เด็กๆ หลายคนคงเคยได้ยินผู้ใหญ่พูดว่า "ถ่ายหนัก ถ่ายเบา" ซึ่งหมายถึง ถ่ายอุจจาระ และถ่ายปัสสาวะ เมื่อพูดถึงปัสสาวะ บางคนเรียกสั้นๆ ว่า "เบา" มีโรคอยู่โรคหนึ่งที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า เบา คือ โรคเบาหวาน ที่เรียกเช่นนี้ เพราะคนจะสังเกตเห็นมดขึ้นโถปัสสาวะ จึงคิดว่าปัสสาวะหรือเบานี้ต้องหวาน
เบาหวานเป็นโรคที่มีน้ำตาลในเลือดมากผิดปกติ เกี่ยวข้องกับสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า อินซูลิน ซึ่งตับอ่อนผลิตขึ้น
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน คือ ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยหรือไม่ได้เลย และอีกสาเหตุหนึ่ง คือ มีอินซูลินเพียงพอ แต่ร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลได้
โรคเบาหวาน ๒ ชนิดที่พบบ่อย คือ
โรคเบาหวานชนิดที่ ๑
เกิดจากตับอ่อนถูกทำลายจึงไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ หรือสร้างได้น้อย มักพบในเด็กและคนที่มีอายุน้อยๆ
โรคเบาหวานชนิดที่ ๒
มีสาเหตุหลัก คือ ร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินที่มีอยู่อย่างเพียงพอในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อย โดยมากมักเกิดกับผู้ใหญ่
ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ที่เห็นได้ชัด เช่น อ้วน หรืออ้วนลงพุง มีพ่อ แม่ พี่ หรือน้องเป็นโรคเบาหวาน มีความดันโลหิตสูง ใช้ยาที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ
อาการของคนเป็นโรคเบาหวาน ที่พอสังเกตได้ คือ ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลงทั้งๆ ที่รับประทานอาหารได้เป็นปกติ ปลายมือปลายเท้าชา ตามัว เป็นแผลแล้วหายยาก แต่บางคนก็ไม่มีอาการใดๆ ที่ให้สังเกตได้
เราอาจป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน หรือลดความรุนแรงของโรคได้ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
๑. การออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายที่เหมาะสม และเพียงพอด้วยวิธีต่างๆ เช่น การบริหารร่างกาย เล่นกีฬา ออกแรงทำงาน หรือทำกิจวัตรประจำวัน อาทิ ปัดกวาดเช็ดถู พรวนดิน ขึ้นลงบันได เดิน
๒. รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ถูกสุขลักษณะ ปราศจากสิ่งปนเปื้อน มีสารอาหารครบทุกประเภท และในสัดส่วนที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบและอาหารหมักดอง รวมทั้งควรดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เพียงพอ
๓. ไม่สูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่ เพราะการได้รับควันบุหร ี่ซึ่งมีสารพิษหลายอย่าง จะทำให้เกิดสิ่งผิดปกติในร่างกายได้ ทั้งเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ทำให้ภูมิต้านทานลดต่ำลง นอกจากนี้ ด้านจิตใจก็ยังมีผลต่อการเกิดโรคต่างๆ รวมทั้งโรคเบาหวาน ด้วย ดังนั้นควรฝึกจิตใจไม่ให้ตนเองเครียด ไม่โกรธง่าย ไม่น้อยใจง่าย
โรคหลายโรคที่เกิดจากการปฏิบัติตนไม่เหมาะสมเป็นเวลานานๆ เช่น โรคเกี่ยวกับกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น มีอาการปวดส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาจเกิดจากการนั่ง ยืน เดิน นอน ไม่ถูกวิธี โรคอ้วนเป็นโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไป และใช้พลังงานน้อย ทำให้เกิดการสะสมของไขมัน
โรคที่เกิดจากการปฏิบัติตนไม่ถูกต้องอีกโรคหนึ่ง คือ โรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคนี้ ส่วนมากเกิดจากการปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะในเรื่องการรับประทานอาหาร และการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งต้องใช้พลังงานที่ได้จากอาหารที่รับประทานเข้าไป จึงควรรับประทานอาหารตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ทั้งประเภทและปริมาณ ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละคน โดยคำนึงถึงสิ่งต่างๆ เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง อายุ เพศ อาชีพ
เบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการควบคุมระดับน้ำตาล ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าที่ควรจะเป็น เกิดขึ้นจากสาเหตุดังนี้
๑. การหลั่งอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจากตับอ่อนไม่เพียงพอ เรียกว่า ภาวะขาดอินซูลิน
๒. ตับอ่อนผลิตอินซูลินเพียงพอ แต่การตอบสนองของเซลล์ตับ เซลล์กล้ามเนื้อลาย และเซลล์ไขมันต่อฤทธิ์ของอินซูลินลดลง เรียกว่า ภาวะดื้ออินซูลิน
๓. เกิดจากสาเหตุทั้งในข้อ ๑ และ ๒
การตรวจโรคเบาหวาน
วิธีตรวจเพื่อค้นหาโรคเบาหวาน ที่เป็นมาตรฐาน คือ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งการตรวจทำได้ ๓ แบบ คือ
๑. ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดตอนเช้าหลังอดอาหารอย่างน้อย ๘ ชั่วโมง
๒. ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้
๓. ทดสอบจำเพาะโดยตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ๒ ชั่วโมงหลังการดื่มน้ำที่มีน้ำตาลกลูโคส ๗๕ กรัม ละลายอยู่ (สารละลายกลูโคส ๗๕ กรัม)
ผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ
๑) ปกติ
๒) สูงกว่าปกติแต่ยังไม่ถึงระดับเบาหวาน
๓) เป็นโรคเบาหวาน
ชนิดของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานที่พบบ่อยมี ๒ ชนิดหลักๆ คือ โรคเบาหวาน ชนิดที่ ๑ และโรคเบาหวาน ชนิดที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๕๔๐ สมาคมโรคเบาหวาน แห่งสหรัฐอเมริกา และองค์การอนามัยโลก ได้ตั้งเกณฑ์จำแนกโรคเบาหวาน เป็น ๔ ชนิด คือ
๑. โรคเบาหวาน ชนิดที่ ๑ เกิดจากบีตาเซลล์ของตับอ่อนถูกทำลาย ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ (หรือได้น้อย) จึงไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย ซึ่งส่วนมากเป็นผลจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ มักเกิดกับเด็ก และคนที่มีอายุน้อย และมีสายพันธุกรรมที่เสี่ยงกับโรคเบาหวาน ชนิดนี้
๒. โรคเบาหวาน ชนิดที่ ๒ เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายๆ อย่าง เช่น สายพันธุกรรมที่เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ชนิดที่ ๒ และการปฏิบัติตนไม่ถูกต้องดังที่กล่าวมาแล้ว โดยมักเกิดกับผู้ใหญ่
๓. โรคเบาหวาน ที่มีสาเหตุจำเพาะ ได้แก่ โรคเบาหวาน ที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทราบรูปแบบชัดเจน โรคของตับอ่อน ฯลฯ
๔. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดในหญิงมีครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ร่วมกับผลของฮอร์โมนจากรก และฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นขณะตั้งครรภ์ ส่วนมากระดับน้ำตาลในเลือดกลับเป็นปกติหลังคลอดบุตร
ในจำนวนผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่จะเป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ ๒ เช่น จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ คนไทยที่เป็นโรคเบาหวาน พบว่าเป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ ๒ ถึงร้อยละ ๙๕
การป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน
คนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ ๒ จะมีลักษณะหรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มากมาย เช่น อายุตั้งแต่ ๔๐ ปีขึ้นไป อ้วนและ/หรือลงพุง เคยตรวจพบว่ามีระดับน้ำตาลมากผิดปกติหลังรับประทานอาหารหรือขณะอดอาหาร มีความดันโลหิตสูง มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์ผิดปกติ คลอดบุตรน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า ๔ กิโลกรัม มีประวัติโรคหลอดเลือดแดงตีบตัน ใช้ยาที่อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ผิวหนังที่ลำคอหรือรักแร้มีปื้นหนาสีคล้ำ
เนื่องจากโรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เป็นโรคที่ป้องกันได้ จึงควรปฏิบัติตนให้ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องการรับประทานอาหาร การเคลื่อนไหวร่างกาย และการออกกำลังกาย เพราะถ้าเป็นโรคเบาหวาน แล้ว มักจะเกิดโรคที่เป็นกลุ่มเกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง (ซึ่งควรหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม) หลอดเลือดแดงอุดตัน ที่อาจทำให้เสียชีวิตกะทันหันได้ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรคแทรกซ้อนอีกมาก ที่สำคัญ คือ โรคไต และโรคตา อีกทั้งเกิดปลายประสาทเสื่อม ทำให้มีอาการปลายมือปลายเท้าชา ปวดแสบปวดร้อน แขนขาไม่มีแรง
การตรวจร่างกายประจำปี และการสังเกตตนเองอยู่เสมอว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งการตรวจสอบง่ายๆ ด้วยตนเอง เช่น การวัดรอบพุง การตรวจสอบว่าน้ำหนักตัวมากเกินหรือไม่ การวัดความดันโลหิตจะช่วยให้พบโรคได้เร็ว ทำให้รักษาได้ง่าย หรือถ้าพบว่า มีความเสี่ยงจะได้ลดความเสี่ยง
อย่างไรก็ดี ในการรักษาหรือป้องกันต้องศึกษาและปฏิบัติให้ถูกวิธี มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายได้ บางครั้งอาจเสียชีวิต หรือพิการ เช่น การลดความอ้วน ต้องค่อยๆ ลด หลักสำคัญ คือ ลดปริมาณอาหาร และควรออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม เพียงพอ และสม่ำเสมอ การใช้ยาลดความอ้วนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้