Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แนวความคิดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Posted By Plookpedia | 07 ส.ค. 60
8,126 Views

  Favorite

แนวความคิดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวความคิดหลักในการดำเนินงาน ดังนี้คือ 
      ๑. มุ่งหวังให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประกอบกันอยู่ในระบบธรรมชาติมีศักยภาพที่สามารถให้ผลิตผลได้อย่างยั่งยืน ถาวร และมั่นคง คือ มุ่งหวังให้เกิดความเพิ่มพูนภายในระบบที่จะนำมาใช้ได้โดยไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ 
      ๒. ต้องมีการจัดองค์ประกอบภายในระบบธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศให้มี ชนิด ปริมาณ และสัดส่วนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่ละชนิดเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตามธรรมชาติเพื่อให้อยู่ในภาวะสมดุลของธรรมชาติ 
      ๓. ต้องยึดหลักการของอนุรักษ์วิทยาเป็นพื้นฐาน โดยจะต้องมีการรักษา สงวน ปรับปรุง ซ่อมแซม และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในทุกสภาพทั้งในสภาพที่ดีตามธรรมชาติในสภาพที่กำลังมีการใช้และในสภาพที่ทรุดโทรมร่อยหรอ 
      ๔. กำหนดแนวทางปฏิบัต ิที่ชัดเจนในการควบคุมและกำจัดของเสียมิให้เกิดขึ้นภายในระบบธรรมชาติรวมไปถึงการนำของเสียนั้น ๆ กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง 
      ๕. ต้องกำหนดแนวทางในการจัดการเพื่อให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้นโดยพิจารณาถึงความเหมาะสมในแต่ละสถานที่และแต่ละสถานการณ์
      จากแนวคิดดังกล่าวเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นมีหลายชนิดและแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติและเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัว ดังนั้นเพื่อให้การจัดการสามารถบรรลุเป้าหมายของแนวคิดจึงควรกำหนดหลักการจัดการหรือแนวทางการจัดการให้สอดคล้องกับชนิด คุณสมบัติ และเอกลักษณ์เฉพาะอย่างของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ดังนี้

ทรัพยากรหมุนเวียน หรือทรัพยากร ที่ใช้ไม่หมดสิ้น 

      เป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติอย่างมากมาย อาทิเช่น แสงอาทิตย์ อากาศ และน้ำในวัฏจักร ทรัพยากรประเภทนี้ มีความจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นถ้าขาดแคลนหรือมีสิ่งเจือปนทั้งที่เป็นพิษและไม่เป็นพิษก็จะมีผลต่อการเจริญเติบโตและศักยภาพในการผลิตของทรัพยากรธรรมชาตินั้น การจัดการจะต้องควบคุมการกระทำที่จะมีผลเสียหรือเกิดสิ่งเจือปนต่อทรัพยากรธรรมชาติต้องควบคุมและป้องกันมิให้เกิดปัญหามลพิษจากขบวนการผลิตทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม ที่จะมีผลต่อทรัพยากรประเภทนี้รวมทั้งการให้การศึกษาแก่ประชาชนทั้งผลดี-ผลเสียของการปนเปื้อน วิธีการควบคุมและป้องกันรวมทั้งต้องมีกฎหมายควบคุมการกระทำที่จะมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติประเภทนี้ด้วย

 

ทรัพยากรที่ใช้ไม่หมด
แสงแดดจัดเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่หมดสิ้น เราสามารถใช้ประโยชน์ในการถนอมอาหาร ผลิตเกลือ
นอกจากนี้ยังใช้เป็นประโยชน์ในเชิงพลังงานอื่น ๆ อีกมากเพื่อทดแทนทรัพยากรบางชนิดเช่นป่าไม้

 

ทรัพยากรทดแทนได้ 

      เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วสามารถฟื้นคืนสภาพได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งได้แก่ ป่าไม้ มนุษย์ สัตว์ป่า พืช ดิน และน้ำ ทรัพยากรประเภทนี้มักจะมีมากและจำเป็นอย่างยิ่งต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มนุษย์ต้องการใช้ทรัพยากรนี้ตลอดเวลาเพื่อปัจจัยสี่ การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติชนิดนี้หรือการนำมาใช้ประโยชน์ควรนำมาใช้เฉพาะส่วนที่เพิ่มพูนเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งแนวคิดนี้ถือว่าฐานของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เปรียบเสมือนต้นทุนที่ได้รับผลกำไรหรือดอกเบี้ยรายปีโดยส่วนกำไรหรือดอกเบี้ยนี้ก็ คือ ส่วนที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นั่นเองการจัดการจะต้องจัดให้ระบบธรรมชาติมีองค์ประกอบภายในที่มีชนิดและปริมาณที่ได้สัดส่วนกัน การใช้ต้องใช้เฉพาะส่วนที่เพิ่มพูนและต้องควบคุมและป้องกันให้สต๊อกหรือฐานของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ มีศักยภาพหรือความสามารถในการให้ผลิตผลหรือส่วนเพิ่มพูนได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งในการใช้ หรือการผลิตของทรัพยากรธรรมชาตินั้นจะต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและยึดหลักทางการอนุรักษ์วิทยาด้วย

 

ทรัพยากรที่ทดแทนได้
ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอันเหมาะสมของสัตว์ป่า

 

ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป 

      เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วจะหมดไปไม่สามารถเกิดขึ้นมาทดแทนได้หรือถ้าจะเกิดขึ้นมาทดแทนได้ก็ต้องใช้เวลานานมากและมักเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่  การจัดการทรัพยากรประเภทนี้จะต้องเน้นการประหยัดและพยายามไม่ให้เกิดการสูญเสียต้องใช้ตามความจำเป็นหรือถ้าสามารถใช้วัสดุอื่นแทนได้ก็ควรนำมาใช้แทนรวมทั้งต้องนำส่วนที่เสียแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าต่อไป

 

ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป
ปัจจุบันมีการระเบิดและย่อยหินเพื่อนำหิน สินแร่ ไปใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมากซึ่งเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา

 

ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป
การขุดเจาะน้ำมันในทะเลอาจจะก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เช่น ปะการังและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้ หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสม

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow