ระบบการวัดแห่งชาติ
ประเทศไทยมีระบบการวัดแห่งชาติที่สอดคล้องกับระบบการวัดแห่งชาติของนานาประเทศ โดยแบ่งระบบการวัดแห่งชาติออกเป็น ๒ ระบบ ดังนี้
๑) ระบบการวัดแห่งชาติเชิงพาณิชย์หรือเชิงกฎหมาย
เป็นระบบการวัดแห่งชาติที่มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อรักษาความถูกต้องและเป็นธรรมในการชั่งตวงวัดในเชิงพาณิชย์ หรือในเชิงกฎหมายตามที่ได้กำหนดไว้ ในพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. ๒๕๔๒ (ฉบับปรับปรุงจาก พ.ศ. ๒๔๖๖) โดยมีสำนักชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งอำนาจหน้าที่หลักของสำนักชั่งตวงวัด คือ การกำหนดระดับความถูกต้องของการชั่งตวงวัดในการพาณิชย์ เพื่อความเป็นธรรมในการซื้อขาย แลกเปลี่ยน รวมไปถึง การควบคุมให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดอย่างเคร่งครัดอีกด้วย ขอบเขตความรับผิดชอบของสำนักชั่งตวงวัดมิได้จำกัดแต่เพียงในส่วนกลางเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปทั่วประเทศ โดยผ่านศูนย์ชั่งตวงวัดภาค ๔ แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี และสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดเขต ๒๓ แห่ง ตัวอย่างอุปกรณ์ชั่งตวงวัดที่ได้รับการควบคุม เช่น การชั่ง ได้แก่ เครื่องชั่ง ตุ้มน้ำหนัก
๒) ระบบการวัดแห่งชาติทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม
เป็นระบบการวัดแห่งชาติที่มุ่งเน้นในด้านการกำหนดและรักษามาตรฐานการวัดแห่งชาติ ที่มีความถูกต้องสูงสุด ตามระบบหน่วยวัดสากล หรือระบบหน่วยวัดเอสไอ (International System of Units : SI) ซึ่งเป็นพื้นฐานการวิจัย และการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับการผลิต และการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งในการดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของระบบการวัดแห่งชาติทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม อยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งนอกจากกำหนดให้สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติเป็นหน่วยงาน ที่รักษามาตรฐานการวัดแห่งชาติแล้ว ยังกำหนดให้สถาบันฯ สนับสนุนการถ่ายทอดความถูกต้องของมาตรฐานการวัด ในระบบหน่วยวัดเอสไอสู่ผู้ใช้งานภาคอุตสาหกรรม โดยผ่านห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องมือวัดระดับทุติยภูมิ ทั้งของภาครัฐ และภาคเอกชน และการให้ความรู้ การฝึกอบรมหรือสัมมนา สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านมาตรวิทยาอีกด้วย