คำว่า “มัสยิด” เป็นภาษาอาหรับ หมายถึง สถานที่สำหรับมุสลิมประกอบพิธี เพื่อแสดงความภักดีต่อพระเจ้า โดยหันหน้าไปยังมัสยิดอัลฮะรอม นครมักกะฮ์ (เมกกะ) ประเทศซาอุดีอาระเบีย
มุสลิม คือ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม มุสลิมในประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมาช้านาน และได้ผสมผสานหลักคำสอนของศาสนาอิสลามเข้ากับวัฒนธรรมของไทย โดยแสดงออกในงานศิลปะและสถาปัตยกรรม เช่น การแต่งกาย การทำอาหาร การสร้างมัสยิด
เด็กๆ อาจรู้จักหรือเคยเห็นกิจกรรมบางอย่างที่มุสลิมปฏิบัติในมัสยิด เช่น การละหมาด การละศีลอด (การรับประทานอาหาร เมื่อสิ้นสุดการถือศีลอดในแต่ละวัน) การบริจาคทานแก่คนยากไร้ การศึกษาคัมภีร์อัลกุรอาน การบรรยายศาสนธรรม นอกจากนี้ มุสลิมในประเทศไทยยังใช้มัสยิดเป็นที่พบปะญาติพี่น้องในหมู่บ้าน หรือจัดงานต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ผู้ที่จะเข้าไปในมัสยิดควรทำความสะอาดร่างกาย แต่งกายเรียบร้อย และเข้ามัสยิดด้วยอาการสำรวม
ปัจจุบันมัสยิดในประเทศไทยมีหลายแห่ง ทั้งที่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มัสยิดที่สำคัญในกรุงเทพฯ เช่น มัสยิดภายในศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ มัสยิดต้นสน มัสยิดหลวงอันซอริสซุนนะฮ์ ส่วนมัสยิดที่สำคัญในต่างจังหวัด เช่น มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน จังหวัดเพชรบุรี
มัสยิด เป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึง สถานที่สำหรับมุสลิมใช้ประกอบพิธี เพื่อแสดงความภักดีต่อพระเจ้า โดยหันหน้าไปยังมัสยิดอัลฮะรอม นครมักกะฮ์ (เมกกะ) ประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่ละมัสยิดจะมีอิหม่ามเป็นผู้นำ มัสยิดสำคัญ ๓ แห่งที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน และบันทึกอัลหะดีษ ได้แก่ มัสยิดอัลฮะรอม ที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มัสยิดอัลนะบะวีย์ ที่นครมะดีนะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และมัสยิดอัลอักซอ ที่กรุงเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล |
มุสลิมในประเทศไทย
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ประเทศไทยหรือสยาม มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตราบจนสมัยอยุธยา จากการติดต่อค้าขายกับมุสลิมจากประเทศต่างๆ เช่น ชาวเปอร์เซีย ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เพื่อทำการค้า และรับราชการ ในกรุงศรีอยุธยา และได้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก เมื่อย้ายราชธานีมาที่กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ มุสลิมจากหลายเชื้อชาติที่โยกย้ายเข้ามาด้วยนั้น ต่างก็มีส่วนในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล นอกจากนี้ในภาคเหนือก็มีมุสลิมเข้ามาตั้งถิ่นฐานหลายชุมชน ส่วนทางภาคใต้นั้น เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายู ที่อาศัยมาแต่ดั้งเดิม
ความสำคัญของมัสยิดในประเทศไทย
มัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชนมุสลิมในทุกภูมิภาค สำหรับในกรุงเทพฯ มุสลิมจะอยู่ร่วมกับคนกรุงเทพฯ ที่นับถือศาสนาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี คนกรุงเทพฯ และคนในภูมิภาคต่างๆ ยังรู้จักมัสยิดในนามของ กุฎี สุเหร่า อิหม่ามบารา และ บาแล
มุสลิมจะร่วมกันสร้างมัสยิดขึ้น สำหรับละหมาดร่วมกัน และเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมด้านต่างๆ ของชุมชน เช่น ประชุมหมู่บ้าน สอนศาสนา ช่วยเหลือผู้ประสบภัย จัดงานบุญในโอกาสต่างๆ และที่สำคัญคือ จัดกิจกรรมทางศาสนา ได้แก่
ผู้ที่จะเข้าไปในมัสยิดควรทำความสะอาดร่างกายแต่งกายเรียบร้อย สะอาด และควรขอดุอาอ์ (การวิงวอนขอพรต่อพระเจ้า) ก่อนเข้าและออกจากมัสยิด ขณะนั่งอยู่ภายในมัสยิด ควรอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวคำรำลึกต่อพระเจ้า หรือละหมาด ไม่ควรพูดคุยในเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์ และไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของมัสยิดในประเทศไทย
ในอดีต ชาวบ้านมักสร้างมัสยิดตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ได้แก่ เรือนไทย และศาลาการเปรียญ ในขณะที่ชุมชนที่มีขุนนาง หรือข้าราชการระดับสูง จะนำรูปแบบของวัดและวังมาปรับใช้ในการสร้าง แต่หลังจากสมัยรัชกาลที่ ๕ มุสลิมเชื้อชาติต่างๆ ที่เข้ามาในประเทศไทย ได้นำเอารูปแบบสถาปัตยกรรมอิสลามจากชนชาติของตน มาใช้ในการสร้างมัสยิด มัสยิดในประเทศไทยจึงมีลักษณะที่ผสมผสานสถาปัตยกรรม และศิลปกรรม ของหลายชาติเข้าด้วยกัน เราจึงพบเห็นมัสยิดที่มีอิทธิพล ของสถาปัตยกรรมไทย ชวา มลายู อินเดีย อาหรับ และเปอร์เซีย รวมถึงสถาปัตยกรรมยุโรปในที่หลายๆ แห่ง รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของมัสยิดในแต่ละยุคสมัย จึงเป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ ที่ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รับทราบเรื่องราวในอดีตอีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันในประเทศไทยมีมัสยิดหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มัสยิดที่สำคัญในกรุงเทพฯ ได้แก่ มัสยิดที่มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย มัสยิดในศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ มัสยิดกมาลุ้ลอิสลาม มัสยิดต้นสน และมัสยิดหลวงอันซอริสซุนนะฮ์ ส่วนมัสยิดที่สำคัญในต่างจังหวัด ได้แก่ มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี มัสยิดช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน จังหวัดเพชรบุรี และมัสยิดมูการ์ร่ม จังหวัดภูเก็ต