การตรวจสุขภาพของผู้เป็นโรคเบาหวาน
การตรวจสุขภาพเป็นประจำเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการประเมินเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหรือโรคแทรกซ้อน และประเมินว่า เกิดภาวะหรือโรคแทรกซ้อน จากโรคเบาหวานหรือยัง ถ้ายังไม่พบ สามารถดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้โรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น หรือตรวจพบโรคแทรกซ้อนแล้ว ก็จะเป็นการพบในระยะเริ่มต้นของภาวะ หรือโรคแทรกซ้อนนั้นๆ หากให้การรักษาและได้ผลตามเป้าหมาย จะสามารถทำให้โรคแทรกซ้อนดีขึ้นหรือชะลอการดำเนินของโรคได้
ในกรณีที่ยังไม่มีภาวะหรือโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานควรตรวจสุขภาพปีละ ๑ ครั้ง การตรวจสุขภาพประจำปี ประกอบด้วย การซักถามอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจตา รวมทั้งการตรวจเท้าอย่างละเอียด มีการตรวจปัสสาวะและตรวจหาไข่ขาวในปัสสาวะ การตรวจเลือดเพื่อวัดระดับไขมันในเลือด การทำงานของไต และการตรวจอื่นๆ ที่แพทย์เห็นว่าจำเป็น หากมีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานแล้ว การตรวจข้างต้นจะบ่อยขึ้น ขึ้นกับระยะของโรคและการรักษาที่ได้รับ
ภาวะหรือโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
ภาวะหรือโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง
๑) ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานชนิดเฉียบพลัน
เกิดจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ได้แก่ ภาวะเลือดเข้มข้นจากน้ำตาลสูงมาก ภาวะเลือดเป็นกรดจากน้ำตาลสูง และภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้
๒) โรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานชนิดเรื้อรัง
เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง และอวัยวะนั้นไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ทำให้เกิดความพิการ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ได้แก่
โรคแทรกซ้อนชนิดเรื้อรังเหล่านี้ สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดได้โดยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติ และควบคุมภาวะหรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันผิดปกติในเลือด ที่พบร่วมกับโรคเบาหวานอย่างเข้มงวด