Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์

Posted By Plookpedia | 10 เม.ย. 60
5,327 Views

  Favorite

 

เด็กๆ อาจเคยพบเห็นผู้พิการที่น่าสงสารเดินไม่ได้ มือหยิบจับสิ่งของไม่ได้ หรือต้องเจ็บปวดทุกครั้งที่ขยับแขนขา บางคนอาจพิการมาตั้งแต่เกิด บางคนอาจพิการจากอุบัติเหตุ หรือพิการจากการเป็นโรคต่างๆ ดังเช่น โรคข้ออักเสบ ซึ่งเกิดขึ้นเรื้อรังเป็นเวลานาน ที่เรียกว่า โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์

ข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อเท้า ข้อศอก หรือข้อเข่าของคนที่เป็นโรคนี้อาจบวมแดง บิดหงิกงอ ทำให้เจ็บปวด เคลื่อนไหวลำบาก ขยับไม่ค่อยได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ ไม่ไปให้คุณหมอรักษา แขนขาอาจใช้งานไม่ได้ กลายเป็นคนพิการตลอดไป และมีชีวิตอยู่อย่างลำบากมาก

 

 

 

ถ้าเด็กๆ โตขึ้นแล้วไม่อยากเป็นโรคข้ออักเสบอย่างนี้ เด็กๆ ต้องคอยดูแลสุขภาพของตนเอง กินอาหารที่มีประโยชน์ พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน นอกจากนี้ควรใช้งานข้อต่างๆ ของตนเองอย่างทะนุถนอม ต้องระวังไม่ยกของที่หนักเกินไป ถ้าจะยกก็ให้ใช้มือทั้ง ๒ ข้าง ไม่ใช้มือแค่ข้างเดียว หากทำงานที่ต้องใช้ข้อมือ ก็อย่าทำเป็นเวลานานจนเกินไป หรือเวลาที่ใช้ปากกา ดินสอ เครื่องมือ และเครื่องเขียนต่างๆ ก็ควรให้มีขนาดใหญ่พอที่จะหยิบจับได้สะดวก ไม่เกร็งมือมากเกินไป

เวลาที่ญาติผู้ใหญ่ของเด็กๆ เช่น คุณพ่อ คุณแม่ หรือคุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา บ่นปวดเจ็บตามข้อมือ ข้อนิ้วเริ่มขยับไม่ได้ ควรขอให้ญาติของเด็กๆ ไปพบคุณหมอ เพราะถ้าคุณหมอตรวจพบได้เร็วว่า เป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ คุณหมอจะได้รักษาท่านได้ทันเวลา ก่อนที่จะเป็นมาก หรือเป็นเรื้อรัง จนไม่อาจรักษาให้หายได้

 

สาเหตุและอาการของโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง ที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ข้อ เยื่อบุข้อ และเส้นเอ็นใกล้บริเวณข้อของผู้ป่วยเกิดอาการอักเสบ เจ็บปวด เคลื่อนไหวได้ลำบาก จนกระทั่งไม่อาจเคลื่อนไหวหรือรับน้ำหนัก และอาจถึงกับพิการได้ในที่สุด

อาการข้ออักเสบจากโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับข้อต่างๆ ของร่างกาย แต่พบบ่อยที่บริเวณข้อมือ ข้อนิ้ว ข้อเข่า และข้อเท้า โดยเยื่อบุข้อจะอักเสบ และเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้เยื่อบุข้อหนาขึ้น ขณะเดียวกันมีของเหลวและเลือดมาเลี้ยงที่ข้อเพิ่มขึ้น จนเกิดอาการปวดบวมและข้อขัด รวมไปถึงการหลั่งสารออกมาทำลาย กัดกร่อนกระดูกบริเวณข้อ หรือแม้แต่กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นรอบๆ ข้อ

โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีอายุมากกว่า ๑๖ ปีขึ้นไป ถึงแม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า สาเหตุที่ทำให้ป่วยเป็นโรคนี้ คืออะไร แต่เชื่อกันว่า โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์มีสาเหตุจากหลายปัจจัยประกอบกัน ตั้งแต่พันธุกรรม ฮอร์โมน สิ่งแวดล้อม และเชื้อโรค เช่น ถ้ามีบิดามารดาที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ บุตรมีโอกาสเป็นโรคนี้ ได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง ๑๐ เท่า และพบโรคนี้ในเพศหญิงได้มากกว่าเพศชายหลายเท่าตัว หรือพบว่า ผู้สูบบุหรี่จะมีสารที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการแพ้ภูมิตนเอง จนนำไปสู่การเกิดโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ รวมไปถึงเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่พบว่า สามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของข้อได้

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์จะมีอาการ ระดับของความรุนแรง หรือระยะเวลาของการเกิดโรคที่แตกต่างกันไป ในแต่ละคน ส่วนใหญ่แล้ว ในระยะแรกของการเกิดโรค มักจะมีอาการอักเสบเฉพาะบางข้อเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แบบค่อยเป็นค่อยไปหลายสัปดาห์ แต่อาจมีผู้ป่วยส่วนหนึ่ง ที่มีอาการข้ออักเสบเกิดขึ้นทั้งร่างกาย โดยมีอาการต่อไปเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ และผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะมีอาการข้ออักเสบเริ่มต้นแบบเฉียบพลัน หรือปวดกล้ามเนื้อรุนแรง คล้ายขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณนั้น

โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์นอกจากจะทำให้ข้อต่างๆ ของผู้ป่วยอักเสบ บวมแดง และฝืดแข็ง ยังอาจรุนแรง จนทำให้โครงสร้างของข้อพิการได้ เช่น ข้อนิ้วมืองอพับผิดรูป  หรือไม่สามารถกระดกนิ้วมือได้ ข้อเท้าบวมมีนิ้วเท้ากระดกขึ้น ข้อเข่าอ่อนแรงไม่สามารถเหยียดเข่าตรง ข้อสะโพกอักเสบเรื้อรังจนหัวกระดูกสะโพกดันเบ้ากระดูก ข้อกระดูกคอฝืดแข็ง เคลื่อนไหวลำบาก หรือปวดร้าวถึงท้ายทอย  กระดูกอ่อนตามผิวข้อต่างๆ อาจถูกทำลายหายไป จนเอกซเรย์เห็นเป็นช่องว่างระหว่างข้อ

นอกจากเกิดอาการอักเสบตามข้อต่างๆ รวมถึงภาวะกล้ามเนื้อลีบ ตัวร้อน และน้ำหนักตัวลดแล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ยังอาจมีอาการอักเสบนอกข้อเกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ เช่น มีปุ่มรูมาทอยด์ ซึ่งเป็นปุ่มก้อนขนาดเล็ก เกิดขึ้นที่ผิวหนังตรงตำแหน่งกดทับต่างๆ หลอดเลือดที่ผิวหนังมีอาการอักเสบ ตาแห้ง หรือเยื่อตาขาวอักเสบ ข้อต่อกล่องเสียงอักเสบจนทำให้เจ็บคอเวลากลืนอาหาร และเสียงแหบ เจ็บหน้าอกขณะหายใจ เนื่องจาก เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจมากกว่าปกติ มือทั้งสองข้างมีอาการชา และอ่อนแรง เพราะเส้นประสาทถูกกดทับ เกิดอาการซีดหรือมีภาวะโลหิตจาง ซึ่งถ้าเป็นเรื้อรังจะทำให้ตับและม้ามโต และเม็ดเลือดขาวต่ำได้

 

อาการอักเสบของข้อต่อกล่องเสียง ทำให้เจ็บหน้าอก เจ็บคอ เสียงแหบ ซึ่งเป็นอาการอักเสบนอกข้อของโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ที่พบได้บ่อย

 

 

การวินิจฉัยและการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์

ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ควรได้รับการวินิจฉัยโรคและระดับความรุนแรงของโรคโดยเร็ว  เนื่องจาก หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยป้องกันการเสียหายของข้อที่อักเสบได้ โดยแพทย์จะตรวจร่างกายหาอาการอักเสบ ของข้อต่างๆ รวมทั้งปุ่มรูมาทอยด์ สารรูมาทอยด์แฟกเตอร์ในเลือด การเอกซเรย์เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของกระดูก ประวัติของญาติในครอบครัว และการเป็นเพศหญิง ซึ่งการรักษาที่ช้าไปหรือไม่ถูกต้อง อาจทำให้ข้อถูกทำลายเสียหาย จนผู้ป่วยพิการได้

เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรค แพทย์อาจเลือกการรักษาด้วยยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อลดอาการปวดข้อทรมาน  หรือให้ยาต้านรูมาทิซึมที่ช่วยชะลอการดำเนินโรคเพื่อให้โรคเข้าสู่ระยะสงบ หรืออาจใช้ยาชีวภาพลดปริมาณสารคัดหลั่ง ที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ ให้กลับเข้าสู่ระดับปกติ รวมถึงการรักษาด้วยยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ในกรณีที่เป็นโรคข้ออักเสบ ในระดับรุนแรง แม้ว่าอาจส่งผลข้างเคียงในระยะยาวได้

นอกจากการใช้ยาเพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์แล้ว แพทย์ยังอาจเลือกใช้วิธีการรักษาที่ไม่ใช้ยาควบคู่กันไปด้วย ตั้งแต่การให้ความรู้เบื้องต้นแก่ผู้ป่วยว่า โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์คืออะไร มีพัฒนาการของโรคเป็นเช่นใด ผู้ป่วยจะต้องรับการรักษาอย่างไรบ้าง และผู้ป่วยควรปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อทะนุถนอมข้อของตนเอง รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน ที่จะไม่ให้ข้อรับแรงกดมากเกินไป การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวของข้อ ตลอดจนการพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลีย

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์เรื้อรัง จนเยื่อบุข้ออักเสบเรื้อรังและโครงสร้างของข้อเสียหาย มีอาการปวดจนทนไม่ได้ ข้อฝืด หรือมีมุมของการเคลื่อนไหวข้อที่ลดลงแล้ว แพทย์อาจต้องตัดสินใจผ่าตัด เพื่อลดการกดเบียดเส้นประสาท หรือเปลี่ยนข้อและโครงสร้างต่างๆ รอบข้อ เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ ซึ่งความสำเร็จในการผ่าตัดนี้ นอกจากขึ้นอยู่กับความสามารถของแพทย์และสภาพร่างกายผู้ป่วยแล้ว การทำกายภาพบำบัด เพื่อบริหาร และฟื้นฟูข้อ ยังมีความสำคัญอย่างมาก ต่อผลสำเร็จของการรักษาอีกด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Content

4
การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์อาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการแยกโรคอื่นออกไป ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์มักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดข้อ ข้อที่อักเสบมีหลายข้อ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า ลั
4K Views
5
แนวทางการรักษาโรค
ขั้นตอนในการรักษา แนวทางในการรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์มีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้ การวินิจฉัยโรคเร็ว การประเมินระดับความรุนแรงของโรค การประเมินว่ามีองค์ประกอบของการพยากรณ์โรคดีหรือไม่ดี การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ๑) การวิน
4K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow