Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคสะเก็ดเงิน

Posted By Plookpedia | 30 มี.ค. 60
5,133 Views

  Favorite

 

 

เมื่อได้ยินคำที่ลงท้ายว่า "เงิน" เรามักจะนึกถึงสิ่งที่สวยงาม และมีราคา อาจเป็นของใช้ เช่น ขันเงิน หรือเป็นเครื่องประดับ เช่น แหวนเงิน สร้อยเงิน แม้ราคาจะไม่สูงเท่า "ทอง" แต่เป็นสิ่งที่น่าใช้ น่าซื้อหา ยิ่งใช้รวมกับคำว่าทอง ก็หมายถึง ทรัพย์สมบัติที่มีค่า

แต่เมื่อเราได้ยินคำว่า สะเก็ดเงิน กลับมีความหมายไปอีกทางหนึ่ง เพราะเป็นอาการของโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นตามศีรษะ แขน ขา หรือลำตัว ทำให้คัน อยากจะเกา ยิ่งเกาก็ยิ่งเห่อเป็นปื้นแดงขนาดใหญ่ อีกทั้งบนปื้นแดงมีขุยขาวๆ คล้ายสีเงิน พอเกาหรือแกะเบาๆ ก็ลอกหลุดออกมา ตำแหน่งที่เกิดอาการนี้ มักเป็นบริเวณผิวหนัง ที่มีการเสียดสี เช่น ศอก เข่า หลังเท้า แขน ขา หรือศีรษะ โดยเป็นๆ หายๆ  สลับกันไปเรื่อยๆ บางรายที่อาการรุนแรงมาก จะเป็นผื่นแดงทั่วทั้งตัว แล้วก็ลอกออกเป็นขุย บางรายก็อักเสบเป็นตุ่มหนองกระจายอยู่ทั่วตัว

ถ้าเด็กๆ เห็นอาการเช่นนี้เกิดขึ้น ไม่ว่ากับตนเองหรือเพื่อน แม้แต่เป็นปื้นแดง ก็ต้องรีบบอกผู้ใหญ่ เพื่อจะได้ไปให้หมอตรวจ และรักษาได้ทันท่วงที แม้ว่าโรคนี้จะไม่ติดต่อกัน แต่ก็ทำให้เกิดความรำคาญได้

 

 

 

 

 

 

โรคสะเก็ดเงินในอดีตเรียกว่า โรคเรื้อนกวาง ซึ่งตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายของคำว่า โรคเรื้อนกวาง หรือขี้เรื้อนกวางว่า เป็นโรคผิวหนังที่ "มีลักษณะเป็นผื่นคัน ทำให้ผิวหนังหนา หยาบ และอาจแตกมีน้ำเหลืองไหล หรือตกสะเก็ดในระยะหลัง มักเป็นตามบริเวณข้อเท้า หัวเข่า หรือที่มือเอื้อมไปเกาถึง" คำอธิบายของโรคเรื้อนกวางดังกล่าวนี้ เป็นหัวข้อหนึ่งอยู่ในคำว่า โรคเรื้อน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ทำลายผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย และเป็นโรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ แต่ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อจากการสัมผัส ดังนั้น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยจึงไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะติดโรคนี้ ลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างโรคสะเก็ดเงินกับโรคเรื้อน ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ผื่นผิวหนังของผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินยังคงรับความรู้สึกได้เป็นปกติ แตกต่างจากผู้ที่เป็นโรคเรื้อน ซึ่งจะมีอาการชาที่ผื่นบนผิวหนัง สาเหตุที่เรียกโรคนี้ว่า "โรคสะเก็ดเงิน" เพราะผื่นที่เกิดจากโรคนี้ จะมีลักษณะเป็นปื้นแดงหนา หรือตุ่มสีแดงมีขอบเขตชัดเจน บนผิวของผื่นผิวหนังอักเสบจะมีสะเก็ดสีขาวคล้ายสีเงินปกคลุมอยู่ โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุนิตย์  เจิมสิริวัฒน์  สาขาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ให้ชื่อโรคนี้ อาการที่สำคัญคือ เมื่อแกะเกาสะเก็ดให้ลอกหลุดออกจากผิวหนัง จะเห็นเป็นจุดเลือดออกบนผิวของผื่นที่อักเสบแดง แต่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีตุ่มหรือปื้นแดงที่มีสะเก็ดสีขาวให้เห็นก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะของโรคว่าอยู่ในขั้นใด

ธรรมชาติของโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินจะเป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่กระทบผู้ป่วยและการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย โอกาสที่โรคกำเริบก็จะมีสูงขึ้น ผู้ป่วยบางรายเป็นโรคอย่างรวดเร็วแบบเฉียบพลัน ทั้งนี้ ผื่นผิวหนังอาจหายไปได้เอง เมื่อปัจจัยกระตุ้นหมดไปหรือเมื่อได้รับยารักษา บันทึกทางการแพทย์พบว่า โรคสะเก็ดเงินหายได้เองถึงร้อยละ ๒๙ หรืออาการอาจสงบนานเป็นปี ผู้ป่วยบางรายมีผื่นผิวหนังอักเสบเป็นๆ หายๆ ตามปัจจัยกระตุ้นที่มากระทบ บางรายมีผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานาน ความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจพบได้คือ ความผิดปกติที่เล็บ กล้ามเนื้อ เอ็นและข้ออักเสบ ผู้ป่วยน้อยรายอาจมีอาการผิดปกติของเล็บหรือปวดข้อนำมาก่อนเป็นเวลานาน แล้วจึงเกิดผื่นผิวหนังอักเสบตามมาในภายหลัง หรืออาจมีอาการข้ออักเสบหรือเล็บผิดปกติเกิดขึ้นพร้อมๆ กับอาการผื่นผิวหนังอักเสบก็ได้

สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน 

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า สาเหตุของโรคสะเก็ดเงินเกิดจากปัจจัยด้านพันธุกรรมและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมประกอบกัน ปัจจัยด้านพันธุกรรมนั้น ปัจจุบันสามารถตรวจพบยีนที่มีแนวโน้มทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงินได้มากกว่า ๙ ยีน ดังนั้น การถ่ายทอดทางพันธุกรรมจึงเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ถ้าบิดาและมารดาเป็นโรคสะเก็ดเงิน บุตรที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคนี้สูงร้อยละ ๖๕ ถึงร้อยละ ๘๓ หากบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นโรค บุตรที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคนี้ลดลงเหลือร้อยละ ๒๘ ถึงร้อยละ ๕๐ แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาไม่เคยเป็นโรคนี้ บุตรมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยลงไปอีก เหลือเพียงร้อยละ ๔ และถ้ามีพี่น้องในครอบครัวเป็นโรคนี้โดยที่บิดาและมารดาไม่เป็นโรค บุตรคนถัดไปก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคสูงถึงร้อยละ ๒๔ อย่างไรก็ตาม การเกิดอาการของโรค ไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีลักษณะทางพันธุกรรมของโรคสะเก็ดเงินอยู่ แต่ถ้าไม่มีปัจจัยกระตุ้นหรือปัจจัยเสริมมากระทบ  ผู้ป่วยก็จะไม่เกิดอาการของโรค ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรสังเกตให้ได้ว่า ปัจจัยแวดล้อมใด ทำให้โรคของตนเองกำเริบ และควรพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ นั้น ทั้งนี้พึงเข้าใจว่า ปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบในผู้ป่วยแต่ละรายไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งหมด ปัจจัยเหล่านี้ทั้งภายในและภายนอกร่างกายแม้แต่จิตใจ จะสลับสับเปลี่ยนกันมากระตุ้นให้โรคกำเริบได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Content

2
ลักษณะทางคลินิกของโรคสะเก็ดเงิน
ลักษณะทางคลินิกของโรคสะเก็ดเงิน หมายถึง อาการและอาการแสดงของโรคซึ่งปรากฏให้เห็นได้ที่อวัยวะสำคัญ ๓ ส่วน คือ ๑. ผิวหนัง ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า รวมทั้งฝ่ามือหรือฝ่าเท้า ๒. เล็บมือและเล็บเท้า ๓. ข้อส่วนปลายของร่างกาย เช่น ข้อมื
6K Views
4
ปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบ
สิ่งแวดล้อมที่กระทบร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยแล้วทำให้โรคกำเริบแบ่งได้เป็น ๓ ส่วน คือ ปัจจัยภายนอก ปัจจัยทางร่างกายของผู้ป่วย และปัจจัยทางจิตใจของผู้ป่วย ๑) ปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอกที่ทำให้โรคกำเริบ ได้แก่ ปัจจัยทางชีวะ เช่น สิ่
5K Views
5
ผลกระทบของโรคสะเก็ดเงินที่มีต่อผู้ป่วยในด้านต่างๆ
โรคสะเก็ดเงินมีผลกระทบต่อสุขภาพกาย รวมถึงสภาพจิตใจ ทั้งของผู้ป่วยและครอบครัว ตลอดจนผลกระทบทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต ในมิติต่างๆ ดังต่อไปนี้ มิติทางกาย เมื่อป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงิน ความรุนแรงขอ
4K Views
6
การดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน
คำถามที่ผู้ป่วยและญาติมักถามแพทย์ผู้ให้การรักษาบ่อยที่สุด คือ โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ คำตอบที่ผู้ป่วยและญาติ ได้รับคือ โรคนี้ไม่หายขาด จะเป็นตลอดชีวิต หรือเป็นๆ หายๆ ซึ่งเป็นคำตอบที่สร้างควา
4K Views
7
ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน
ยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมี ๓ กลุ่ม คือ ยาทา ยารับประทาน และยาฉีด โดยมีหลักในการพิจารณาคือ ถ้าผื่นผิวหนังอักเสบไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของพื้นผิวของร่างกาย ให้เลือกใช้ยาทาก่อน ถ้าผื่นผิวหนังอักเสบเกินร้อยละ ๑๐ ของพื้นผิวของร่างกาย ให้ใช้ยาร
10K Views
8
การรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยแสงอัลตราไวโอเลต
การรักษาด้วยแสงอัลตราไวโอเลต หรือที่เรียกว่า การบำบัดด้วยแสง (phototherapy) และเคมีบำบัดร่วมแสง (photochemotherapy) มีผู้สังเกตพบว่า แสงแดดตามธรรมชาติมีประโยชน์ต่อผื่นผิวหนังของโรคสะเก็ดเงินนานนับ ๑๐๐ ปีแล้ว โดยผ
4K Views
9
แนวทางในการดูแลรักษาโรคสะเก็ดเงิน
โดยทั่วไปผู้ป่วยและญาติต้องการแก้ปัญหาเรื่องความเจ็บป่วยหรือโรคที่เป็นอยู่ให้หายขาดในครั้งเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเสียความสมดุลระหว่างตัวผู้ป่วยกับสภาพแวดล้อมของผ
4K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow