Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคพืชและการจัดการด้วยวิธีชีวภาพ

Posted By Plookpedia | 15 มี.ค. 60
20,618 Views

  Favorite

 

สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกต่างมีศัตรูคอยเบียดเบียน ทำให้เจ็บป่วยเป็นโรค พืชทุกชนิดก็เป็นสิ่งมีชีวิต จึงมีศัตรูทำลายก่อให้เกิดโรคเช่นเดียวกันกับคนและสัตว์ พืชที่ปลูกหรือขึ้นเองในธรรมชาติจะมีศัตรูคอยทำลาย ตั้งแต่เมล็ดเริ่มงอกจนเติบโตติดดอกออกผล เมื่อพืชเป็นโรคจะเจริญเติบโตช้า แคระแกร็น ไม่ติดดอก ออกผล หรือผลผลิตเสียหาย มีรอยตำหนิ รูปร่างผิดปกติ สีและรสชาติเปลี่ยนแปลง และเกิดการเน่าเสีย จำหน่ายไม่ได้ราคา

 

 

โรคพืช หมายถึง สภาวะที่ต้นพืชมีการทำงานที่ผิดปกติจนมีผลเสียหายต่อพืช เกิดจากสาเหตุ ๒ ประการ คือ โรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต และโรคที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต

 

 

 

๑. โรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต 

เรียกว่า โรคติดเชื้อ สามารถแพร่ระบาดติดต่อมาสู่พืชได้ เชื้อโรคพืชมีหลายชนิดคล้ายกับเชื้อโรคของคนและสัตว์ เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อไฟโตพลาสมา และไส้เดือนฝอยซึ่งเป็นตัวพยาธิ เชื้อโรคพืชเหล่านี้ ทำให้พืชแสดงอาการโรคหลายแบบ ได้แก่ รากเน่า ต้นเหี่ยวตาย ใบเป็นจุด ใบไหม้ ใบด่าง ยอดเป็นพุ่มไม้กวาด หรือผลเน่า

 

 

๒. โรคที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต

เรียกว่า โรคไม่ติดเชื้อ ไม่แพร่ระบาดติดต่อ เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ดินขาดธาตุอาหาร ดินเป็นกรดหรือด่าง มากเกินไป อากาศร้อน แสงแดดจัด แห้งแล้ง น้ำแฉะ มีมลพิษในอากาศ ทำให้พืชแสดงอาการต่างๆ เช่น ใบเหลืองซีด ใบร่วง ใบไหม้ ต้นไม่เจริญเติบโต แคระแกร็น ผลผลิตลดลง

 

 

เมื่อพืชเกิดความเสียหายโดยเฉพาะเกิดโรคติดเชื้อ เกษตรกรจึงต้องหาวิธีแก้ไข ซึ่งมีอยู่หลายวิธี แต่เกษตรกรชอบใช้วิธีพ่นสารเคมี และใช้ในปริมาณมากเกินไป ทำให้เป็นอันตรายต่อเกษตรกรเองและผู้ที่ซื้อผลผลิตไปบริโภค นอกจากนี้ ยังอาจไปทำลายแมลง และจุลินทรีย์ ที่มีประโยชน์ในธรรมชาติ รวมถึงเป็นการสะสมสารเคมีในสิ่งแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดมลพิษกับธรรมชาติอีกด้วย ดังนั้น จึงมีการศึกษาค้นคว้าการจัดการโรคพืชด้วย "วิธีชีวภาพ" เพื่อทดแทนการใช้สารเคมี เนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และราคาไม่แพง เกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้

 

การจัดการโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพ หมายถึง การใช้สิ่งมีชีวิตพวกจุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมายับยั้งหรือทำลายเชื้อโรค จนไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับพืช เชื้อจุลินทรีย์พวกนี้เรียกว่า เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ ส่วนใหญ่ ได้แก่ เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย  

 

 

การจัดการโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพให้ได้ผลดี จำเป็นต้องทราบหลักการเกิดโรคพืชหรือสามเหลี่ยมโรคพืช และหลักการป้องกันกำจัดโรคพืชประกอบกัน เพื่อจะได้นำไปใช้สนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพและทำลายเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ความเสียหายของโรคลดลง จนไม่มีผลกระทบหรือมีผลเสียหายทางเศรษฐกิจ

หลักการเกิดโรคพืชหรือสามเหลี่ยมโรคพืช

ในธรรมชาติ การที่พืชหรือต้นไม้เป็นโรคเกิดจากปัจจัยสำคัญ ๓ ประการ ประกอบเข้าด้วยกัน คือ สาเหตุของโรค พืชที่อ่อนแอ และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดโรค เมื่อใดที่มีปัจจัยดังกล่าวครบทั้ง ๓ ประการ พืชก็จะเป็นโรค กระบวนการนี้ จึงนิยมเรียกกันว่า สามเหลี่ยมโรคพืช

 

เราสามารถนำหลักการของสามเหลี่ยมโรคพืชมาใช้ในการจัดการหรือการควบคุม ไม่ให้พืชเป็นโรค โดยการควบคุมทั้ง ๓ ปัจจัย ได้แก่ ควบคุมไม่ให้มีสาเหตุของโรคพืช ควบคุมไม่ให้พืชอ่อนแอ และควบคุมสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะกับการเกิดโรค การควบคุมโรคมีหลายวิธี อาจใช้วิธีเดียวหรือหลายวิธีร่วมกันก็ได้ หากใช้หลายวิธีร่วมกันเรียกว่า การควบคุมโดยวิธีผสมผสาน ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้วยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วย 

 

ผลผลิตกะหล่ำปลีที่เสียหายจากการเข้าทำลายของเชื้อแบคทีเรียโรคเน่าเละ

 

 

โรคพืชที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิตและพบบ่อยๆ คือ โรคขาดธาตุอาหารต่างๆ ทั้งธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง หากพืชขาดธาตุอาหารดังกล่าว จะทำให้พืชมีผลผลิตลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ การจัดการโรคพืชที่เกิดจากการขาดธาตุอาหาร กระทำได้ง่าย โดยการใส่ธาตุอาหารที่ขาดให้แก่พืชตามปริมาณที่พืชต้องการ พืชก็สามารถนำธาตุอาหารดังกล่าวไปใช้ และมีการเจริญเติบโตให้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพตามปกติ แต่ถ้าเป็นโรคพืชที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต การจัดการโรคพืชจะทำได้ยากกว่า เนื่องจากเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคแต่ละชนิดทั้งที่เกิดจากเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อไฟโตพลาสมา และเชื้อไวรอยด์ ต่างมีวิธีการจัดการโรคที่แตกต่างกัน เราจึงต้องเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับเชื้อสาเหตุ ของโรคแต่ละชนิด นอกจากนี้โรคพืชที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตจะพบมาก และมีการแพร่ระบาดทำความเสียหายให้แก่พืชมากกว่าโรคพืช ที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต เกษตรกรจึงต้องมีวิธีการจัดการโรคดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจะทำให้ประสบผลสำเร็จ ในการผลิตพืชดังกล่าว แต่เกษตรกรไทยที่เป็นชาวไร่ ชาวนา หรือชาวสวน ต่างมีปัญหาโรคเข้าทำลายพืชที่ปลูก ไม่ว่าจะเป็นพืชชนิดใด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจ ถึงวิธีการป้องกันกำจัดโรคพืช โดยวิธีการต่างๆ ที่เรียกรวมๆ ว่า หลักการป้องกันกำจัดโรคพืช

หลักการป้องกันกำจัดโรคพืช 

มี  ๖  วิธีการ คือ

๑. การหลีกเลี่ยงโรค 

หมายถึง การจัดการปลูกพืชโดยหลีกเลี่ยงการปลูกพืชในช่วงที่มีสภาพแวดล้อมที่ง่ายต่อการเกิดโรค หรือช่วงที่มีโรคระบาด เช่น ปลูกในฤดูฝนที่มีความชื้นสูงเหมาะต่อการเกิดโรค ปลูกในพื้นที่ที่มีเชื้อโรคระบาดมาก่อน หรือปลูกในที่ที่มีสภาพภูมิอากาศเย็นหรือร้อนเหมาะต่อการเกิดโรค ตลอดจนไม่ปลูกพืชในดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่างมากเกินไป หรือขาดธาตุอาหาร

 

การปลูกพืชในโรงเรือนตาข่าย เพื่อกันแมลงเข้าทำลายและนำโรคมาสู่พืช

 

 

๒. การกีดกัน

หมายถึง การจัดการไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาสู่บริเวณที่ปลูกพืชทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น โดยใช้มาตรการทางกฎหมายจำกัดการนำวัสดุ หรือพันธุ์พืช ที่อาจมีเชื้อสาเหตุของโรคเข้าประเทศ หรือเข้ามาในพื้นที่ที่ไม่เคยมีเชื้อโรคพืชชนิดนั้นๆ ระบาดมาก่อน และเป็นโรคที่ระบาด ทำความเสียหายได้อย่างรุนแรง โดยการนำเข้าต้องมีใบรับรองว่า วัสดุหรือพันธุ์พืชนั้นปลอดเชื้อโรคจึงจะอนุญาตให้นำเข้ามาได้ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ มีการห้ามนำพืชตระกูลส้มที่มีโรคแคงเกอร์จากเชื้อแบคทีเรียเข้าประเทศ

 

การเผาต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค เพื่อเป็นการทำลายแหล่งสะสมเชื้อโรค

 

 

๓. การป้องกัน 

หมายถึง การป้องกันการเข้าทำลายพืชของเชื้อโรค โดยไม่ให้เชื้อโรคสัมผัสกับพืชด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปลูกพืชกันลม เป็นการลดการแพร่ระบาดของโรคที่อาศัยลมเป็นตัวนำมาสู่พืช การปลูกพืชในโรงเรือนกระจก หรือโรงเรือนตาข่ายกันแมลง เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อม ป้องกันเชื้อโรคหรือแมลงพาหะไปสัมผัสกับพืช หรือการใช้สารเคมีในการป้องกันการเข้าทำลาย ของเชื้อโรค เช่น การใช้สารเคมีคลุกเมล็ดพืชที่จะปลูก และการใช้สารเคมีทำลายเชื้อโรคในดินก่อนปลูกพืช

๔. การทำลายให้หมดไป 

หมายถึง การกำจัดหรือการทำลายแหล่งสะสมเชื้อโรคให้หมดไป โดยการเผาทำลายพืชที่เป็นโรค เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคเหลืออยู่ เมื่อตรวจพบเชื้อโรคในไร่หรือวัสดุอุปกรณ์และผลผลิตที่นำมาจำหน่าย วิธีการนี้ใช้กับเชื้อโรคที่มีการระบาดทำความเสียหายต่อพืชอย่างรุนแรง และเป็นโรคที่อยู่ในบัญชีกักกันโรคของแต่ละประเทศ

 

มะเขือเทศพันธุ์ด้านทานโรคเหี่ยวจากเชื้อแบคทีเรีย (ขวา) และพันธุ์ที่อ่อนแอ (กลาง และซ้าย)

 

 

๕. การใช้พันธุ์ต้านทานโรค 

หมายถึง การป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรคโดยปลูกพืชที่มีความต้านทานโรค ทำให้เกิดโรคน้อยลง หรือเกิดโรคช้าลง จนไม่มีผลเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยมากจะเป็นโรคที่ใช้วิธีอื่นๆ ไม่ค่อยได้ผล เช่น โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส หรือโรคที่เชื้ออาศัยอยู่ในดิน วิธีการนี้เป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย และควรปฏิบัติมากที่สุด

 

สารเคมีกำจัดโรคพืช

 

๖. การรักษา 

หมายถึง การรักษาพืชที่เป็นโรคแล้ว เพื่อให้หายเป็นปกติหรือให้ผลผลิตตามต้องการ โดยส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีสังเคราะห์ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิด เช่น สารเคมีกำจัดเชื้อรา สารเคมีกำจัดเชื้อแบคทีเรีย สารเคมีกำจัดไส้เดือนฝอย ทั้งนี้ เกษตรกรจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องการออกฤทธิ์ของตัวยาและวิธีการใช้ ของสารเคมีแต่ละชนิด เพื่อให้ตรงกับชนิดของเชื้อโรคที่เข้าทำลายพืช จึงจะได้ผลดีในการควบคุมโรค และไม่มีผลเสียต่อผู้ใช้   ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Content

1
ความหมายของการจัดการโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพ
การจัดการโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพเป็นการควบคุมโรคโดยวิธีธรรมชาติ หรือเลียนแบบธรรมชาติ โดยปกติในธรรมชาติสิ่งมีชีวิตต่างๆ จะมีการส่งเสริมซึ่งกันและกัน หรือมีการแข่งขันต่อสู้กัน เพื่อการเจริญเติบโตและการดำรงชีพ ดังนั้นกา
8K Views
2
กลไกการควบคุมโรคพืชโดยเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์
สิ่งมีชีวิตหรือเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่นำมาใช้ในการควบคุมโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพ มีกลไกการควบคุมหรือยับยั้งเชื้อสาเหตุโรคพืชใน ๔ ลักษณะดังนี้ ๑. การแข่งขัน (Competition) เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์จะมีความสา
8K Views
3
การคัดเลือกและทดสอบเชื้อปฏิปักษ์
๑) การคัดเลือกเชื้อปฏิปักษ์จากดินหรือพืช นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญของความสำเร็จในการนำไปใช้ควบคุมโรคด้วยวิธีชีวภาพ ในอดีตที่ผ่านมา การคัดเลือกเชื้อปฏิปักษ์มักมุ่งคัดหาในห้องปฏิบัติการ โดยพยายามหาเชื้อปฏิปักษ์ ที่มีคุณสมบัติ
7K Views
4
การปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้เชื้อปฏิปักษ์ควบคุมโรคพืช
เชื้อปฏิปักษ์ที่ได้มีการปรับปรุง เพื่อให้มีคุณสมบัติในการควบคุมเชื้อโรคได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นการปรับปรุงความอยู่รอดของเชื้อในธรรมชาติได้กว้างขวางทุกๆ สภาพพื้นที่ หรืออยู่บน
8K Views
5
การพัฒนาชีวภัณฑ์และสูตรสำเร็จ (Formulation)
เชื้อปฏิปักษ์ที่ได้มีการคัดเลือกและทดสอบแล้วว่า มีความสามารถควบคุมโรคพืชได้ดีในห้องปฏิบัติการ และในสภาพไร่นา เมื่อจะพัฒนาเป็นชีวภัณฑ์ เพื่อให้นำไปใช้ในเชิงการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยต่า
6K Views
6
การเผยแพร่และการจำหน่ายเชิงพาณิชย์
ในอนาคตการนำเอาวิธีการควบคุมโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพมาใช้จะเป็นไปอย่างกว้างขวาง เนื่องจาก มีข้อดีหลายประการ ที่เหนือกว่าการใช้สารเคมี อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่จะได้รับในอนาคตนั้น ขึ้นอยู่กับการเผยแพร่ความรู้ ที่จะต้องเร่งศึ
7K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow