ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความรู้ของชาวบ้าน ซึ่งเรียนรู้มาจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง หรือผู้มีความรู้ในหมู่บ้าน ในท้องถิ่นต่างๆ
ความรู้เหล่านี้สอนให้เด็กเคารพผู้ใหญ่ มีความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ และผู้มีพระคุณ มีความเอื้ออาทรต่อคนอื่น รู้จักช่วยเหลือแบ่งปันข้าวของของตนให้แก่ผู้อื่น
ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญา เป็นความรู้ที่มีคุณธรรม สอนให้คนเป็นคนดี สอนให้คนเคารพธรรมชาติ รู้จักพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ โดยไม่ทำลาย ให้เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และคนที่ล่วงลับไปแล้ว
ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นความรู้เรื่องการทำมาหากิน เช่น การจับปลา การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การทอผ้า ทอเสื่อ การสานตระกร้า และเครื่องใช้ด้วยไม้ไผ่ ด้วยหวาย การทำเครื่องปั้นดินเผา การทำเครื่องมือทางการเกษตร
นอกจากนั้น ยังมีศิลปะดนตรี การฟ้อนรำ และการละเล่นต่างๆ การรักษาโรคด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใช้ยาสมุนไพร การนวด เป็นต้น
ภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นความรู้ความสามารถที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ และถ่ายทอดมาให้เรา มีวิธีการหลายอย่างที่ทำให้ความรู้เหล่านี้ เกิดประโยชน์แก่สังคมปัจจุบันด้วย คือ
การอนุรักษ์ คือ การบำรุงรักษาสิ่งที่ดีงามไว้
การฟื้นฟู คือ การรื้อฟื้นสิ่งที่ดีงามที่หายไป เลิกไป หรือกำลังจะเลิก ให้กลับมาเป็นประโยชน์ เช่น การรื้อฟื้นดนตรีไทย
การประยุกต์ คือ การปรับ หรือการผสมผสานความรู้เก่ากับ ความรู้ใหม่เข้าด้วยกัน ให้เหมาะสมกับสมัยใหม่ เช่น การใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาล ประสานกับการรักษาสมัยใหม่ การทำพิธีบวชต้นไม้ เพื่อให้คนร่วมมือกันอนุรักษ์ป่า
ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความรู้ของชาวบ้าน ที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์ และความเฉลียวฉลาด ของแต่ละคน ซึ่งได้เรียนรู้มาจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง และผู้มีความรู้ในชุมชน
ความรู้เหล่านี้เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เป็นแนวทาง หลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ความสัมพันธ์กับคนอื่น ความสัมพันธ์กับผู้ล่วงลับไปแล้ว กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และกับธรรมชาติ
ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นความรู้ที่มีคุณธรรม สอนให้คนเคารพผู้อื่น เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เคารพธรรมชาติ พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ โดยไม่ทำลาย
ความเชื่อเรื่องผี มีความหมายถึง กฎเกณฑ์ที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดมา การละเมิดกฎเกณฑ์นั้นจึงเรียกว่า ผิดผี ต้องมีการขอขมา และมีการลงโทษ โดยคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ เป็นผู้แนะนำ และดำเนินการ เช่น ประเพณีสอนให้คนหนุ่มสาว ที่ยังไม่แต่งงาน ไม่ให้ถูกเนื้อต้องตัวกัน เป็นการป้องกันมิให้กระทำเกินกว่าสมควร ถ้าหากใครทำผิด ก็เรียกว่า ผิดผี ต้องมีการ "เสียผี" คือ มี การชดใช้การกระทำผิดนั้น
ภูมิปัญญาชาวบ้านยังมีเรื่องประเพณีต่างๆ ซึ่งทำให้ชุมชนร่วมใจกันทำกิจกรรม ที่เป็นการรื้อฟื้นแนวทางในการดำเนินชีวิต เช่น งานบุญ ตามเทศกาล งานพิธีการเกิด การสู่ขวัญ การแต่งงาน และงานศพ เป็นต้น
ความรู้ในเรื่องการทำมาหากินมีอยู่มาก เช่น การทำนาทำไร่ การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การจับปลา จับสัตว์ การทำเครื่องมือทางการเกษตร การทำเครื่องใช้ การจักสานด้วยไม้ไผ่หรือด้วยหวาย การทอผ้า ทั้งผ้าฝ้าย และผ้าไหม ซึ่งมีลวดลายที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ และความคิดของชาวบ้าน การทำเครื่องปั้นดินเผา การแกะสลักไม้และหิน ซึ่งจะพบเห็นได้จากโบราณสถาน และในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ
นอกจากนั้น ยังมีการรักษาโรคแบบพื้นบ้าน จะด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ การใช้สมุนไพร การนวด และวิธีการอื่นๆ
ภูมิปัญญาชาวบ้านยังมีอยู่ในหมู่บ้านในชนบท แม้ว่าบางส่วนจะหายไป เลิกไป หรือถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น หลายแห่งมีวิธีการใช้ความรู้เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งมีวิธีการต่างๆ ที่ใช้ คือ
การอนุรักษ์
คือ การรักษาความรู้ที่ดีงาม เช่น ประเพณีต่างๆ หัตถกรรม และคุณค่า หรือการปฏิบัติตน เพื่อความสัมพันธ์อันดีกับคนและสิ่งแวดล้อม
การฟื้นฟู
คือ การรื้อฟื้นความรู้ที่ดีงามต่างๆ ที่สูญหายไป เลิกไป หรือเปลี่ยนไป ให้กลับมา เพื่อยังประโยชน์ให้ผู้คนสมัยนี้ เช่น การฟื้นฟูดนตรีไทย การฟื้นการเกษตรผสมผสาน ซึ่งปู่ย่าตายายเคยทำมาก่อน การฟื้นประเพณีการผูกเสี่ยว หรือการผูกมิตรในภาคอีสาน เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน หรือชาวบ้านกับข้าราชการ
การประยุกต์
คือ การปรับความรู้เก่ากับความรู้ใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสังคม ที่เปลี่ยนไป เช่น การประยุกต์การบวช มาเป็นการบวชต้นไม้ เพื่อให้เกิดสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาป่ามากยิ่งขึ้น การประยุกต์ประเพณีการทำบุญข้าวเปลือกที่วัด มาเป็นการสร้างธนาคารข้าว เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน การประยุกต์ดนตรีไทยกับดนตรีสมัยใหม่ หรือการร้องรำต่างๆ
การสร้างใหม่
คือ การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่สัมพันธ์กับความรู้ดั้งเดิม เช่น การประดิษฐ์โปงลาง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งในภาคอีสาน มีลักษณะคล้ายกับระนาด แต่แตกต่างทั้งรูปแบบและเสียง การคิดโครงการพัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยอาศัยคุณค่าความเอื้ออาทร ที่ชาวบ้านเคยมีต่อกัน มาหารูปแบบใหม่ เช่น การสร้างธนาคารข้าว ธนาคารโคกระบือ การรวมกลุ่มแม่บ้าน เยาวชน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น