มัสยิดในประเทศไทย
เนื่องจากมัสยิดมักสร้างในชุมชนที่มีมุสลิมอยู่อาศัย ดังนั้นการสร้างมัสยิดในประเทศไทยจึงต้องเกี่ยวข้องกับมุสลิม ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
มุสลิมในประเทศไทย
มีหลักฐานที่แสดงว่า ประเทศไทยหรือสยามได้มีการติดต่อกับประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในเวลานั้นชาวพื้นเมืองภาคใต้ได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานของงานศิลปะ หรือสถาปัตยกรรม ในประเทศสยาม ที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมอิสลาม ต่อมาสมัยอยุธยามีการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรเปอร์เซียอย่างต่อเนื่อง จึงมีชาวเปอร์เซียเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เพื่อทำการค้าและรับราชการในกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับราชวงศ์ “ซอฟาวียะฮ์” ที่ทรงอิทธิพลและเป็นศูนย์กลางทางด้านการค้าในระดับนานาชาติ พระองค์ทรงให้การสนับสนุนขุนนางเปอร์เซีย ในการปฏิบัติราชการที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก
เมื่อย้ายราชธานีมาที่กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ มีกรุงเทพฯ เป็นนครหลวง ซึ่งเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค ที่ดึงดูดมุสลิม จากหลายเชื้อชาติ ให้เดินทางเข้ามาในแต่ละช่วงเวลา ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ทางราชการได้เปิดโอกาสให้มุสลิมกลุ่มต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีมุสลิมตั้งถิ่นฐานอยู่หลายชุมชน เช่น ชุมชนนักรบ ที่มัสยิดบ้านครัว ชุมชนช่างฝีมือที่มัสยิดจักรพงษ์ ชุมชนช่างทองที่มัสยิดตึกดิน ชุมชนเกษตรกรรมที่มัสยิดทรายกองดิน ในขณะที่ทางภาคเหนือมีมุสลิมเชื้อสายปากีสถาน อินเดีย และจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนทางภาคใต้นั้น เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายูที่อาศัยมาแต่ดั้งเดิม
ความสำคัญของมัสยิดในประเทศไทย
ในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ มุสลิมในประเทศไทย หรือที่ชาวไทยเรียกว่า แขก นั้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของพระยาจุฬาราชมนตรี โดยผ่านทางอิหม่ามหรือผู้นำของแต่ละชุมชนซึ่งมีมัสยิดเป็นศาสนสถานที่สำคัญ ทางราชการให้สิทธิชุมชนมุสลิมดำเนินกิจกรรมตามหลักคำสอน และความเชื่อ ของศาสนาอิสลาม ในระยะแรก ชาวไทยมุสลิมมักรวมตัวกันในแต่ละกลุ่มชนชาติของตน เพื่อความสะดวกในการประกอบศาสนกิจตามหลักคำสอนของศาสนา โดยรวมตัวกันละหมาดในบ้านหลังใดหลังหนึ่ง เมื่อชุมชนมีความมั่นคงมากขึ้นก็จะสร้างมัสยิดสำหรับละหมาดร่วมกัน และเป็นศูนย์กลางของชุมชนในด้านต่างๆ เช่น ที่ประชุมของหมู่บ้าน สอนศาสนา ช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งงานบุญที่จัดขึ้น ในโอกาสต่างๆ ด้วย มัสยิดจึงเป็นศูนย์กลางของชุมชนมุสลิมในประเทศไทย ที่อยู่ร่วมกับชาวพื้นเมือง ที่นับถือศาสนาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยทั่วไปชาวไทยรู้จักมัสยิดในนามของ กุฎี สุเหร่า อิหม่ามบารา และ บาแล โดยเฉพาะคำว่า “กุฎี” ที่เรียกตามมุสลิมท้องถิ่น และมุสลิมนิกายชีอะฮ์เชื้อสายเปอร์เซีย ซึ่งเป็นกลุ่มขุนนางที่มีบทบาทสำคัญในราชสำนักสยาม เกี่ยวกับการดูแลด้านการค้า รวมถึงการกำกับดูแลมุสลิมเชื้อสายต่างๆ ทั้งในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว มีการสร้างมัสยิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังปรากฏในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔๓ มีความว่า
“พวกแขกมะหะหมัด ซึ่งในประเทศอินเดียเรียกกันว่า พวกแขกมัวร์นั้น ก็คงจะมาตั้งทำมาค้าขายในเมืองสงขลาอย่างพวกจีนเหมือนกัน ถ้าพวกแขกมะหะหมัดได้มาที่สงขลาแล้ว ในขั้นแรกก็คงจะขอสร้างวัดและสร้างสุเหร่าขึ้นก่อน”
มุสลิมในชุมชนต่างๆ ได้ร่วมกิจกรรมและติดต่อช่วยเหลือกันตามแนวคิด “อิควะฮ์” หรือ “ความเป็นพี่น้องในหมู่ผู้ร่วมศรัทธา หรือประชาชาติอิสลาม” ตามที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน การสร้างมัสยิดในประเทศไทยจึงเป็นศูนย์กลาง ของเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดีดังกล่าว โดยมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางทางด้านศาสนาและสังคม เช่นเดียวกับมัสยิดของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.)และมัสยิดตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก แต่ไม่ได้แยกประเภทตามขนาด ของการใช้งาน ดังเช่นมัสยิดในต่างประเทศ โดยทั่วไปมักรวมเอากิจกรรมในระดับต่างๆ ไว้ในมัสยิดชุมชน ตามลักษณะของกิจกรรมที่เกิดขึ้น ในแต่ละช่วงเวลา ได้แก่
ลักษณะการใช้งานมัสยิดจะมีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนตามความจำเป็น เช่น ในการละหมาดประจำวัน อาจใช้พื้นที่บางส่วน ของโถงละหมาด แต่ในวันศุกร์มีผู้ละหมาดเพิ่มขึ้น อาจใช้พื้นที่เต็มโถงละหมาด และอาจขยายออกมาบริเวณโถงอเนกประสงค์ หรือระเบียงโดยรอบ รวมทั้งการละหมาดในโอกาสสำคัญ เช่น ในวันอีดิลฟิตริ์ อาจขยายการใช้งานออกมาสู่ลานอเนกประสงค์ ภายนอกมัสยิด
พัฒนาการของมัสยิดในประเทศไทย
ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มัสยิดสร้างขึ้นในรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของสยาม เนื่องจาก ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากสยามมากกว่าประเทศมุสลิม ส่วนมัสยิดทางภาคใต้ได้รับอิทธิพล มาจากสถาปัตยกรรมมลายู ในกรุงเทพฯ โดยทั่วไปชาวบ้านมักสร้างมัสยิดในรูปแบบทางสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ได้แก่ เรือนไทย ศาลาการเปรียญ ในขณะที่ชุมชนที่มีขุนนาง หรือข้าราชการระดับสูงจะนำรูปแบบของวัดและวังมาปรับใช้ในการสร้าง ทั้งนี้รูปแบบเหล่านั้น จะต้องไม่ขัดกับหลักคำสอนทางศาสนา มัสยิดโดยทั่วไป จึงมีการวางผังให้สอดคล้องกับภูมิอากาศและวิถีชีวิต ของชาวกรุงเทพฯ มีเพียงกุฎีของขุนนางมุสลิมชีอะฮ์เชื้อสายเปอร์เซียเท่านั้น ที่สร้างขึ้น โดยได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของเปอร์เซีย
หลังจากสมัยรัชกาลที่ ๕ มุสลิมเชื้อชาติต่างๆ ได้นำเอารูปแบบทางสถาปัตยกรรมอิสลาม จากชนชาติของตน มาใช้ในการสร้างมัสยิด ต่อมาได้มีการรับเอารูปแบบ ของสถาปัตยกรรมยุโรป ซึ่งมีลักษณะบางอย่างใกล้เคียงกับสถาปัตยกรรมอิสลาม มาปรับใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๖ รูปแบบของมัสยิดมีความเรียบง่ายมากขึ้น ตามความต้องการของสังคม ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๗ ถึงรัชกาลที่ ๘ นอกจากนี้ ยังมีการนำรูปแบบทางสถาปัตยกรรม จากอาณาจักรมุสลิมทั้ง ๓ อาณาจักรใหญ่ มาใช้ โดยได้รับอิทธิพลผ่านทางมุสลิมเชื้อสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ ดังเช่น ชาวเปอร์เซียสร้างมัสยิดผดุงธรรมอิสลาม โดยได้รับแรงบันดาลใจ จากมัสยิดในอาณาจักรซอฟาวียะฮ์ ชาวอินเดียได้นำช่างมาจากประเทศอินเดีย เพื่อสร้างมัสยิดตึกแดง ซึ่งถือเป็นการสืบทอดรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ถูกต้อง ตามแบบอย่างในสมัยโมกุล ส่วนชาวมุสลิมเชื้อสายอื่นๆ มักสร้างมัสยิด โดยอิงกับองค์ประกอบจากมัสยิดในสมัยออตโตมัน เช่น การสร้างหออะซาน ของมัสยิดดารุลอาบิดีน ที่ตรอกจันทน์ กรุงเทพฯ
ปัจจุบันมัสยิดในประเทศไทยสร้างขึ้นให้สอดคล้องกับสภาพเงื่อนไขท้องถิ่นของไทยที่จำเป็นในปัจจุบัน โดยได้รับแรงบันดาลใจ ทางด้านสถาปัตยกรรม จากมัสยิดสำคัญทั่วโลก เช่น มัสยิดอัลฮะรอมในนครมักกะฮ์ มัสยิดอัลนะบะวีย์ ในนครมะดีนะฮ์ มัสยิดสุลต่านซอลาฮุดดีนในประเทศมาเลเซีย เพื่อให้เกิดผลในเชิงสัญลักษณ์เตือนใจให้ชาวชุมชนมีความศรัทธา และปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา มัสยิดที่แสดงเอกลักษณ์ของความเป็นมุสลิมในประเทศไทย จึงมีที่มาของเหตุผล โดยไม่จำกัดว่า ต้องเป็นรูปแบบของชาติหนึ่งชาติใด และไม่มีขนาดใหญ่โตจนเกินจำเป็น แต่มีเอกลักษณ์ที่แสดงว่า ชุมชน และมัสยิด ต่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมด้วยความภาคภูมิใจ รูปแบบทางด้านสถาปัตยกรรมในแต่ละยุคสมัย จึงเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รับทราบเรื่องราวในอดีตอีกทางหนึ่ง
มารยาทในการใช้มัสยิด