ผลกระทบของโรคสะเก็ดเงินที่มีต่อผู้ป่วยในด้านต่างๆ
โรคสะเก็ดเงินมีผลกระทบต่อสุขภาพกาย รวมถึงสภาพจิตใจ ทั้งของผู้ป่วยและครอบครัว ตลอดจนผลกระทบทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต ในมิติต่างๆ ดังต่อไปนี้
มิติทางกาย
เมื่อป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงิน ความรุนแรงของผื่นผิวหนังอักเสบจะเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยที่มากระทบ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินบางรายเกิดผื่นแดงเป็นขุย หรือสะเก็ดกระจายตามลำตัว แขน และขา ทำให้ภาพลักษณ์เสียไป บางรายเกิดผื่นแดงขึ้นทั่วตัว มีไข้หนาวสะท้าน ผิวลอกเป็นขุย ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าสังคมได้ บางรายมีปื้นหนาบนศีรษะ คันและต้องเกา เกิดสะเก็ดขาวหลุดลอกตกบนเสื้อผ้า ทำให้ไม่น่าดู บางรายมีอาการเป็นผื่นแดงลอกเป็นขุยที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ทำให้เดินไม่สะดวก หรือใช้มือทำงานไม่ได้ เนื่องจากผิวหนังที่มือหนาลอก แตกเป็นแผล ผู้ป่วยบางรายมีอาการไข้สูง เป็นตุ่มหนองกระจายทั่วตัวซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของโรคสะเก็ดเงินที่รุนแรง
มิติทางจิตใจ
ผื่นผิวหนังอักเสบที่เป็นๆ หายๆ กระจายอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ ของร่างกายมีผลกระทบต่อจิตใจของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางอารมณ์ ไม่สบายใจ ซึมเศร้า หดหู่ ไม่กล้าเข้าสังคม ขาดความมั่นใจในตัวเอง ว้าเหว่ อับอาย รู้สึกอึดอัด กลัวถูกรังเกียจ บางรายอาจมีความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง มิติทางจิตใจจะเป็นมากขึ้น ถ้าหากสามีภรรยาหรือบุตรธิดาไม่เข้าใจผู้ป่วย นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายยังอาจมีปัญหาในเรื่องเพศสัมพันธ์ด้วยก็ได้
มิติทางครอบครัว
เมื่อบุคคลในครอบครัวหรือในบ้านป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงิน ย่อมต้องมีผลกระทบต่อสามี ภรรยา หรือบุตร รวมทั้งญาติๆ ด้วย มิติทางครอบครัวจึงเป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง เพราะถ้าหากบุคคลในครอบครัวไม่เข้าใจ ไม่ให้ความช่วยเหลือ แสดงความรังเกียจ ผู้ป่วยจะได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างมาก ทำให้โรคของผู้ป่วยควบคุมได้ยากขึ้น ดังนั้นสามีภรรยา บุตรธิดาต้องหาความรู้เรื่องโรคสะเก็ดเงิน สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของโรคว่า ไม่ใช่โรคติดต่อ สามารถสัมผัสตัวผู้ป่วยได้ การแสดงท่าทีรังเกียจ แยกห้องนอน ไม่เข้าใกล้ ไม่ร่วมโต๊ะรับประทานอาหาร จะสร้างความกดดัน และเพิ่มความทุกข์ทางใจให้ผู้ป่วยได้
มิติทางสังคม การที่ผู้ป่วยต้องออกไปอยู่ในสังคม ไปโรงเรียน ไปทำงาน พบปะผู้คนเป็นจำนวนมาก ปฏิกิริยาของผู้คนในสังคมย่อมมีผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ หากผู้ป่วยถูกผู้อื่นแสดงอาการรังเกียจด้วยพฤติกรรมต่างๆ ย่อมก่อให้เกิดความน้อยใจ มีความทุกข์มากขึ้น ในประเด็นนี้ ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ตระหนักถึงความสำคัญของมิติทางสังคม จึงได้ดำเนินการจัดการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป เป็นประจำ ในทุกสื่อ รวมทั้งสื่อทางอินเทอร์เน็ต การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมและประชาชนจะช่วยลดความกดดัน หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในสังคมลงได้ส่วนหนึ่ง ในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินซึ่งมีจำนวนมากถึง ๕ ล้านคนได้รวมตัวกันตั้งเป็น "มูลนิธิโรคสะเก็ดเงินแห่งชาติ" (National Psoriasis Foundation) เพื่อหาทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยสำหรับการคิดค้นวิธีการรักษาโรคสะเก็ดเงิน รวมทั้ง การจัดกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจ และให้กำลังใจแก่กัน เป็นประจำทุกปี นับเป็นกรณีศึกษาที่น่ายึดถือเป็นตัวอย่าง |
|
มิติทางเศรษฐกิจ โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องให้การดูแลรักษาในระยะยาว ยาที่ใช้ในการรักษามีราคาแพงจึงมีผลกระทบต่อผู้ป่วย ญาติพี่น้อง สังคม และประเทศชาติโดยรวม ผลจากการศึกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ พบว่าค่าใช้จ่ายซึ่งรวมค่ายาและค่าแพทย์ของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินในทวีปยุโรป เท่ากับ ๑๖๐ เหรียญยูโรต่อคนต่อปี ส่วนในสหรัฐอเมริกาเท่ากับ ๘๐๐ เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรากับเงินยูโรในขณะนั้นเท่ากับ ๙๘๐ เหรียญยูโร ดังนั้นค่ารักษาพยาบาล ที่สหรัฐอเมริกาจึงสูงกว่าในประเทศทางยุโรปมาก นอกจากนี้ร้อยละ ๕๙ ของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินขั้นรุนแรง ยังต้องขาดงานอีก ๒๖ วันต่อปี ปัญหาทางการเงินจึงเป็นปัญหาใหญ่ ในการให้ยารักษาแก่ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน มิติทางคุณภาพชีวิต คุณภาพชีวิตเป็นมิติที่ได้รับความสนใจกันมากขึ้นเนื่องจากโรคสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาให้หายขาดด้วยยา วัตถุประสงค์ของการรักษาจึงมีเป้าหมาย ที่ทำให้ผื่นผิวหนังอักเสบมีความรุนแรงน้อยที่สุด และรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยน้อยที่สุด ดังที่กล่าวแล้วว่า โรคสะเก็ดเงินมีผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างกว้างขวาง ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจ ดังนั้นการวัดผลกระทบของโรคสะเก็ดเงินจึงต้องวัดกันหลายมิติ รวมทั้งมิติทางคุณภาพชีวิตด้วย ทั้งนี้ ได้มีการใช้เครื่องมือที่วัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินด้วยคำถาม ๑๐ ข้อ ที่เรียกว่า "ดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตทางด้านโรคผิวหนัง" (Dermatologic Life Quality Index) เป็นการประเมินผลกระทบของผื่นโรคสะเก็ดเงินที่มีต่ออาการทางผิวหนัง เช่น อาการคัน เจ็บ แสบ และที่มีต่อการดำเนินชีวิต การเข้าสังคม การพักผ่อน การออกกำลังกาย การเรียน การทำงาน ชีวิตครอบครัว ความสัมพันธ์ทางเพศ เครื่องมือนี้เป็นประโยชน์ ในการวัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ดีพอสมควร |