Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เครื่องโมนิเตอร์ผู้ป่วย

Posted By Plookpedia | 02 ส.ค. 60
1,783 Views

  Favorite
เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อวินิจฉัยโรคของสมองบางชนิด
หน้าปัดของเครื่องโมนิเตอร์ชนิดหนึ่งที่ตรวจวัดการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด

 

เครื่องโมนิเตอร์ผู้ป่วย 

ก. หลักทั่วไป

เครื่องโมนิเตอร์ผู้ป่วยเป็นเครื่องที่ใช้กันมากในหอผู้ป่วยหนัก และในห้องผ่าตัด ทั้งนี้เพื่อใช้ในการตรวจวัดข้อมูลทางสรีรวิทยาของตัวผู้ป่วย อาจตรวจวัดตลอดเวลา หรือตรวจวัดเป็นครั้งคราว ทั้งนี้เพื่อติดตามข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากโรค ทำให้สามารถทราบได้ว่า โรคที่เป็นอยู่นั้น เปลี่ยนแปลงไปในทางเป็นมากขึ้น จะได้บำบัดรักษาทันท่วงที อีกทั้งยังใช้ในการติดตามผลการรักษาอีกด้วย 

เครื่องโมนิเตอร์ผู้ป่วยในปัจจุบันนี้อาศัยการทำงานของระบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบคอมพิวเตอร์ เครื่องโมนิเตอร์ถือได้ว่า เป็นระบบของเครื่องที่ใช้ในการบันทึกข้อมูล (recording system) จากผู้ป่วย 

โดยทั่วไประบบนี้แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ 
ข้อมูลหรือสัญญาณจากผู้ป่วย (signal) 
หน่วยตรวจรับ (detector) 
แอมปลิไฟเออร์ (amplifier) 
หน่วยแสดงและหน่วยบันทึก (display & recorder)
ข้อมูลหรือสัญญาณจากตัวผู้ป่วยนั้น อาจแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นสัญญาณไฟฟ้า เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram : ECG) หรือคลื่นไฟฟ้าสมอง (electroencephalogram : EEG) ก็สามารถใช้อิเล็กโทรด ตรวจรับไฟฟ้าได้ ส่วนข้อมูล หรือสัญญาณในกลุ่มที่ไม่ได้เป็นไฟฟ้า แต่อาจเป็นพลังงานอื่น เช่น ความดันเลือด อุณหภูมิกายอัตราการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น ก็สามารถใช้ตัวตรวจรับที่เป็นทรานสดิวเซอร์ (transducer) เพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนข้อมูลที่เป็นพลังงานชนิดอื่น ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าเสียก่อน แล้วจึงสามารถนำไปขยายและปรับปรุงในแอมปลิไฟเออร์ได้

การทำงานของระบบบันทึกมีดังนี้ จะยกตัวอย่างระบบบันทึกที่ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (อี.ซี.จี) เมื่อนำแผ่นอิเล็กโทรดไปวางบนผิวหนัง ที่บริเวณแขน ขา หรือลำตัวของผู้ป่วย ก็จะสามารถรับไฟฟ้าที่เกิดจากการทำงานของหัวใจ ซึ่งเคลื่อนที่มาตามเนื้อเยื่อของร่างกาย ไหลผ่าน ผิวหนังออกมาสู่อิเล็กโทรด ไฟฟ้าดังกล่าวเมื่อถึง อิเล็กโทรดจะมีค่าเฉลี่ยประมาณ ๑ มิลลิโวลต์ ดังนั้น จึงต้องส่งไปขยายในระบบแอมปลิไฟเออร์ เพื่อขยายไฟฟ้าให้มีศักย์ไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้า เพิ่มมากขึ้น จนได้พลังงานไฟฟ้ามากพอที่จะทำ การแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือบันทึกคลื่นไฟฟ้า ไว้ถาวรได้ การแสดงและบันทึกคลื่นไฟฟ้า ดังกล่าวนี้มักใช้การเขียนด้วยปากกาซึ่งเขียนโดย การทำงานของกัลวานอมิเตอร์ นอกจากนั้นยังสามารถเก็บบันทึกคลื่นไฟฟ้าไว้ในเครื่องเทปแม่เหล็ก หรือในคอมพิวเตอร์ เพื่อการวิเคราะห์โดยละเอียดต่อไป หรือเพื่อนำกลับมาแสดงใหม่ เมื่อต้องการ

ในกลุ่มที่ข้อมูลไม่ได้เป็นไฟฟ้า สามารถใช้ทรานสดิวเซอร์เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ เช่น ในการตรวจวัดความดันเลือดแดงนั้น สามารถใช้ตรวจวัดด้วยทรานสดิวเซอร์ ที่ใช้กันมาก คือ ทรานสดิวเซอร์ซึ่งสร้างมาจากเส้นลวด หรือสารกึ่งตัวนำ เมื่อได้รับความดันของเลือด ก็จะทำให้ความยาวเปลี่ยนไป จึงทำให้รีซิสแทนซ์เปลี่ยนไป เมื่อนำไปต่อเข้ากับวงจรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะสามารถเปลี่ยนค่าความดันเลือดให้เป็นค่าของ ศักย์ไฟฟ้าได้

ข. เครื่องโมนิเตอร์ข้างเตียงและเครื่องโมนิเตอร์ที่มีระบบสถานีกลาง

เครื่องโมนิเตอร์ข้างเตียงผู้ป่วย 

มีเครื่องตรวจวัดต่างๆ วางอยู่ข้างเตียงผู้ป่วย สำหรับโมนิเตอร์ผู้ป่วยแต่ละเตียง โดยทั่วไปเครื่องโมนิเตอร์ยังแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ เครื่องโมนิเตอร์ข้อมูลพื้นฐาน และเครื่องโมนิเตอร์ข้อมูลพิเศษ เครื่องโมนิเตอร์ข้อมูลพื้นฐานนั้น ใช้โมนิเตอร์ข้อมูลที่บ่งถึงการมีชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งได้แก่ อัตราเต้นของหัวใจ คลื่น อี.ซี.จี. และอัตราการหายใจ อาจรวมทั้งความดันเลือดแดงด้วย ส่วนเครื่องโมนิเตอร์ข้อมูลพิเศษนั้น เป็นเครื่องโมนิเตอร์เฉพาะโรคของผู้ป่วย เช่น เครื่องโมนิเตอร์คลื่นไฟฟ้าสมอง และเครื่องโมนิเตอร์ความดันในกะโหลกศีรษะ เป็นต้น 

เครื่องโมนิเตอร์ที่มีสถานีกลาง 

ระบบนี้มีสถานีกลาง ซึ่งประกอบด้วยเครื่องตรวจวัดต่างๆ สามารถตรวจวัดข้อมูลจากผู้ป่วยหลายคน เช่น ๔-๘ คน โดยมีเครื่องตรวจวัดเพียงบางส่วน ตั้งอยู่ข้างเตียงผู้ป่วย แล้วเลือกส่งข้อมูลจากตัวผู้ป่วย เพื่อเข้าไปแสดงที่สถานีกลาง โดยอาจแสดงบนจอภาพขนาดใหญ่ และที่สถานีกลางนี้ สามารถเลือกข้อมูลเก็บบันทึกไว้ เพื่อวิเคราะห์ หรือตรวจดูในภายหลังได้ การส่งข้อมูลจากตัวผู้ป่วยไปยังสถานีกลางนั้น อาจใช้วิธีต่อสายไฟฟ้าโดยตรง แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือ มีสายเกะกะ และอาจทำความรำคาญให้แก่ตัวผู้ป่วยได้ ดังนั้น จึงมีระบบการส่งข้อมูลจากตัวผู้ป่วยไปยังสถานีกลางอีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้การส่งข้อมูลด้วยระบบรับส่งวิทยุ ทำให้ไม่ต้องใช้สายต่อ แต่วิธีนี้ต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่า 

การโมนิเตอร์ด้วยระบบสถานีกลางนี้มีประโยชน์มาก เพราะทำให้ผู้ดูแลผู้ป่วย คือ แพทย์และพยาบาลสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรคได้ที่สถานีกลาง สำหรับการทำงานของระบบโมนิเตอร์ผู้ป่วย ทั้งระบบข้างเตียง และระบบที่มีสถานีกลาง มักมีระบบสัญญาณเตือนร่วมอยู่ด้วย คือ สามารถปรับตั้งเครื่องโมนิเตอร์ไว้ เมื่อข้อมูลจากตัวผู้ป่วยมีค่าผิดไปจากข้อมูลที่ต้องการ ก็จะทำให้เครื่องส่งสัญญาณเตือนทั้งเสียงและแสง ตัวอย่างเช่น เมื่ออัตราเต้นของหัวใจผู้ป่วยเร็วไป หรือช้าไปกว่าที่ได้ปรับตั้งเอาไว้ เป็นต้น

ค. ระบบเครื่องโมนิเตอร์ที่ทันสมัย 

เครื่องโมนิเตอร์ในปัจจุบันนี้ อาศัยเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์มาช่วย ทำให้ขอบเขตการทำงานของเครื่องโมนิเตอร์เพิ่มมากขึ้น เครื่องโมนิเตอร์เก็บข้อมูลที่จำเป็นเอาไว้ เพื่อนำออกมาตรวจดูเมื่อต้องการ นอกจากนั้นยังอาศัยระบบคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ได้ละเอียดขึ้น จนสามารถแสดงให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบได้รวดเร็ว อีกทั้งสามารถแสดงแนวโน้มของข้อมูล ที่จะเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคตอันใกล้ เป็นต้น ดังนั้น จึงทำให้แพทย์สามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว และถูกต้องในการบำบัด และรักษาโรค

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow