Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สถิติ

Posted By Plookpedia | 04 ส.ค. 60
25,945 Views

  Favorite

 

สถิติ

 

คนเราไม่สามารถจำอะไรทุกอย่างได้ โดยไม่มีการจดบันทึกช่วยความจำ

การจดบันทึกนั้น อาจจะจดเป็นข้อความ ซึ่งช่วยให้คนรุ่นหลังรู้เหตุการณ์ และ เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือ จดเป็นตัวเลข เพื่อใช้เปรียบเทียบสิ่งที่ผ่านมาแล้วว่าดีขึ้น หรือ ไม่ดีอย่างไร

 

 

ชีวิตประจำวันของเรามักจะเกี่ยวข้องอยู่กับตัวเลขเสมอ ซึ่งเรามักจะได้เห็นจากป้ายโฆษณา จากหนังสือพิมพ์ จากข่าว จากวิทยุ เรื่องต่างๆ เหล่านั้น อาจจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการของรัฐบาล บริษัท ห้างร้าน หรือ องค์การใดๆ ก็ได้ ซึ่งแต่ละเรื่องมีตัวเลขประกอบด้วย

พ่อบ้านแม่เรือนอาจจะจดบันทึกเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน หรือแต่ละปี เพื่อจะได้ทราบว่า ครอบครัวของตนมีรายรับ และ รายจ่ายอย่างไร ซึ่งเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตให้เหมาะสมตามฐานะ

โดยทั่วไปโรงเรียนจะมีการบันทึกน้ำหนัก และ ส่วนสูงของนักเรียน จำนวนนักเรียน จำนวนครู ผลการสอบของนักเรียน ฯลฯ

 

 

 

ในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์บางเรื่อง ก็ต้องมีการจดบันทึก เช่น เมื่อนักเรียนต้องการสังเกตความเจริญงอกงามของพืช ก็ต้องจดบันทึกไว้ เพื่อช่วยให้เรารู้ว่าพืชนั้นเจริญงอกงามเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นักวิทยาศาสตร์มักจะจดบันทึกผลการทดลองของตน เพื่อหาข้อสรุปต่อไป

เมื่อเราไปโรงพยาบาลก็จะพบว่า นางพยาบาลจะบันทึกเกี่ยวกับอุณหภูมิของร่างกายของเรา เพื่อทราบว่า อุณหภูมิสูงขึ้น หรือลดลงอย่างไร

นักการค้าธุรกิจมักจะจดบันทึกตัวเลขเกี่ยวกับการจำหน่ายว่า แต่ละปีเขาจำหน่ายสินค้าได้มากน้อยเพียงไร

บ้านเมืองของเราก็ต้องจดบันทึกเกี่ยวกับจำนวนประชากร คนเกิด คนตาย ทั้งนี้เพื่อทราบจำนวนพลเมืองที่แน่นอน รัฐบาลจะได้จัดบริการต่างๆ เช่น รถไฟ รถเมล์ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ฯลฯ ได้เพียงพอ

ที่กล่าวข้างต้นเป็นตัวอย่างของการจดบันทึก ซี่งยังมีอีกมากมายนัก เราจะเห็นว่า การจดบันทึกนั้นมีประโยชน์มาก

 

 

การจดบันทึกอย่างละเอียด อาจจะทำเป็นรูปตาราง เช่น ตารางแสดงจำนวนนักเรียน ตารางแสดงคะแนนของนักเรียน ตารางแสดงคะแนนของนักเรียน ตารางกำหนดเวลาเดินรถ  เรือ รถไฟ เครื่องบิน ตารางกำหนดอัตราค่าโดยสาร เป็นต้น ตารางหรือรายการ ที่จดบันทึกอย่างละเอียดนี้ เรียกว่า ระเบียน

เราจะเห็นว่า การบันทึก การใช ้และ อ่านระเบียนได้ มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของเรามาก เช่น ถ้าเราไม่รู้จักอ่านตารางเวลาเดินรถไฟ เราอาจจะไปขึ้นรถไฟไม่ทันเวลา เป็นต้น

 

 

ความหมายของคำว่าสถิติ



ในปัจจุบัน สถิติได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น เรามักจะได้ยินได้ฟังตัวเลขสถิติอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นจากการสนทนา จากการอภิปราย จากวิทยุ และ จากโทรทัศน์ ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน ก็มีตัวเลขสถิติแสดงอยู่บ่อยๆ เช่น สถิติจำนวนประชากร สถิติผลผลิตการเกษตร สถิติปริมาณน้ำฝนที่ตก สถิติคนเกิดคนตาย สถิติจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนน ฯลฯ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถิติจะเป็นถ้อยคำที่คุ้นหู จนดูเหมือนเราจะรู้จักสถิติกันเป็นอย่างดี แต่พอเอาจริงเข้าก็ไม่แน่ใจว่า ทุกคนจะเข้าใจคำว่า "สถิติ" ได้ถูกต้องทั้งหมดเสมอไป

 

 

เมื่อได้ยินคำว่า "สถิติ" หลายคนจะนึกถึงตัวเลข ทั้งนี้เพราะสถิติที่คนทั่วไปรู้จัก และ เกี่ยวข้องจะอยู่ในรูปของตัวเลข ตัวเลขนี้มักแสดงในรูปของยอดรวม ซี่งประมวลจากข้อมูลเบื้องต้นเป็นจำนวนมากๆ หรืออาจอยู่ในรูปใดๆ ซึ่งได้มา ด้วยการดำเนินการคำนวณอย่างหนึ่งอย่างใดตามวิธีการทางสถิติ เพื่อทราบความสัมพันธ์ หรือ ลักษณะโดยส่วนรวมของข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ สถิติในความหมายที่เป็นตัวเลขนี้ บางทีก็เรียกกันว่า ข้อมูลสถิติ

สถิติในอีกความหมายหนึ่ง นอกจากที่กล่าวข้างต้น ซึ่งคนทั่วไปมักไม่ทราบ ได้แก่ ระเบียบวิธีทางสถิติอันประกอบด้วย การเก็บรวบรวม การนำเสนอการวิเคราะห์ และ การตีความหมายข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้ สถิติในความหมายนี้ เป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่า เป็นทั้งวิทยาศาสตร์ และ ศิลปศาสตร์

เมื่อกล่าวถึงสถิติในรูปที่เป็นตัวเลข หรือที่เรียกว่า ข้อมูลสถิติ ควรที่จะทำความเข้าใจเพิ่มเติม ถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า ข้อมูล และ ข้อมูลสถิติ ข้อมูลเป็นคำที่ใช้เรียกข้อเท็จจริง ซึ่งได้มาจากการเก็บรวบรวมโดยวิธีใดๆ ก็ได้ เช่น โดยการสัมภาษณ์ โดยการนับ โดยการลงทะเบียน ฯลฯ เป็นต้น ข้อเท็จจริงเหล่านี้ อาจเป็นตัวเลข หรือ ไม่เป็นตัวเลขก็ได้ ข้อมูลเพียงตัวเดียวไม่ถือว่าเป็นข้อมูลสถิติ สถิติ หรือ ข้อมูลสถิติจะต้องเกิดจากข้อมูลจำนวนมากๆ ปริมาณน้ำฝนที่ตกใน ๑ วัน เป็นข้อมูล แต่ยอดรวม หรือ ค่าเฉลี่ยต่อวันของปริมาณน้ำฝนที่ตกใน ๑ เดือน หรือ ๑ ปี จึงจะถือได้ว่า เป็นข้อมูลสถิติ อย่างไรก็ดี ข้อมูลสถิติในบางสถานะมีลักษณะเป็นข้อมูล เช่น ปริมาณข้าวส่งออกรายปีในระยะเวลา ๑๐ ปี เป็นต้น ตัวเลขเหล่านี้ แต่ละตัวคือ สถิติ หรือข้อมูลสถิตินั่นเอง เพราะเกิดจากยอดรวมของปริมาณข้าวส่งออกรายเดือน ในเวลา ๑ ปี แต่ในขณะเดียวกัน ตัวเลขเหล่านี้ ก็มีลักษณะเป็นข้อมูลด้วย ในกรณีที่ถูกนำไปวิเคราะห์ เช่น การหายอดรวม หรือ ค่าเฉลี่ยในรอบ ๑๐ ปี ดังนั้น ข้อมูลสถิติในบางสถานะจึงอาจเป็นข้อมูลได้ แต่ข้อมูลจะเป็นข้อมูลสถิติมิได้

 


ความเป็นมาของสถิติ

 


เช่นเดียวกับศาสตร์ทั่วไป สถิติได้รับการพัฒนาที่ละเล็กละน้อยเรื่อยมาตามแต่ว่าเมื่อไร หรือ ที่ใด ที่มีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากสถิติ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏว่า การหาค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นค่าสถิติอย่างหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันดีแล้วในยุคของปีทาโกรัส นักคณิตศาสตร์ชาวกรีก ซึ่งมีอายุอยู่ในสมัยศตวรรษที่ ๖ ก่อนคริสต์กาล อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นเป็นพันปีมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าจักรวรรดิต่างๆ ที่รุ่งเรืองในสมัยนั้น เช่น อียิปต์ และจีน เป็นต้น ได้มีการบันทึกข้อมูล และรู้จักนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์กันแล้ว แต่ข้อมูลที่ใช้กันสมัยนั้นคงไม่ยุ่งยาก และ สลับซับซ้อนมากนัก การเก็บรวบรวมข้อมูลคงจัดทำขึ้นตามความจำเป็น และ ความต้องการที่จะใช้ในการบริหารประเทศเป็นส่วนใหญ่ ตัวอย่างข้อมูลเหล่านี้ ได้แก่ จำนวนประชากร เนื้อที่ที่ใช้ในการประกอบการเกษตร จำนวนปศุสัตว์ ซึ่งถูกนำไปใช้ในการจัดเตรียมกำลังป้องกันประเทศ และ การจัดเก็บภาษีอากร

 

 

วิชาสถิติได้รับการพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของสถิติสมัยใหม่ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เมื่อรัฐบาลของประเทศต่างๆ ใน ยุโรปตะวันตก ให้ความสนใจ ในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพลเมือง ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ปรากฏว่า ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจคล้ายๆ กับวิธี ที่ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อนึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้ บรรดาบริษัทประกันชีวิต ก็ได้มีการเก็บรวบรวมสถิติชีพ (Vital statistics) เพื่อใช้ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยประกันชีวิต เมื่อสังคม และธุรกิจด้านต่างๆ มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ความต้องการใช้ประโยชน์จากสถิติ ก็เกิดมีมากขึ้น เป็นเงาตามตัว ความต้องการในด้านนี้เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ผลักดันให้วิชาสถิติได้รับการพัฒนา จนกลายเป็นศาสตร์ ที่มีความสำคัญยิ่งแขนงหนึ่งในปัจจุบัน และ ถูกนำไปประยุกต์ เข้ากับวิชาการสาขาอื่นๆ แทบทุกสาขาวิช

ประโยชน์ และ ลักษณะสำคัญบางประการของข้อมูลสถิติ 


เมื่อสังคมมนุษย์มีความเจริญมากขึ้น ปัญหาด้านต่างๆ ก็เพิ่มความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นควบคู่กันไป เช่น ปัญหาการพัฒนาประเทศ ปัญหาการบริหารหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐ และ ของเอกชน ปัญหาเกี่ยวกับการดำรงชีวิตในครอบครัว และปัญหาที่เกี่ยวกับการค้นคว้าวิจัยทั้งทางวิทยาศาสตร์ และ สังคมศาสตร์ เป็นต้น เนื่องจาก ข้อมูลสถิติเป็นเสมือนหนึ่งแสง ที่ช่วยส่องให้เห็นความจริง หรือ เห็นสภาพความเป็นไปเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ดังนั้น ในการตัดสินใจ หรือ วางแผน เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จึงจะขาดสถิติเสียมิได้ สถิติมีส่วนช่วยอย่างสำคัญให้การวางแผนดำเนินงานเป็นไปอย่างมีหลักเกณฑ์ ซึ่งเป็นผลทำให้การดำเนินงานต่างๆ มีโอกาสผิดพลาดน้อยลง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags

Content

4
วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล
ในการดำเนินงานเก็บรวบรวมข้อมูล อาจแบ่งได้เป็น ๒ วิธีใหญ่ๆ คือ โดยการสังเกต และ โดยการสอบถาม ๑. การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสังเกต การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธี นี้เรียกว่า เป็นการดำเนินงานข้างเดียว เช่น การนับจำนวนผู้โดยสารรถประจำทาง ใ
4K Views
6
การวิเคราะห์และการตีความหมายข้อมูล (Analysis and Interpretation of Data)
การวิเคราะห์และการตีความหมายข้อมูล (Analysis and Interpretation of Data) ข้อมูลที่ทำการเก็บรวบรวม โดยทั่วไปจะมีจำนวนมาก เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ก็จะมีการดำเนินกับข้อมูลด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การแยกประเภท การจัดชั้น การสังเขป การหาข้อสรุปเกี่ยวกับลักษณะต่างๆ
4K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow