เครื่องแยกเม็ดเลือดที่ใช้ในการให้เลือดแก่ผู้ป่วย
การรักษาโรคด้วยการถ่ายเลือดให้แก่ผู้ป่วย เป็นวิธีการที่มีประโยชน์มาก แต่เนื่องจากเลือดมีส่วนประกอบหลายอย่าง อันได้แก่ น้ำเลือด (พลาสมา) เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีในด้านการถ่ายเลือด เพื่อการรักษาโรค ได้ก้าวหน้าไปมาก โดยที่สามารถเลือกได้ว่าจะนำส่วนประกอบใด ของเลือดจากผู้บริจาคเลือดออกมาใช้ประโยชน์ และคืนส่วนที่ไม่ต้องการใช้กลับเข้าไปในตัวผู้ บริจาคเลือดได ้ทางด้านผู้ป่วยที่ต้องการได้รับ เลือดนั้น ก็สามารถให้ส่วนประกอบของเลือดที่ จำเป็นที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยได้ ทั้งนี้จะทำให้ การรักษาโรคได้ผลดียิ่งขึ้น
หลักการของเครื่องแยกเม็ดเลือด
เครื่องแยกเม็ดเลือดทำงานโดยอาศัยหลักการที่ว่า เมื่อนำเลือดใส่ในภาชนะ และทำการหมุนเหวี่ยง จะทำให้ส่วนประกอบต่างๆ ของเลือดแยกจากกัน ทั้งนี้อาศัยที่ส่วนประกอบต่างๆ นั้น มีความหนาแน่นไม่เท่ากัน จึงสามารถแยกเป็นส่วนๆ ได้
เครื่องแยกเม็ดเลือดที่ใช้กันในปัจจุบันนี้มี ๒ ประเภท คือ
(๑) เครื่องแยกเม็ดเลือดที่ทำงานเป็นช่วงๆ
(Intermittent or discontinuous flow blood cell separator)
เครื่องประเภทนี้ปล่อยให้เลือดไหลเข้าไปในภาชนะที่มีรูปคล้ายระฆังจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นจึงหมุนเหวี่ยงภาชนะดังกล่าว จะทำให้ส่วนประกอบของเลือดแยกออกเป็นส่วนๆ จึงสามารถดูดออกไป เพื่อใช้ประโยชน์ได้เป็นส่วนๆ คือ เม็ดเลือดแดงอยู่ชั้นนอกสุด ถัดเข้ามาคือ เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ตามลำดับ ส่วนพลาสมา นั้นอยู่ชั้นในสุด อย่างไรก็ดี วิธีนี้ใช้เวลามาก และต้องเปลืองเลือดจำนวนค่อนข้างมากเพื่อบรรจุ ในภาชนะที่หมุนเหวี่ยง
(๒) เครื่องแยกเม็ดเลือดที่ทำงานตลอดเวลา
(Continuous flow blood cell separator)
เครื่องประเภทนี้ปล่อยให้เลือดไหลเข้าไป ในภาชนะที่ทำการหมุนเหวี่ยงอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน ก็ทำการดูดส่วนประกอบของเลือด เพื่อนำออกไปใช้งาน โดยใช้ท่อแยกกัน ซึ่ง เป็นท่อสำหรับดูดเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และพลาสมา วิธีนี้เปลืองเลือดน้อย เพื่อบรรจุในภาชนะที่หมุนเหวี่ยง ในขณะ เดียวกันก็สามารถส่งเลือดเข้าไปในเครื่องและดูด ส่วนประกอบของเลือดออกจากเครื่องได้ตลอดเวลา