แบ่งตามลักษณะรูปทรงได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ภูเขาไฟแบบโล่ (Shield Volcano) เป็นภูเขาไฟที่มีความลาดชันน้อย เพียง 6-12 องศาเท่านั้น เนื่องจากเกิดจากแมกมาบะซอลต์ มีอัตราการไหลเร็ว แข็งตัวช้า ทำให้ลาวาไหลไปได้ไกล และสามารถก่อตัวเป็นภูเขาไฟขนาดใหญ่ได้ เช่น ภูเขาไฟมอนาคี ที่เกาะฮาวาย หรือภูเขาไฟกระโดง จังหวัดบุรีรัมย์
2. ภูเขาไฟแบบกรวยกรวด (Ash and Cinder Volcano) เป็นภูเขาไฟที่มีรูปทรงกรวย มีความลาดชันปานกลางประมาณ 30 - 40 องศา เกิดจากการระเบิดรุนแรง ทำให้กรวดและเถ้าภูเขาไฟกระเด็นขึ้นสู่ด้านบนแล้วตกลงมาทับถมกันบริเวณปากปล่อง เช่น ภูเขาไฟในรัฐออริกอน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา
3. ภูเขาไฟแบบสลับชั้น (Composite Volcano) เป็นภูเขาไฟขนาดกลาง ลักษณะเป็นรูปทรงกรวย มีปากปล่องขนาดใหญ่และมีแอ่งบริเวณปากปล่อง ภายในภูเขาไฟมีธารลาวา กรวด เถ้าภูเขาไฟ เรียงสลับชั้นกันไป เช่น ภูเขาไฟฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น หรือภูเขาไฟปอมเปอิ ประเทศอิตาลี
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งเป็นภูเขาไฟแบบ Fissure Volcano ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่เกิดจากแมกมาบะซอลต์แทรกตัวขึ้นมาบริเวณรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก และ Caldera Volcano ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่มีหุบเขาอยู่บริเวณยอดอีกด้วย
หากแบ่งประเภทของภูเขาไฟตามระยะเวลาการเกิด จะแบ่งภูเขาไฟได้เป็น 3 ประเภท
1. ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ (active volcano) เป็นภูเขาไฟที่พร้อมจะระเบิดได้ตลอดเวลา ซึ่งมีอยู่มากบนหมู่เกาะฮาวาย
2. ภูเขาไฟที่สงบลงแล้ว (domant volcano) ภูเขาไฟที่ดับอยู่ แต่ก็มีโอกาสจะระเบิดหรือปะทุขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้
3. ภูเขาไฟที่ดับแล้ว (extinct volcano) ภูเขาไฟที่ไม่มีโอกาสระเบิดอีกแล้ว เนื่องจากเปลือกโลกบริเวณนั้นอยู่ในภาวะเสถียร ไม่มีการขยับหรือเคลื่อนตัวแล้ว
กระบวนการระเบิดของภูเขาไฟนั้นเริ่มจากการที่ใต้ผิวโลกมีความร้อนสะสมอยู่มาก โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า "จุดร้อน" ซึ่งจะทำให้เนื้อโลกชั้นล่างหลอมละลายเมื่อความดันและความร้อนสูงถึงระดับหนึ่ง จะเกิดการระเบิดและของเหลวที่หลอมละลายใต้ผิวโลกแทรกตัวขึ้นมาตามช่องหรือปล่องของภูเขาไฟ ซึ่งนั่นเรียกว่า "ลาวา (Lava)"
สำหรับภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นและยังมีการระเบิดของภูเขาไฟอยู่ แต่ละครั้งที่เกิดการระเบิดจะมีสิ่งที่เรียกว่า ลาวา ปะทุออกมาด้วย ลาวานี้เป็นของเหลวหนืด ซึ่งมีอุณหภูมิสูง โดยลาวาที่มีสีเหลืองสว่างจะยิ่งร้อนมาก อุณหภูมิอาจสูงได้มากกว่า 1,000 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ส่วนลาวาที่มีสีส้ม มีอุณหภูมิสูงรองลงมา คือ 800-900 องศาเซลเซียส และลาวาที่มีสีแดงเข้มหรือแดงเลือดหมู จะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 600-700 องศาเซลเซียส ได้ฟังแบบนี้แล้วก็ไม่อยากจะคิดเลยว่าหากเราสัมผัสกับลาวา คงจะหลอมละลายลงในทันที แต่โชคดีที่ลาวามีความหนืด และมีอัตราการไหลที่ค่อนข้างช้า ทำให้เราสามารถคาดคะเนถึงทิศทางของลาวาและหนีมันได้ทัน นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังมีวิธีพยากรณ์การเกิดภูเขาไฟระเบิดเพื่อให้เตรียมตัวอพยพผู้คนได้ทันด้วย แต่สิ่งที่อันตรายกว่าก็คือก๊าซพิษอย่างคาร์บอนไดออกไซด์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มากับลาวานั่นเอง
ลาวามีหลายประเภท แบ่งตามลักษณะได้ดังนี้
1. ปาโฮอีโฮอี (Pahoehoe lava flow) เป็นลาวาที่มีลักษณะผิวเรียบและต่อเนื่องกันเป็นสายสวยงาม มีแร่ซิลิกา (Silica) ผสมอยู่น้อยจึงมีอัตราการไหลต่ำ การเคลื่อนที่ช้า แต่ลาวาประเภทนี้มีอุณหูมิสูง
2. อาอา (Aa lava flow) มีอัตราการไหลเร็วกว่า Pahoehoe lava ถึง 10 เท่า และจากการที่มีอัตราการไหลที่เร็วกว่านี้ ทำให้เนื้อของลาวาแตกละเอียด ผิวของมันจึงมีความขรุขระต่างจาก Pahoehoe lava นอกจากนี้ Pahoehoe lava อาจกลายเป็น Aa lava ได้หากมันมีความเร็วการไหลที่เพิ่มขึ้น จนทำให้เนื้อลาวามีเศษชิ้นส่วนของหินที่แตกหัก แต่ Aa lava จะไม่สามารถกลับไปเป็น Pahoehoe lava ได้ ทั้งนี้ลาวา Pahoehoe lava และ Aa lava ที่แข็งตัวแล้ว สามารถพบได้บนหมู่เกาะฮาวาย
3. บล็อกกี้ (Blocky lava flow) มีส่วนผสมของ silica มากกว่า 55% ประกอบด้วยเศษหินทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่กว่า Aa lava และเศษหินที่ว่านี้มีพื้นผิวที่เรียบกว่า ตัวอย่างของลาวาชนิดนี้อยู่ที่ Nea Kameni Island ใน caldera of Santorini ประเทศกรีซ
4. พิลโล (pillow lava flow) โดยทั่วไป ลาวาชนิดนี้จะเป็นหินบะซอลต์และจะมีน้ำรวมอยู่ด้วย ขนาดของหินจากลาวาชนิดนี้มีขนาดใหญ่และรูปร่างคล้ายหมอน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ภูเขาไฟ ลาวา และความอุดมสมบูรณ์