ลักษณะทางคลินิกของโรคสะเก็ดเงิน
ลักษณะทางคลินิกของโรคสะเก็ดเงิน หมายถึง อาการและอาการแสดงของโรคซึ่งปรากฏให้เห็นได้ที่อวัยวะสำคัญ ๓ ส่วน คือ
๑. ผิวหนัง ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า รวมทั้งฝ่ามือหรือฝ่าเท้า
๒. เล็บมือและเล็บเท้า
๓. ข้อส่วนปลายของร่างกาย เช่น ข้อมือ ข้อเท้า ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า ข้อส่วนกลาง อาทิ ข้อกระดูกสันหลัง
อาการผื่นผิวหนังอักเสบ
ผื่นผิวหนังอักเสบของโรคสะเก็ดเงินมีลักษณะสำคัญคือ เป็นปื้นหนา มีสะเก็ดสีขาวคล้ายสีเงิน เมื่อแกะเกาให้สะเก็ดหลุดออก จะพบจุดเลือดออกอยู่บนผื่นผิวหนังที่อักเสบแดง การแกะเกาทำให้ตุ่มหรือปื้นผิวหนังที่อักเสบขยายวงกว้างออก หรือทำให้เกิดตุ่มผิวหนังอักเสบใหม่ตามรอยเกา ซึ่งผื่นผิวหนังอักเสบนี้เกิดที่ตำแหน่งใดของผิวหนังก็ได้ ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแสดงแตกต่างกันได้อย่างมาก ตำแหน่งผิวหนังที่พบผื่นบ่อย ได้แก่ บริเวณผิวหนังที่มีการเสียดสี แกะเกา เช่น ศอก เข่า แขน ขา ก้นกบ คอ ศีรษะ ผื่นผิวหนังอักเสบสามารถแยกย่อยเป็นลักษณะต่างๆ ได้ดังนี้
๑) ตุ่มแดง ตามรูขน
๒) ปื้นแดงหนา เป็นวงกลม บริเวณศอก เข่า มือ ก้นกบ
๓) ผื่นแดงมีขุย ตามบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น หนังศีรษะ หลังหู หน้าผาก ร่องจมูก หน้าอก
๔) ตุ่มแดงขนาดเล็กกว่า ๑ เซนติเมตร กระจายไปทั่วตัวทั้งด้านหน้าและหลัง
๕) ผื่นแดงขนาด ๔ - ๕ เซนติเมตร กระจายตามแขน ขา
๖) ผื่นหรือปื้นแดง บริเวณข้อพับ และขาหนีบ
๗) ผื่นแดงเป็นวงแหวน หรือเป็นรูปร่างต่างๆ
๘) ผื่นหรือปื้นแดงหนา มีสะเก็ดสีขาวกระจายทั่วตัว
๙) ผื่นแดงลอกทั่วทั้งตัว
๑๐) ตุ่มหนองตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า
๑๑) ตุ่มหนองกระจายทั่วทั้งตัว ในกรณีนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง ปวดเมื่อย
๑๒) ผื่นแดงเป็นขุยที่เยื่อเมือก (mucosa) โดยตำแหน่งที่พบบ่อยอยู่ที่บริเวณอวัยวะเพศ
ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินแต่ละรายไม่จำเป็นต้องมีอาการเรียงตามลำดับจากน้อยไปหามาก ผู้ป่วยรายหนึ่งๆ อาจมีอาการผื่นผิวหนังอักเสบแบบหนึ่งมากกว่าแบบอื่น เช่น ผู้ป่วยบางรายมีตุ่มหรือปื้นผิวหนังอักเสบเฉพาะที่ศอก เข่า แขน ขา เพียง ๒ - ๓ แห่งเท่านั้น บางรายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณข้อพับ เช่น ขาหนีบ ร่องก้น ตุ่มหนองตามฝ่ามือฝ่าเท้า หรือเป็นตุ่มหนองเฉพาะที่ปลายนิ้วมือหรือนิ้วเท้า ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีผื่นผิวหนังอักเสบแดงทั่วตัว ผื่นแดงลอกเป็นสะเก็ด ทำให้ผู้ป่วยต้องเสียโปรตีนไปกับสะเก็ดผิวหนัง นอกจากนี้ยังสูญเสียความร้อนในร่างกาย หรือน้ำทางผิวหนังมากกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย หนาวสะท้าน ผู้ป่วยบางรายมีอาการรุนแรง เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เกิดตุ่มหนองกระจายทั่วตัว
ความผิดปกติของเล็บมือและเล็บเท้า
ความผิดปกติที่เล็บมือและเล็บเท้าของโรคสะเก็ดเงินพบได้ถึงร้อยละ ๕๐ และร้อยละ ๓๕ ตามลำดับ ลักษณะผิดปกติมีตั้งแต่ผิวของเล็บเป็นหลุมเล็กๆ จนถึงเล็บผิดรูปขรุขระทั้งเล็บ และอาจมีลักษณะผิดปกติอื่นๆ เช่น เล็บหนา มีขุยขาวใต้เล็บ เล็บล่อนจากพื้นเล็บ หรือเป็นวงแดงสีคล้ายเนื้อปลาแซลมอนอยู่ใต้เล็บ ซึ่งในวงการแพทย์เรียกว่า แซลมอนแพตช์ (salmon patch)
อาการข้ออักเสบ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินบางรายมีอาการปวดบวม แดง ร้อนที่ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่าร่วมด้วย อาการข้ออักเสบส่วนใหญ่มักเกิดภายหลังผื่นผิวหนังอักเสบที่เป็นมานานนับ ๑๐ ปี หรืออาการข้ออักเสบอาจเกิดพร้อมๆ กับผื่นผิวหนังอักเสบ หรือมีอาการทางข้ออักเสบนำมาก่อนก็ได้ ข้อที่เกิดการอักเสบบ่อย คือ ข้อนิ้วมือส่วนปลาย ข้อมือ ศอก เข่า ข้อสะโพก ข้อต่อของกระดูกสันหลัง ข้อกระดูกคอ เมื่อมีอาการอักเสบจะมีอาการบวมแดงร้อน หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดอาการพิการของข้อได้ |
|
สรุปได้ว่าหากผู้ป่วยมีอาการและอาการแสดงดังต่อไปนี้ ให้สงสัยว่าเป็นโรคสะเก็ดเงิน คือ ๑) ผื่นแดงหรือปื้นหนามีขุยสีขาวคล้ายสีเงิน ลักษณะสำคัญของผื่นที่อาจสงสัยว่า เป็นโรคสะเก็ดเงิน คือ เป็นผื่นแดง โดยขอบเขตของผื่นที่เป็นโรคจะแยกออกจากผิวหนังปกติที่อยู่ติดกันได้อย่างชัดเจน ผิวบนของผื่นมีสะเก็ดหรือขุยเป็นสีขาวคล้ายสีเงิน |
๒) ผื่นผิวหนังอักเสบแดงในตำแหน่งผิวหนังที่มีการเสียดสี และเป็นๆ หายๆ โดยอาจมีอาการคันหรือไม่มีอาการคันก็ได้ เมื่อแกะเกาเอาขุยหรือสะเก็ดออกจะเกิดจุดเลือดออกเล็กๆ บนผื่นผิวหนังอักเสบนั้น ผื่นผิวหนังอักเสบอาจหายไปได้เอง เมื่อปัจจัยกระตุ้นหมดไปหรือเมื่อทายารักษาเป็นครีมลดการอักเสบ เช่น สเตียรอยด์
๓) ปื้นแดงมีสะเก็ดสีขาวหนาที่ศีรษะโดยเป็นๆ หายๆ หรือไม่ค่อยหาย บางครั้งสะเก็ดอาจไม่หนามาก ทำให้คิดว่า เป็นรังแค
๔) เล็บผิดปกติ เช่น เป็นหลุมบนผิวเล็บ เป็นขุยใต้เล็บหลายๆ เล็บ หรือเป็นรอยขรุขระบนผิวเล็บ ความผิดปกติของเล็บ ถ้าเป็นน้อยอาจไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นโรคสะเก็ดเงินหรือไม่ แต่สันนิษฐานว่าอาจเป็นโรคสะเก็ดเงิน
๕) อาการปวดข้อ อาการปวดข้อในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินพบประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย นอกจากนี้อาจมีอาการปวดเอ็น และกล้ามเนื้อร่วมด้วยได้ ข้ออักเสบมักเกิดภายหลังเป็นผื่นผิวหนังอักเสบมานานนับสิบปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการปวดข้ออย่างค่อยเป็นค่อยไป มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเป็นในทันทีทันใด ข้อที่มีอาการอักเสบบ่อยคือ ข้อส่วนปลาย เช่น ข้อปลายนิ้วมือหรือนิ้วเท้า ส่วนข้อใหญ่ๆ ก็อาจเกิดการอักเสบได้ เช่น ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า สำหรับอาการปวดกระดูกสันหลังมักเกิดกับกระดูกสันหลังส่วนล่าง ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดเอ็น หรือมีการอักเสบของเอ็นที่ยึดติดกับกระดูก