Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

“แป้ม” TOP Admissions อันดับที่ 5 จิตวิทยา จุฬา เปิดเผยทุกเรื่องของการเรียน ที่นี่ที่แรก

Posted By Plook TCAS | 07 ส.ค. 60
30,074 Views

  Favorite

          สวัสดีค่ะ เราชื่อ ณนิฐตา ธานินทร์ปฐมรัฐ หรือจะเรียกเราว่าแป้มก็ได้ วันนี้เรามีเรื่องอยากจะมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตมัธยมปลายของเราเอง เราโชคดีที่มีคะแนนแอดมิชชั่นเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ ในปี 2560 และได้คะแนนแอดมิชชั่นสูงสุดของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย ตั้งแต่คะแนนประกาศออกมาก็มีคนมาขอสัมภาษณ์เรา ขอให้เราไปเล่าและแนะแนวอยู่ตลอด แต่ในวันนี้มีสิ่งหนึ่งที่เราอยากจะบอกทุกคน และเราไม่เคยบอกที่ไหนเมาก่อน (ใช่แล้วล่ะ ที่นี่เป็นที่แรกที่เราจะเปิดเผยทุกเรื่องเลย) การจะมาถึงจุดนี้ได้มันมีอะไรมากกว่าการเตรียมตัวสอบ มีมากกว่านั้นเยอะ เราตั้งใจจะเล่าให้ทุกคนได้อ่านอย่างจริงใจที่สุด ถ้าน้อง ม. 6 คนไหนอยากอ่านเรื่องการเตรียมตัวสอบ เราจะเขียนเทคนิคแยกไว้ให้นะคะ แต่ถ้าใครกำลังเครียดและรู้สึกหลงทาง ก็มาพักสมองแล้วอ่านเรื่องของเราแก้เครียด กับเรื่องราวชีวิตมัธยมปลายที่สนุกที่สุดในชีวิตกันเลยค่ะ

 

ชีวิตมัธยมปลายใครว่าง่าย

ขอบคุณภาพจาก สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ

 

จุดเริ่มต้นของชีวิตมัธยมปลายคือชั้น ม. 4 เราว่าชีวิตเราก็น่าเหมือนทุก ๆ คนนะ เพื่อนใหม่ ห้องใหม่ ระบบการเรียนใหม่ วิธีการสอบใหม่ ๆ เป็นปีแห่งการปรับตัวก็ว่าได้ ใคร ๆ เขาก็บอกเรานะว่าตอน ม. 4 ให้ทำคะแนนไว้ดี ๆ และในทุก ๆ คาบแนะแนวอาจารย์ก็ให้ทำแต่ใบค้นหาตัวเอง รู้สึกเหมือนต้องหาเป้าหมายที่เรียกว่า “คณะในฝัน” ให้ได้ แค่เฉพาะการสอบแบบแลปกริ๊งค์หรือการจดเลคเชอร์ให้ทัน ก็ทำเอาปวดหัวไปเกือบเทอม แต่สิ่งที่ยากที่สุดตอน ม. 4 คงเป็นการทำยังไงก็ได้ให้ถูกยอมรับ ตอนนั้นเราทำทุกอย่างที่จะทำได้ คัดตัวเชียร์ลีดเดอร์ แข่งเต้นงานโรงเรียน พยายามจะเป็นตัวแทนนู่นนี่ และเชื่อสิเมื่อเราโตขึ้น อะไร ๆ ก็ไม่เข้าข้างเอาซะเลย เราไม่ได้เป็นเชียร์ลีดเดอร์ แข่งเต้นไม่ชนะ และไม่ได้เป็นคนที่โดดเด่นในเรื่องอะไรเลย (แถมอกหักอีกต่างหาก ฮ่า ๆ) ส่วนเรื่องเรียนไม่ต้องพูดถึง คงเพราะยังเป็นเด็ก การแบ่งเวลาจึงเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตเรา แถมเพื่อนใหม่ ๆ ในห้องก็เรียนเก่งเหมือนไม่ใช่คน (หมายถึงเก่งกันแบบเกิดมาทำไมเก่งกันได้ขนาดนี้) และสิ่งที่เราเลือกจะหันหน้าเข้าหาคือการวาดรูป และเราก็เรียนสายวิทย์ - คณิตมาพอดี ทำให้เราตัดสินใจว่าคณะในฝันที่คุณครูแนะแนวคอยถามเราในทุก ๆ คาบ คงเป็น “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์” แน่นอน

 

 

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก บอกแล้วว่า ม. 4 เป็นปีแห่งการปรับตัว ยังไม่ทันจะสนิทกับเพื่อนก็ขึ้น ม. 5 ซะแล้ว แต่โชคดีที่โรงเรียนเรามีกิจกรรมกีฬาสี เราเชื่อว่าทุกโรงเรียนต้องมี และทุก ๆ คนก็ต้องผ่านมาแล้ว (หรืออาจจะกำลังประสบอยู่ก็เป็นได้ ฮ่า ๆ) เราว่ากีฬาสีเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งในตัวเองนะ ทั้ง ๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมแห่งความสามัคคี แต่มันก็มีทั้งทะเลาะกัน ผิดใจกันบ้างในระหว่างทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นงานที่มีเสน่ห์อย่างนาประหลาด เราหลงรักงานนี้มาก ๆ เป็นโอกาสให้เราได้ใช้เวลากับเพื่อนในกลุ่มและเพื่อนในห้อง ทำให้มีความผูกพันธ์เกิดขึ้นระหว่างเพื่อน แบบที่เราไม่รู้ตัวเลย (เจ๋งเนอะ ไอ้งานกีฬาสีเนี่ย) และถ้าให้เรามองย้อนกลับไป งานกีฬาสีทำให้เราโตขึ้นอย่างมาก แบบที่การบ่นของพ่อแม่ก็ทำไม่ได้อะ ความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง เสื้อผ้า ข้าวปลาอาหารของคนมากกว่าร้อยชีวิต ต้องติดต่อคนมากหน้าหลายตา ร้อยพ่อพันแม่ ดูแล้วเหมือนจะวุ่นวาย แต่กลับทำให้เราโตขึ้นได้ขนาดนี้ ทุกวันนี้เรายังคิดถึงความเหนื่อย ความดราม่าต่าง ๆ ที่ต้องพบเจออยู่เลย ถึงจะเหนื่อยแต่คิดถึงที่ไรก็ได้รอยยิ้มกลับมาตลอดนะ (ขำอ่อนอ่อนให้ตัวเอง ฮ่า ๆ) เชื่อเราสิ ถ้าน้อง ๆ จบเมื่อไหร่ไม่มีใครไม่คิดถึงแน่ หรือใครที่คิดอยู่ว่าจะทำกีฬาสีดีมั้ย เราขอบอกว่า เปิดใจแล้วทำเลย ไม่เสียดายแน่นอน

 


ม. 5 เป็นช่วงที่วุ่นวายมาก กิจกรรมเยอะมาก เพราะที่โรงเรียนเราเด็ก ม. 5 ต้องเป็นแม่งานของงานโรงเรียนต่าง ๆ ทำเอาเราน้ำหนักลงไปเยอะเลย และยิ่งกว่านั้นเรื่องเรียนนี่ โอ้โห ! ทำเอาเกือบตาย บอกเลยจ้าว่าวิชาวิทย์แต่ละตัวไม่มีใครยอมใครจริง ๆ ทั้งเคมีเรื่องปริมาณสาร , ชีววิทยาระบบร่างกาย , ฟิสิกส์เรื่องคลื่น หนักสุดคือเลขตรีโกณ เลยจ้าขอบอก (พักปาดเหงื่อรัว ๆ) เอาล่ะอ่านมาถึงตรงนี้ก็น่าจะพอเดาได้ว่าเราเป็นเด็กกิจกรรมเบอร์ใหญ่สุด ทำมันทุกอย่างอะ ยิ่งช่วง ม. 5 นะเราแข่งเต้นของโรงเรียนด้วยแหละ (ได้ที่ 1 ด้วยนะ ขออวดเบา ๆ ) พอทำกิจกรรมเยอะทำให้การสอบตกเป็นเรื่องธรรมดามาก ๆ สำหรับเรา (ตกลงดีหรือไม่ดีเนี่ย ฮ่า ๆ) เอาเป็นว่าเทอมไหนไม่ตกคือเพื่อนยังช็อคอะบอกเลย ฮ่า ๆ พอการเรียนมันแย่ลงแน่นอนว่าเราทำคือการพึ่งใบบุญโรงเรียนกวดวิชา เราลงเรียนทุกวิชาเลยนะ เสียเงินไปหลายหมื่น (แต่ก็ยังตกเหมือนเดิม มีใครเป็นเหมือนเรามั้ย ยกมือเร็ว ฮ่า ๆ) คือไปเรียนกวดวิชามามันก็อาจจะดีขึ้นหน่อย แต่ก็คงไม่สุดอะ อย่างวิชาฟิสิกส์เหมือนเราเข้าใจมันมากขึ้น มองว่ามันไม่ยากและซับซ้อนเท่าแต่ก่อน ทำให้ในปีนั้นความฝันของเราจึงได้เบนไปสู่เส้นทางที่เรียกว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์

ความเครียดจากการค้นหาตัวเองของชีวิต ม.ปลาย


ปิดเทอมหน้าร้อนขึ้น ม. 6 คือช่วงเวลาที่ทรหด โหดร้าย และไม่น่าจดจำที่สุด เพราะชีวิตสามเดือนตอนนั้นมีแค่ บ้าน , โรงเรียนพิเศษ , ทำโจทย์ , กินและนอน พ่อแม่ยังไม่ค่อยได้เจอหน้าเลย (ปลีกตัวขั้นสุด) เพราะเวลาก็ใกล้เข้ามาทุกที คะแนนทำโจทย์ก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเลย ความกดดันจากทั้งโรงเรียน ที่บ้าน เพื่อน โรงเรียนพิเศษ หนักสุดคือครูแนะแนวที่คอยไลน์เข้ากรุ๊ปห้องตลอดเวลาว่ามีใครสอบตรง , มีใครยื่นโควตาอะไรกันไปบ้างแล้ว ยิ่งเวลาเพื่อนทยอยติดไปทีละคนสองคน มันแย่มาก (อยากจะร้องไห้) เรายอมรับว่าเป็นช่วงที่สติแตก เหมือนเป็นคนบ้าเลย จนเปิดเทอมและสอบมิดเทอมเสร็จ เหลือเวลาประมาณสามเดือนก่อนสอบ GAT/PAT รอบแรกจะมาถึง เราสับสนมากเหมือนทุกอย่างมันตึงไปหมด เคยนั่ง ๆ เรียนพิเศษอยู่แล้วร้องไห้จนต้องไปดูหนังคนเดียวให้หายเครียดก็ทำมาแล้ว เราเลยเลือกที่จะปล่อย ปล่อยทุกอย่างก่อนที่มันจะขาดสะบั้น ไม่เรียนพิเศษอยู่เป็นอาทิตย์ ตรงกลับบ้านหรือเข้าร้านกาแฟเงียบ ๆ ไปนั่งคุยกับตัวเอง ว่าตกลงเราต้องการอะไรกันแน่

 

ตัวเลือกสุดท้ายที่เข้ามาในหัวเราคือ “คณะนิเทศศาสตร์” ตกใจใช่มั้ยหละ จากสถาปัตย์มาวิศวะ แล้วทำไมเราถึงเปลี่ยนใจมาเลือกนิเทศ คำตอบง่าย ๆ นะ เพราะเราชอบ เราชอบการอยู่กับคน การได้คุย การได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เหมือนเราเจอทางสว่างและตัวตนของเราจริง ๆ แต่ใช่ว่าจะเป็นไปได้อย่างที่ใจคิด เพราะแม่เราค้านสุดแรง แม่ไม่อยากให้เราเข้านิเทศเลย เพราะเหตุผลเดียวว่า แล้วจะไปทำอะไรกิน (เจ็บใช่มั้ย) ใช่ตอนนั้นเราฟังเราก็เจ็บนะ แอนตี้เลยอะ ก็เครียดอยู่สักพัก จนความจริงอีกอย่างวิ่งชนเข้ามาในหัวเราคือ คณะนิเทศศาตร์ คะแนนสูงเหมือนยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่เราดันอยู่ใต้ทะเลอะ นึกภาพออกไหม แทบเป็นไปไม่ได้เลย ตอนนั้นเครียดและสับสนไปหมด และเราก็กลับมาเป็นเด็กหลงทางอีกครั้ง ใช้ชีวิตแบบเรียน ๆ ไปงั้น สอบเอาคะแนนดี ๆ ไว้ก่อน จนแม่เราทนไม่ไหว และเข้ามาแนะนำคณะใหม่ที่ชื่อว่า “จิตวิทยา”

 

แม่เราทำแบบนั้นคงเป็นเพราะทนเห็นเราไม่เรียน ไม่มีเป้าหมายไม่ได้ เพราะเราแน่ใจแล้วว่าไม่ชอบทางวิทย์แน่ ๆ แม่เราเลยอยากให้เราเข้าอันนี้ เพราะท่านเห็นว่าเป็นทั้งคณะแนววิทย์และศิลป์ ปน ๆ กันไป ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่าจะชอบมันมั้ย เรียกว่าแทบไม่รู้จักเลยก็ได้ รู้แค่ว่าที่จุฬามีหลักสูตรนานาชาติที่ได้ไปออสเตรเลีย ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าต้องเข้าคณะนี้ภาคอินเตอร์ให้ได้ เพราะเราอยากออกจากตรงนี้ อยากไปให้ไกลจากบ้านและความกดดันทุกอย่าง เราตั้งใจมากแต่ในขณะเดียวกันก็เตรียม GAT เชื่อมโยงอย่างหนักเผื่อกันพลาด และเราก็พลาดจริง ๆ คะแนนเราขาดจากเกณฑ์ขั้นต่ำของภาคอินเตอร์อยู่ประมาณยี่สิบคะแนน แย่มากอะ โคตรเคว้ง ช่วงที่คะแนนอินเตอร์ประกาศก็คือช่วงปีใหม่ที่สอบทั้ง GAT/PAT รอบแรก และ 9 วิชาสามัญไปแล้ว เรียกได้ว่าไม่มีทางจะไปแล้วนอกจากภาคปกติ ไม่มีทางให้ย้อนกลับแล้วเพราะคะแนนเราไม่ได้ดีมากขนาดนั้น คะแนน GAT/PAT รอบสองเลยเป็นความหวังสุดท้าย

 

ขอบคุณภาพจาก MEGANE SUKI

 

ขอบคุณภาพจาก MEGANE SUKI

 

สามเดือนสุดท้ายก่อนสอบ GAT/PAT รอบสอง ให้ทายว่าเราทำอะไร ถ้าคิดว่าอ่านหนังสือหน้าดำคร่ำเคร่งละก็เดาผิดแล้ว เราทำกิจกรรมส่งท้ายมัธยมอย่างบ้าคลั่ง ทำมันทุกอย่างที่ทำได้ แต่เราก็ตั้งใจเรียนหนักมากเหมือนกัน เตรียม GAT รอบสองแบบที่เพื่อน ๆ ยังงงว่าจะเตรียมอะไรขนาดนั้น บอกแล้วว่าเราเป็นคนเบอร์ใหญ่สุดทุกทาง แล้วปิดเทอมหกเดือนก็มาถึง กว่าผลแอดมิชชั่นจะประกาศก็รอจนไม่อยากรอเลยหละ แต่สุดท้ายวันนั้นก็มาถึง วันที่ 15 มิถุนายน เรากับเพื่อนไปเยี่ยมอาจารย์ที่โรงเรียนพอดี กำลังวิ่งเล่นถ่ายรูปกันอยู่เลย เพื่อนเราก็เมนชั่นประกาศในทวิตเตอร์เข้ามาหา สิ่งที่เราเห็นคือรูปกระดาษ A4 โง่ ๆ ใบนึงที่มีชื่อเราอยู่เป็นบรรทัดที่ 5 โดยบนสุดของกระดาษแผ่นนั้นเขียนว่า “ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดของคณะ/สาขาวิชา” และนั้นคือการที่เราสอบติด คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เราเคยได้ยินคนพูดว่า วันที่ประกาศผลแล้วติด ความเหนื่อยจะหายวับไปกับตา ตอนนั้นเราไม่เคยเชื่อเลยนะ ไม่เชื่อมาตลอด คิดในใจว่าอะไรมันจะขนาดนั้น จนวันที่เราเห็นชื่อเราติดหนึ่งในนั้น คือความเหนื่อยมันหายไปจริง ๆ ด้วย เหมือนที่ผ่านมาไม่เคยเหนื่อยมาก่อนเลย ในหัวว่างและคิดอย่างเดียวแค่ว่า คุ้มแล้ว ทุกความเหนื่อยกับทุกหยดน้ำตามันคุ้มแล้ว ได้เห็นผลของมันซักที น้ำตาไหลไม่รู้ตัวเลย เพราะงั้นเราเลยอยากบอกว่ามันก็ต้องมีบ้างแหละช่วงเวลาที่ยากลำบากและอยากร้องไห้ เราขอบอกว่าร้องไปเลย เราร้องไห้น่าจะทุกเดือนเพราะทุกอย่างมันอ่อนไหวไปหมด รู้สึกแย่ง่ายมาก ๆ แต่เรื่องราวทั้งหมดมันก็เป็นเหมือนบททดสอบตัวเราด้วยเหมือนกัน อย่างว่าแหละที่ผ่านมาเราถูกเรียกว่า “ติ่งเกาหลี” ที่ใคร ๆ ก็ชอบบอกว่าไร้สาระและไม่มีอนาคต แต่เราก็ได้พิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่าเราทำได้ เราเข้าใจว่าเรื่องความชอบมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาพิสูจน์กัน แต่บางทีก็มีแค่การประสบความสำเร็จเท่านั้นแหละที่ทำให้เราถูกยอมรับได้ เชื่อเถอะว่าคนเรามีวิธีจุดไฟในการทำบางอย่างแตกต่างกัน หาไฟและเป้าหมายของตัวเองให้เจอ แล้วเต็มที่ ทำให้ได้ เพราะพี่ตูนบอกว่าเป้าหมายมีไว้พุ่งชน ฮ่า ๆ

 

เปิดทุกเคล็ดลับการเตรียมตัวสอบให้ติด

 

จบไปแล้วนะคะสำหรับเรื่องเล่าเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับชีวิตมัธยมปลายของเรา ถือซะว่าเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้อ่านเพลิน ๆ ไปแล้วกันนะ แต่เราไม่ได้มีมาแค่เรื่องเล่าแน่นอน ต่อจากนี้เป็นการรวบรวมวิธีทั้งหมดที่เราใช้อ่านหนังสือสอบตลอดหนึ่งปี เรียกได้ว่าเป็นสาระเน้น ๆ เนื้อหาล้วน ๆ ที่เราตั้งใจคัดและเขียนออกมาเป็นตัวช่วยของทุก ๆ คนเลยนะ แต่รับรองว่าสั้น ๆ ง่าย ๆ ไม่เบื่อแน่นอนไปดูกันเลยจ้า

 

Warning 1 : เราจบจากสายวิทย์ - คณิตพร้อมหลักสูตรภาษาอังกฤษเข้มข้น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พัฒนาการ เนื้อหาการเรียนอาจจะมากน้อยแตกต่างจากเพื่อน ๆ ทำให้การเรียนในห้องหรือเรียนพิเศษแตกต่างกันได้ ยังไงก็ปรับใช้ตามความเหมาะสมนะคะ

Warning 2 : เราเริ่มเตรียมสอบจริงจังแค่ช่วง ม. 6 เท่านั้นนะ อาจจะมีเรื่องเล่าและเทคนิคไม่มากเท่าไหร่นะ (เป็นเทคนิคแบบรวบรัดสำหรับคนที่มีเวลาน้อยแบบเรา อิอิ)

Warning 3 : เราขอเน้นเรื่องการเตรียมตัวสอบกับระบบกลาง อย่าง GAT/PAT , วิชาสามัญ , แอดมิชชั่น เพราะเราสอบเข้าด้วยวิธีพวกนี้จ้า

 

STEP 1 : ขั้นวางแผน ควรทำช่วงปิดเทอมหรือ ม. 6 เทอมหนึ่ง

ก่อนอื่นเลยจะเอนต์ติดเนี่ย เราต้องรู้ว่าเราอยากเอนต์อะไรก่อนถูกมั้ย ไม่งั้นจะติดมั้ยหละ ฮ่า ๆ เราจะขอยกตัวอย่างของเราเลยนะ เพื่อน ๆ จะได้เห็นภาพ เหมือนเตรียมสอบไปพร้อม ๆ กันเลย คณะที่เรามีในใจทั้งหมดคือ

1. Joint International Psychology Program , Chulalongkorn University (จิตวิทยาอินเตอร์ จุฬา)

2. คณะ จิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. คณะ นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

4. คณะ มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เอกจิตวิทยา

5. คณะ มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เอกภาษาเกาหลี

 

เยอะใช่ไหม เยอะจริง ๆ เราก็รู้สึกว่าว่าตัวเองเยอะ (ฮ่า ๆ) เราแนะนำให้มีหลาย ๆ คณะในใจหน่อยนะ ประมาณสี่คณะกำลังดี จะได้มีสำรองไว้เนอะ ตอนนี้เราได้คณะมาแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือเกณฑ์การรับ เพื่อน ๆ ต้องติดตามดูให้ดีว่า คณะที่เราสนใจใช้เกณฑ์คะแนนอะไรบ้าง และมีวิธีการเข้าแบบไหนบ้าง ช่วงเวลาก็สำคัญ เพราะเราจะได้ไม่พลาดท่า ไม่เกิดเหตุการณ์ไม่ติดเพราะดันลืมสอบ ลืมสมัคร ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ก็น่าเสียดายแย่เลยนะ ซึ่งถ้าเราแบ่งให้ดี ๆ ก็จะได้ประมาณนี้

 

1. รับตรงอย่างเดียว

- Joint International Psychology Program , Chulalongkorn University (จิตวิทยาอินเตอร์ จุฬา)

2. แอดมิชชั่นอย่างเดียว

- คณะ จิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. รับตรงและแอดมิชชั่น

- คณะ นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- คณะ มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เอกจิตวิทยา

- คณะ มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เอกภาษาเกาหลี

 

จะเสร็จขั้นเตรียมแล้วใจเย็น ๆ นะ การแบ่งวิธีรับสมัครไว้แบบนี้จะทำให้เราพอเห็นอนาคตตัวเองได้ว่าจะเจอสนามไหนก่อน ต้องสอบอะไรก่อนบ้าง ทีนี้พอแบ่งได้แล้ว ก็มาดูเลยว่าเราต้องใช้คะแนนอะไรบ้าง ซึ่งบางคณะอาจจะรับหลายแบบ มีหลายวิธีคะแนนให้เลือก ก็เลือกตามชอบเลยค่ะ เลือกตามความมั่นใจตัวเองว่าถนัดวิชาไหนบ้าง ถนัดการสอบแบบไหนบ้าง ซึ่งวิธีที่เราเลือกออกมาได้นะคะ คือการรับตรงของภาคอินเตอร์ และการแอดมิชชั่นนั่นเอง ใช่ค่ะ สี่คณะภาคไทยที่เหลือเราเลือกแอดหมดเลย เพราะทั้งสี่คณะในสนามแอดมิชชั่นใช้วิธี GAT ล้วน (GAT 50% , O-NET 30% , GPAX 20%) เหมือนกันหมด สาเหตุที่เราเลือกแบบนี้คือ ภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่เรามั่นใจ วิชาที่ต้องสอบน้อยลง เวลาการเตรียมตัวมากขึ้น นั่นเองค่ะ แต่ใครถนัดทางอื่น จะเป็นเลขหรือวิทย์หรือภาษาที่สามก็ไม่ต้องกลัวนะคะ เลือกไปเลย เอาที่ตัวเองถนัดก็พอแล้ว แต่ท้ายสุดของการเตรียมสอบในขั้นนี้ ก็คือการวางแผนคะแนนค่ะ การวางแผนคะแนนสำคัญมากเพราะจะทำให้เรามีเป้าหมายชัดเจนและมีกำลังใจในการอ่าน วิธีก็ไม่ยาก แค่ไปดูว่าที่ผ่านมาคณะที่เราเลือกใช้ได้คะแนนเท่าไหร่ แล้วก็มานั่งคำนวนเลยค่ะ เพิ่มลดตามความถนัดของตัวเองเลย ว่าจะเน้นวิชาไหน จะเอาวิชาไหนมาดึง ตกผลึกออกมาเป็นคะแนนที่ถ้าเราทำได้เราจะติดแน่นอน ซึ่งแผนคะแนนของเราในการสอบคือตามนี้ค่ะ

 

 

แล้วเราก็เอาตารางนี้แหละค่ะไปไว้ทุกที่ที่เราจะเห็น ทั้งบ้าน , โรงเรียน , ห้องนอน , ห้องน้ำ หน้าจอโทรศัพท์ ก็เอาไปไว้ให้หมดค่ะ บางที่เราก็แปะสติ๊กเกอร์บ้าง เขียนประโยคให้กำลังใจ หรือเอาหน้าไอดอลที่เราชอบตั้งคู่กันบนหน้าจอ วิธีนี้จะทำให้เรามีเป้าหมายในใจเสมอ เป็นเหมือนแรงผลักแต่ไม่กดดันเราจนเกินไป อันนี้ใครที่จะแอดมิชชั่นเราแนะนำให้ทำนะคะ แล้วการอ่านหนังสือจะง่ายขึ้นเยอะเลย

 

STEP 2 : ขั้นเตรียมอ่าน ช่วงที่ไม่ได้สอบ (ตลอดทั้งปี)

ขั้นนี้เนี่ยเราว่าแล้วแต่คนนะคะ เพราะเป็นขั้นที่กินเวลาซ้อนทับกับการอ่านเลย บางคนอาจจะถนัดวางตารางเวลาการอ่านทั้งหมดล่วงหน้าเป็นเดือน ๆ จนถึงวันสอบ หรือบางคนอาจจะถนัดอ่านไปเตรียมไปก็ได้ โดยส่วนตัวแล้วเราจะอยู่ตรงกลางของทั้งสองแบบนะ เราจะวางแผนล่วงหน้า ประมาณเดือนครึ่ง ซึ่งส่วนมากจะเป็นการวาง Outline คร่าว ๆ ว่าสอบวันที่เท่าไหร่ วิชาอะไรบ้าง เหลือเวลาอีกกี่วัน สัปดาห์นี้ควรอ่านวิชาไหน บทไหนให้จบ ซึ่งสิ่งสำคัญของขั้นนี้สำหรับเรานะคะ คือการวางแผนร่วมกับการเรียนที่โรงเรียนด้วย ใช่แล้วค่ะ อย่าลืมการเรียนที่โรงเรียนนะ เพราะทั้งคะแนนเก็บ คะแนนสอบ คะแนนการบ้าน มิดเทอมและไฟนอล มีส่วนสำคัญทั้งสิ้น ทั้งรับตรงและแอดเลย เราไม่สามารถแนะนำได้เยอะเกี่ยวกับคะแนนของโรงเรียน เพราะแต่ละที่ก็มีการรับมือกับข้อสอบของอาจารย์แตกต่างกัน เราว่าเพื่อน ๆ ทำแบบไหนแล้วรอดมาได้ก็ทำแบบนั้นต่อไปค่ะ ทำสิ่งที่เวิร์คที่สุดเพื่อเก็บเกรดที่จะมีค่าในอนาคตมาให้ได้ และนี่เป็นตัวอย่างของ Planner ของเราค่ะ

 

 

 

 

เราแนะนำให้อย่าเครียดกับแผนมากจนเกินไปนะคะ ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมดีกว่า เพราะใครจะรู้อาจจะมีงานโรงเรียนนอกแผนโผล่ขึ้นมา หรือเพื่อนเกิดเบี้ยวงานกลุ่มเราซะงั้น อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ อย่าไปยึดติดมากนะคะ และสุดท้ายก็ขอให้มีช่วงเวลาผ่อนคลายบ้างนะ อย่างที่เห็นว่าเราก็ยังมีนัดดูหนังกับเพื่อน ทานข้าวกับสายรหัส ทำกิจกรรมกับครอบครัวอยู่ เดือนละครั้งก็ยังดี เพราะพลังใจเป็นสิ่งสำคัญค่ะ การเตรียมอ่านของเราก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เริ่มอ่านวิชาที่ไม่ถนัดหรือเนื้อหาเยอะก่อน ใช้เวลาให้มากเท่าที่ต้องการ เพราะวิชาง่าย ๆ เราใช้เวลาแปปเดียวก่อนสอบก็ได้ อาจจะแบ่งเป็นสัปดาห์ละสามวันสลับกับวิชาที่ถนัดสองวิชา เช่น 1. เคมี อ่านวันจันทร์ , พุธ , เสาร์ 2. ไทยกับสังคม อ่านวันอังคาร 3. อังกฤษ อ่านวันพฤหัส ส่วนวันอาทิตย์ก็พักผ่อนและทำการบ้าน แล้วก็ปรับตารางไปเรื่อย ๆ ตามการสอบที่โรงเรียน ช่วงใกล้สอบสนามใหญ่อาจจะงดอ่านวิชาที่พอเอาตัวรอดที่โรงเรียนได้ แล้วไปเพิ่มเวลากับวิชาที่ต้องใช้ และขอย้ำอีกครั้ง สำคัญที่สุดคือต้องมีวันพักนะคะ จะเป็นวันไหนก็ได้ เพราะถ้าเราไม่พักเลยพอเหนื่อยมาก ๆ จะพาลไม่อยากอ่านแล้วจะยุ่งกันใหญ่

 

STEP 3 : ขั้นลงมือทำ (ตลอดทั้งปี)

และแล้วขั้นนี้ก็มาถึง ขั้นที่ยาวนานและเหนื่อยยากมากกว่าสองขั้นแรกรวมกัน นั้นก็คือการลงมือทำนั่นเอง เราจะบอกกับทุกคนที่มาปรึกษาเราเสมอนะคะ ว่าให้เตรียมแผนไว้ดี ๆ แต่ยากกว่าและสำคัญกว่าการเตรียมแผนที่ดี คือการลงมือทำค่ะ ถ้าไม่ทำตามแผน วางแผนมาดีแค่ไหน (ก็นกเด้อค่ะเด้อ) เพราะฉะนั้นมาดูกันดีกว่าว่าเราอ่านยังไงให้ไม่นก วิชาที่เราต้องใช้สอบจริง ๆ มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับเพื่อนคณะอื่น (ไม่รวมที่โรงเรียน ตรงนี้แต่ละคนต้องเอาตัวรอดกันดี ๆ นะ) ซึ่งวิธีการอ่านเราจะรวมไปในแต่ละวิชาดังนี้เลยจ้า

1. GAT เชื่อมโยง

เป็นวิชาที่สำคัญสำหรับเรามากเลยค่ะ เพราะมันเก็บคะแนนง่าย การอ่านวิชานี้ก็ไม่ยากเลยค่ะ เบสิคสุดก็คือไปซื้อหนังสือมาทำเลย ทำทั้งเล่มฝึกทำไปเรื่อย ๆ เราทำประมาณสามเล่มเอง แล้วก็ปริ้นท์โจทย์เก่า ๆ จากในอินเทอร์เน็ตมานั่งทำบ้าง เป็นการพักสมองจากวิชายาก ๆ ค่ะ รวม ๆ แล้วประมาณหกสิบข้อก็พอแล้วค่ะ ชิวเลย เราว่าแค่ทำให้ทัน ผิดให้น้อยที่สุดก็พอแล้ว ซึ่งแต่ละคนก็จะมีจุดงงของตัวเอง หาให้เจอแล้วก็แก้ไขให้ได้ แค่นี้ก็วิน ๆ ไปเลยค่ะ หรือใครอาจจะไปเรียนพิเศษเพิ่มก็ได้นะ เราติวเพิ่มกับพี่ที่รู้จักประมาณสองชั่วโมง อาจจะได้เทคนิคอะไรเพิ่มหน่อย แต่เราว่าจะเอาเทคนิคที่ไหนก็เอามาที่เดียวพอนะคะ เรียนหลาย ๆ ที่แล้วมันจะตีกันเอง (อาจจะงงตอนทำข้อสอบได้นะ)

2. GAT ภาษาอังกฤษ

เรียกได้ว่าเป็นวิชาปราบเซียน คนทำได้ก็ทำได้จัง คนทำไม่ได้ก็งงอยู่เหมือนเดิม (ฮ่า ๆ) เรายอมรับค่ะว่าเรามีพื้นฐานมาบ้างแล้ว คะแนนอาจจะดีกว่าคนอื่นหน่อยตั้งแต่แรก แต่บอกเลยว่า เป้าหมาย 280 คะแนนก็ไม่ง่ายเลย เราก็ทำไม่ได้นะคะ (เราได้ 277.5 ค่ะ) วิชานี้เราเรียนหนักมาก เรียนหลักสูตรของโรงเรียนที่เข้มข้นมาก ๆ และมีติวพิเศษของโรงเรียนทุกสัปดาห์ เรียนพิเศษเพิ่มอีกสองที่และทำโจทย์เยอะมาก ๆ เราว่าน่าจะประมาณ 2,000 ข้อได้ ปน ๆ กันไปทั้ง Grammar , Reading , Conversation , Vocabulary พยายามหาจุดด้อยแล้วก็หาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนั้นมาทำเพิ่มอีก นอกจากนี้เราก็ซื้อพวกหนังสือโจทย์ GAT ภาษาอังกฤษ มาทำเพิ่มค่ะ เพราะวิชานี้เป็นเหมือนอาวุธเพียงอย่างเดียวของเราในการสอบ เราเลยจริงจังกับมันมาก ๆ ค่ะ

3. ภาษาไทย O-NET

เป็นวิชาเก็บคะแนนอีกตัวค่ะ อาจจะไม่ได้คะแนนเยอะมาก แต่ไม่มีใครได้น้อยจนน่าเกลียดแน่นอน เราซื้อหนังสือสรุปเนื้อหามาอ่านค่ะ ทบทวนความรู้ทั้งหมดที่มีมา (ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมานั้นไม่มีเลยฮ่า ๆ) ส่วนมากก็ทวนเรื่องเล็ก ๆ พวกคำมูล , ประโยค , เสียง , คำเป็นคำตาย อะไรพวกนี้ที่เรามองข้ามไป แค่อ่านให้แม่น ๆ ตามวิธีที่ถนัด จะทำ Mind Mapping หรือ Short Note ก็แล้วแต่เลย พอย่อยความรู้ได้ ก็เอาความรู้มาทำโจทย์ค่ะ ไม่ต้องเครียดมาก ซื้อหนังสือโจทย์มาทำ เอาให้ข้อถูกมากกว่าข้อผิดก็พอ เท่านี้ก็ไปสอบได้แบบตัวเบา ๆ เลย (ตัวเบาก็พอนะ สมองอย่าเบาก็พอ ฮ่า ๆ)

4. สังคม O-NET

เราว่าวิชานี้ยากพอ ๆ กับวิทย์เลย เนื้อหามันเยอะมาก เหมือนเค้าจะเอาอะไรก็ได้ในโลกใบนี้มาออก เพราะฉะนั้นเราเลยจะแนะนำให้รู้แค่พื้นฐาน แต่เป็นพื้นฐานที่แน่น เช่นเรื่องกฎหมายมรดก อ่านไปให้แม่นว่าใครจะได้รับจากใคร อะไรยังไงบ้าง แล้วค่อยไปปรับใช้กับสถานการณ์ของโจทย์ก็พอค่ะ รวมไปถึงพวกภูมิศาสตร์ ก็พยายามจำ ๆ ไป วิชานี้ได้บ้างไม่ได้บ้างไม่ต้องเครียดค่ะ เหมือนทำโจทย์ลับสมอง เอาความรู้ที่มีอยู่แล้วมาตอบ ถ้าอ่านไปบ้างก็ไม่น่าตกแน่นอนค่ะ

5. วิทย์ O-NET

วิชาแห่งความผีอีกหนึ่งวิชาค่ะ (ฮ่า ๆ ความในใจสุดฤทธิ์) เนื้อหาเยอะ เยอะจนออกนอกโลกไปกว่าสังคมอีก สำหรับน้อง ๆ สายศิลป์อาจจะยากหน่อย ต้องตั้งใจอ่านนิดนึงนะคะ แต่ถ้าน้องสายวิทย์ก็เหมือนการสอบ สิ่งที่เราเรียนไปแล้วทั้งนั้น แค่ต้องทบทวนใหม่เท่านั้นเอง เราแนะนำให้ซื้อหนังสือสรุปเนื้อหาซักเล่ม เอาเล่มที่ชอบ กับหนังสือโจทย์อีกเล่ม ลองทำ Pre - Test แล้วไปอ่านนื้อหา แล้วก็ Post - Test จะรู้เลยว่า ข้อสอบออกสิ่งเดิม ๆ แต่เราจะจำไม่ค่อยได้เอง ทำโจทย์ไปก็อ่านไป จำเนื้อหาไปเรื่อย ๆ ตอนไปสอบก็ ไม่ต้องเครียดค่ะ เพราะไม่น่าทำกันได้อยู่แล้ว (อ่าว เป็นงั้นไป) เพราะเนื้อหามันเยอะมากจริง ๆ เหมือนเสี่ยงดวงให้ออกตรงกับที่เราอ่าน ถ้าอยากลองเสี่ยงจะอ่านแบบแน่น ๆ เลยก็ได้ค่ะ แต่จะเหนื่อยมาก (เราอ่านมาแล้ว และก็ทำไม่ได้ ฮ่า ๆ) กลายเป็นว่าเราแนะนำให้ทำพวกข้อคำนวณให้ได้ แล้วไปเก็บคะแนนตรงนั้นง่ายกว่าเยอะเลย

6. คณิต O-NET

ไม่ยากไม่ง่าย แต่เราว่าก็ค่อนไปทางง่ายอยู่นะคะ แค่ต้องชินกับแนวของโจทย์ เพราะเค้าอยากทดสอบเราไม่กี่เรื่องหรอก ไปซื้อหนังสือมาซักเล่ม แล้วทำอย่างตั้งใจซักสองครั้ง เราเชื่อว่าได้มากกว่า 60 คะแนนแน่นอน เพราะเรื่องที่ออกสอบเป็นแค่เลขพื้นฐานที่ทุกคนต้องเรียนอยู่แล้ว ทบทวนสูตรกับเรื่องที่เคยเด๋อ ๆ งง ๆ ให้ดี จำสูตรได้ พลิกแพลงโจทย์ได้ซักนิด ยังไงก็ทำได้แน่นอนค่ะ

7. อังกฤษ O-NET

ใครผ่าน GAT ภาษาอังกฤษ มาได้คะแนน 90 คะแนนขึ้นไป บอกเลยค่ะว่าชิล ๆ เพราะมันง่ายกว่ากันมาก ๆ แกรมม่าก็ซับซ้อนน้อยกว่า ส่วน Reading ก็สั้นกว่า และส่วนมากจะเป็นโจทย์แบบให้ดูรูปแล้วตอบคำถาม สิ่งสำคัญของวิชานี้อยู่ที่โจทย์ค่ะ คือพวกสำนวนใน Conversation หรือ Vocabulary อาจจะไม่ค่อยคุ้นเพราะเป็นคำในตำรา สมัยนี้อาจจะไม่ค่อยใช้แล้ว ก็จะมีงง ๆ อยู่บ้าง ลองคิดดูให้ดีก่อนค่อยตอบนะคะ แต่โดยรวมคือไม่ยากเลย ถ้าตั้งใจอ่านไปสอบก็ทำได้ทุกคนแน่นนอนจ้า

 

พอเรามีแผนที่วางไว้ เราทิ้งวิชาอื่น ๆ ทั้งหมดเลยนะคะ เพราะเราตัดสินใจทางนี้แล้ว เราจะไม่เสียเวลากับอย่างอื่นเลย ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนที่จะแอดมิชชั่นแต่ยังตัดสินใจไม่เด็ดขาดหรือไม่กล้าทิ้งเนี่ย ก็จะหนักและเหนื่อยหน่อยนะเพราะเนื้อหาจะเยอะมาก ๆ เราแนะนำให้คิดให้ดี เอาที่แน่ใจแล้วเลิกอ่านไปเลยค่ะ เอาเวลาไปตั้งใจของโรงเรียนดีกว่าจะได้มีเกรดที่ดีด้วย อย่าลืมเกรดของโรงเรียนนะ ขอย้ำอีกที การอ่านหนังสืออีกอย่างให้ได้ผลคืออ่านในสภาพแวดล้อมที่เราชอบค่ะ บางคนชอบอ่านห้องแอร์ ชอบอ่านที่บ้าน ชอบอ่านร้านกาแฟ ชอบอ่านคนเดียวมากกว่าอ่านกับเพื่อน บางคนกินไปด้วย หรือต้องฟังเพลงไปด้วย บางคนใช้ปากกาสีเยอะหรือบางคนชอบใช้ดินสอ เราว่าหาสิ่งเหล่านี้ให้เจอเร็วหน่อย แล้วการอ่านหนังสือสอบจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นนะ ไม่ใช่แค่การสอบสนามใหญ่ แต่รวมไปถึงการเรียนในโรงเรียนด้วย เพราะเราจะมีความสุขเวลาอ่านหนังสือนั่นเองค่ะ

 

STEP 4 : HEALTHY RELAX (ทำกันบ่อย ๆ นะแล้วคะแนนสอบจะดีขึ้น)

มาถึงขั้นสุดท้ายแล้วจริง ๆ จะเรียกว่าขั้นก็ไม่ถูกซะทีเดียวแต่เป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่เราแนะนำให้ทำก็คือการพักผ่อนนั่นเอง ถ้าอ่านแบบไม่ข้ามมาจะรู้เลยว่าเราให้ความสำคัญกับการพักผ่อนมาก ๆ เพราะจะทำให้เราไม่เครียด สมองทำงานดีขึ้น ผลลัพธ์ก็จะออกมาดีขึ้นเหมือนกัน แต่การพักผ่อนในที่นี้เราเรียกมันว่า Healthy Relax หรือการพักผ่อนที่มีประโยชน์และส่งเสริมการเรียนนะ ซึ่งการพักผ่อนที่ว่าคือ

1. การนอนหลับ

เชื่อเลยค่ะ ว่าทุกคนต้องร้องโหยอยู่ ม. 6 แล้วนะพี่ จะให้นอนเร็วได้ยังไง อะ ๆ เราเข้าใจ แต่เราขอถามนะว่าการอยู่ดึกของเพื่อน ๆ เนี่ย อยู่ทำอะไรกัน อ่านหนังสือ ทำการบ้าน หรือตีดอท ดูซีรี่ย์ ไถทวิตเตอร์ ที่พูดมาเราก็ทำมาหมดแล้วนะ ไม่ใช่ไม่ทำ แต่แค่อยากบอกว่าถ้าคนไหนที่รู้สึกว่าอยู่ถึงดึก ๆ แต่ก็ยังอ่านไม่รู้เรื่อง ลองเปลี่ยนเป็นเล่นคอม ฟังเพลงก่อนนอน เอาให้หายเครียดแล้วรีบนอนก่อนห้าทุ่ม ตื่นเช้าขึ้นแล้วไปอ่านที่โรงเรียน เวิร์คกว่ามั้ย อยากให้ลองหาวิธีอ่านหนังสือที่จะกระทบการนอนน้อยที่สุด เพราะเวลาเราง่วงอ่านอะไรก็ไม่เข้าหัวทั้งนั้นแหละ

2. การออกกำลังกาย

ไม่ต้องถึงขนาดออกไปฟอร์มทีมเตะบอลกับเพื่อน หรือว่ายน้ำ 50 รอบ แต่แค่ลุกจากเก้าอี้ไปวิ่ง ๆ เดิน ๆ เต้น ๆ บ้าง หรืออาจจะแค่ซิทอัพบนเตียงให้พอมีเหงื่อออกเวลาเครียด ๆ แล้วสมองเราจะโปร่งขึ้น ทีนี้ไปอาบน้ำสระผมแล้วกลับมาอ่านใหม่ รับรองจะสบายตัวสบายสมองกว่านั่งอ่านเครียด ๆ เยอะเลย

3. ศิลปะ

อาจจะฟังแล้วมีความงงในงง แต่การวาดรูปแทนการเล่นโทรศัพท์ในช่วงพักจะทำให้สมาธิเราไม่ขาดแบบกระทันหัน เวลากลับมาอ่านต่อก็จะไม่ลืมสิ่งที่พึ่งอ่านไป โดยไม่จำเป็นต้องวาดรูปอะไรให้มัน เว่อวัง แค่เอากระดาษมาวาดเล่น ๆ วาดนู่นวาดนี่ หรือระบายสมุดระบายสีของผู้ใหญ่ก็ได้ แต่ถ้า ใครอยากไปให้สุดแบบเรา (อีกแล้วหรอ ฮ่า ๆ) เราแนะนำวาดรูปสีน้ำมันค่ะ ได้สมาธิมากแล้วก็สนุกด้วยนะ

4. สิ่งที่ชอบ

ข้อสุดท้ายนี้เราพูดจากใจจริงเลยว่ามันเป็นกำลังใจของเรา เราเชื่อว่าวัยรุ่นทุกคนก็มีเรื่องที่อินต่างกันออกไป จะนักร้อง ละคร กีฬา หนัง ศิลปะ หรืออะไรก็ตาม การที่เราได้ใช้เวลาร่วมกับสิ่งที่ชอบในนาทีที่มันเหนื่อยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ แบ่งเวลาให้ดี ๆ หรือทำไปพร้อม ๆ กันก็ได้ เช่นฟังเพลงต่างประเทศไปด้วยอ่านไปด้วย เราก็จะได้ศัพท์ใหม่ ๆ ได้เห็นการใช้แกรมม่าจริง ๆ ได้ฝึกภาษาที่สอง สาม สี่ ไปด้วย หรือเป็นนักกีฬาด้วยเตรียมสอบไปด้วย จะได้สุขภาพ สมาธิ และเพื่อนใหม่ ๆ ไว้ชวนกันไปอ่านหนังสือ เผลอ ๆ อาจจะได้เทคนิคใหม่ ๆ มาก็ได้ วิธีนี้นอกจากจะทำให้ผ่อนคลายแล้วยังได้ประสบการณ์และความรับผิดชอบไปฟรี ๆ อีกด้วย เราเลยไม่อยากให้ใครทิ้งงานอดิเรกที่ชอบไปในตอน ม. 6 เพราะมันจะช่วยเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่ ๆ จ้า

 

บทสรุปของชีวิตมัธยมปลาย

ขอบคุณภาพจาก สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ

 

ในที่สุดก็จบซักที บอกเลยว่าเอาจริง ๆ เราไม่ได้มีเทคนิคอะไรพิเศษมากมาย ทุกอย่างค่อนข้างธรรมดาและเบสิคมาก แถมเราก็เป็นคนเรียน ๆ เล่น ๆ พักบ่อยอีกด้วย แต่ส่วนสำคัญคือเราก็ต้องแน่ใจว่าในช่วงที่เราอ่าน เราอ่านและทบทวนอย่างตั้งใจจริง ๆ มีสมาธิจดจ่อกับมัน และพยายามอย่างเต็มที่ที่สุดเพื่อที่การพักผ่อนของเราจะมีค่ามากยิ่งขึ้นนั่นเอง เอาเป็นว่าอย่าคิดแต่เรื่องจำนวนชั่วโมงในการอ่าน แค่อ่านอย่างมีคุณภาพแล้วพักผ่อนให้เพียงพอเท่านั้นเอง นี่คือทั้งหมดของเรื่องมัธยมปลายของเรา พยายามย่อที่สุดแล้วนะ แต่ก็ยังยาวมากอยู่ดี (ฮ่า ๆ) อย่างที่เราบอกไปตอนต้นว่าสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยบอกใครเลย สิ่งนั้นก็คือเส้นทาง กว่าจะมาเป็นแป้มคนนี้นะ มันไม่ง่ายอย่างที่ใคร ๆ คิด ไม่ได้คิดออกในครั้งแรก และไม่มีอะไรเป็นไปตามแผนได้หมด เรียกว่าเจ็บมามากกว่าสำเร็จอีก

 

แต่สิ่งสำคัญคือการไม่ยอมแพ้ และเราก็อยากให้น้องทุกคนไม่ยอมแพ้เหมือนกันนะ เรารู้ว่ามันเหนื่อยและยาก เพราะเราก็เป็นเด็กคนนึงที่ไม่ได้เรียนเก่งอะไร แต่เราได้สิ่งที่เราต้องการเพราะเราไม่ถอดใจ จนถึงตอนนี้ก็ยังขอบคุณตัวเองซ้ำ ๆ ที่ไม่ปล่อยความฝันนี้ไป เราแค่อยากบอกว่าก้มหน้าก้มตาทำไปเถอะ ทำด้วยความตั้งใจและความอยาก อยากจะได้ อยากจะชนะ แล้วเราจะได้สิ่งนั้นมาแน่นอนกับสิ่งที่เรียกว่าความฝัน คณะและมหาวิทยาลัยในฝันของทุกคนไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน ขอให้ทุกคนโชคดีนะ รักษาสุขภาพด้วยหละ ม. 6 มันเหนื่อย ต้องเข้มแข็ง เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะ ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเราต้องสู้และมีกำลังใจที่ดี สุดท้ายอย่าลืมใช้ชีวิตมัธยมปลายให้คุ้มด้วยนะคะ เพราะมันจะกลายเป็นความทรงจำที่วิเศษ ที่เราจะย้อนกลับมานึกถึงตลอดไปแน่นอน

 

เรื่อง : ณนิฐตา ธานินทร์ปฐมรัฐ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow