุนแรงของสภาพปัญหาและผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและจำเป็นสำหรับการลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษนั้น