Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เล่นเกมก็ช่วยพัฒนาสมองได้

Posted By sanomaru | 27 ก.ค. 60
10,123 Views

  Favorite

ตอนเด็กเรามักถูกสั่งห้ามเล่นเกม เพราะพ่อแม่เกรงว่าจะทำให้ติดเกม เสียการเรียน กลายเป็นเด็กเก็บตัว ใช้เวลาไปอย่างไร้ประโยชน์ แทนที่จะเอาเวลาไปอ่านหนังสือ พักผ่อน หรือออกกำลังกาย เกมจึงถูกมองว่าเป็นตัวร้ายตามท้องเรื่องนี้ แต่หลังจากมีงานวิจัยออกมาสนับสนุนว่าสมองมีการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจริงหลังจากเล่นกม ทำให้หลายคนต้องหันกลับมามองภาพลักษณ์ของเกมในมุมมองใหม่

 

จากงานวิจัยของ Simone Kuhn จาก Max Planck Institute for Human Development มีการแบ่งผู้เข้าร่วมวิจัยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้เล่นเกม Super Mario 64 เป็นเวลา 30 นาทีทุกวัน ตลอด 8 สัปดาห์ของการวิจัย ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งควบคุมไม่ให้มีการเล่นเกมระหว่างทำการวิจัยเลย จากนั้นจึงตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสมองของผู้เข้าร่วมวิจัยทุกคนด้วย MRI เช่นเดียวกับก่อนเริ่มทำการทดลอง ซึ่งผลเปรียบเทียบระหว่างผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งสองกลุ่ม พบว่า กลุ่มที่การเล่นเกม มีปริมาณของเนื้อสมองส่วนสีเทาใน  right hippocampal (เกี่ยวข้องกับความทรงจำระยะยาวและการกำหนดทิศทาง) right dorsolateral prefrontal cortex (เกี่ยวข้องกับการประมวลผลต่อเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น) และด้านข้างของซีรีเบลลัม (ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น มือ) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนกลุ่มควบคุมไม่มีการเพิ่มขึ้นของปริมาณดังกล่าว

ภาพ : Shutterstock

 

ทีมวิจัยยังเชื่อว่าการเล่นเกมจะช่วยรักษาภาวะบกพร่องทางอารมณ์ที่มาจากความผิดปกติของเนื้อสมองด้วย นอกจากนี้ความผิดปกติที่เกิดหลังจากมีความเครียดอย่างรุนแรง หรือตกอยู่ในสถานการณ์กดดัน เช่น ประสบภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ ถูกคุกคามทางเพศ ก็มีผลต่อ right hippocampal ด้วย ซึ่งการเล่นเกมที่ช่วยเพิ่มปริมาณเนื้อสมองในส่วนนี้จึงน่าจะเป็นตัวช่วยในการรักษาที่ดี

 

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งก็แสดงให้เห็นผลคล้ายคลึงกัน โดย C. Shawn Green จาก University of Wisconsin-Madison และ Aaron R. Seitz จาก University of California พวกเขาระบุว่าเกมแอคชั่นนั้นสัมพันธ์กันกับการพัฒนาทักษะ กระบวนการทำงานของสมอง และการรับรู้ ประเภทของเกมที่แตกต่างกันก็มีผลต่อการพัฒนาสมองแตกต่างกันด้วย แต่สำหรับเกมแอคชั่นที่ต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว มีการตัดสินใจอย่างฉับพลันและถูกต้องจะมีผลต่อการรับรู้ในทางบวกมากที่สุด แต่ Green และ Seitz ก็ยังชี้ให้เห็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ เกมไม่ได้ส่งผลต่อสมองหรือพัฒนาการรับรู้เท่านั้น แต่ยังส่งผลด้านพฤติกรรมทางสังคมด้วย โดยจะเป็นไปในทางบวกหรือลบก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเกม

 

ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นก็เปรียบเทียบระหว่างผู้เล่นเกม 31 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยที่ 25 ปี มีการเล่นเกมเป็นเวลา 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ยาวนานถึง 6 เดือน กับผู้ที่ไม่ได้เล่นเกม 29 คน พบว่าผู้ที่เล่นเกมมีเนื้อสมองส่วนสีเทาส่วนที่ช่วยในการควบคุมสมองมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เล่นเกม ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะทำให้ผู้ที่เล่นเกมมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่เล่นเกมยังมีปฏิกิริยาตอบสนองเร็วกว่าผู้ที่ไม่ได้เล่นเกมด้วย แต่ไม่มีความแตกต่างในเรื่องของความถูกต้องของการตอบสนองระหว่างสองกลุ่ม

 

งานวิจัยบางงานยังระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่การเล่นเกมจะช่วยรักษาอาการความจำเสื่อมของผู้สูงอายุ รวมถึงโรคจิตเภทและโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางการอ่านก็มีโอกาสอ่านหนังสือได้ดีขึ้นจากการเล่นเกม

 

อย่างไรก็ตาม การเล่นเกมที่จะเป็นประโยชน์ก็ต้องอยู่ในปริมาณการเล่นที่เหมาะสม เพราะหากเล่นเกมในช่วงเวลาที่ยาวนานเกินไป ผลทางบวกก็จะถูกลบล้างและกลายเป็นผลเสียแทนได้ และเรายังต้องคำนึงถึงการทำกิจกรรมอื่น ๆ อย่างการอ่านหนังสือ เข้าสังคม ปลูกต้นไม้ การออกกำลังกาย หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่น ๆ ที่อาจจะมีประโยชน์ต่อการรับรู้ การพัฒนาสมอง และสุขภาพกายด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมองได้เช่นกัน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow