Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เวลาทำงานของยาเม็ด

Posted By Plook Creator | 20 ก.ค. 60
81,650 Views

  Favorite

เมื่อคุณป่วยต้องไปพบแพทย์ แพทย์อาจจะสั่งยาให้คุณมารับประทาน มันจะช่วยให้ร่างกายของคุณดีขึ้น ฟื้นกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง แต่ทำไมสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ยาเม็ด จึงสามารถส่งผลกับร่างกายคุณได้ขนาดนั้น

 

จริง ๆ แล้วเวลาคุณป่วย อาจจะเกิดจากเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กจู่โจมร่างกายคุณ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราสงสัยตอนนี้ มันเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของคุณเมื่อคุณกินยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ หรือแม้แต่วิตามินทั้งหลายที่หมอสั่งเข้าไป ไม่ว่าจะยาเม็ดในรูปแบบของผงแป้งอัดหรือแคปซูล พวกเม็ดยาเหล่านี้ทำอะไรกับร่างกายของคุณกันแน่ แล้วเวลาในการรับประทานยาก่อนหรือหลังมื้ออาหาร หรือช่วงเวลาที่ต้องเว้นว่างหลังรับประทานยา ส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาที่เข้าสู่ร่างกายอย่างไร

 

ยาเม็ดไม่ได้ทำงานเหมือนยาทาหรือยาใช้ภายนอกร่างกาย เพราะยาใช้ภายนอกเหล่านั้นคุณจะทาในบริเวณที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นยาใส่แผลสด หรือยาทาแก้ปวด แต่สำหรับยาเม็ดที่รับประทานเข้าไปในร่างกาย เมื่อกลืนผ่านลำคอลงไปยังกระเพาะ ยาเหล่านั้นจะไปรักษาอาการต่าง ๆ ตามส่วนที่มีอาการเจ็บป่วยได้อย่างไร

 

ยาจะเข้าสู่ระบบของร่างกายจริง ๆ หลังจากตัวยาได้รับการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว นั่นแปลว่า หากคุณไม่ได้รับการฉีดยาเข้าไปในเส้นเลือด แต่เลือกที่จะรับประทานยาเม็ดแทน การโยนยาเม็ดเข้าปากแล้วดื่มน้ำตามจึงยังไม่ใช่จุดที่มันจะออกฤทธิ์ เมื่อยาเม็ดเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร ตัวยาอาจจะดูดซึมเข้าร่างกายจริง ๆ เมื่อมันเดินทางถึงกระเพาะอาหารหรือลำไส้ อันที่จริงมันสามารถถูกดูดซึมได้ทุกส่วนของระบบทางเดินอาหาร แต่ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางเคมีของยาว่าจะถูกดูดซึมได้มากหรือน้อยที่บริเวณใด ยาบางชนิดดูดซึมได้ดีบริเวณลำไส้ บางชนิดมีข้อบ่งใช้ให้อมไว้ใต้ลิ้นเนื่องจากใต้ลิ้นเองก็มีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงอยู่มาก ยาจึงสามารถถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ดี เป็นต้น แต่การที่ตัวยาสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้มันสามารถกระจายไปทั่วร่างกายได้ ก็ยังไม่ได้ตอบคำถามที่ว่า แล้วมันรู้ได้อย่างไรว่าต้องไปออกฤทธิ์ที่ส่วนไหนของร่างกาย

ภาพ : Shutterstock

 

ในกรณีสามัญที่สุดอย่างอาการปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ศีรษะ แขน ขา ต่างก็ใช้ยาเม็ดชนิดเดียวกัน ซึ่งมีส่วนผสมของตัวยาพาราเซตามอล แต่ไม่ว่าร่างกายของเราหรือยาเป็นตัวกำหนดว่า การกินยาครั้งนี้ให้ไปรักษาอาการปวดศีรษะ แขน หรือขา ยาก็จะละลายไปในเลือดที่ไหลเวียนทั่วร่างอยู่ดี มากไปกว่านั้นพวกมันนับว่าเป็นสารเคมีแปลกปลอมที่ถูกใส่เข้ามาในร่างกาย และมันต้องรีบทำงานก่อนที่ระบบคัดกรองของร่างกายอย่างตับหรือไต จะขับมันออกจากระบบอีกต่างหาก

 

โดยเมื่อยาเม็ดเข้าสู่ร่างกายก็จะแตกตัวและละลายเข้ากับสารเหลวต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบ อย่างเช่น น้ำที่คุณดื่มหลังโยนยาเข้าปาก หรือแม้แต่น้ำย่อยที่ค้างอยู่ในกระเพาะ เมื่อตัวยาแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ แล้ว มันก็จะซึมผ่านผนังของอวัยวะในระบบทางเดินทางอาหารก่อนที่จะทะลุเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาเดินทางพร้อมเลือดมุ่งสู่ตับ และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับตัวยาคือความเป็นสิ่งแปลกปลอมของมัน ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของเราจะพยายามกำจัดออก ยาบางส่วนจึงถูกคัดกรองออกที่สถานีนี้ มันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่แพทย์ผู้จ่ายยาให้กับผู้ป่วยต้องคำนึงถึงปริมาณยาที่ถูกต้อง เพื่อให้ยาที่ได้รับเข้าไปสามารถหลุดลอดการทำงานของตับ และถูกส่งไปยังส่วนที่จำเป็นต้องใช้และออกฤทธิ์ได้อย่างเหมาะสม

 

ยาที่รอดจากการคัดกรองจะหมุนเวียนอยู่ในระบบเลือดของร่างกายและถูกส่งไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายวนไปเรื่อย ๆ และมันจะกลับมายังตับซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นกัน ดังนั้น เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง ตัวยาทั้งหมดจะถูกคัดกรองและกำจัดออกจากร่างกาย อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะถึงจุดที่ยาถูกกรองออกจากเลือดจนหมด เมื่อเลือดพายาไปถึงจุดที่ต้องออกฤทธิ์ ยาที่ได้รับการออกแบบมาให้มีฤทธิ์รักษาตามอาการป่วยต่าง ๆ ก็จะทำงานทันที เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) รักษาอาการอักเสบ เมื่อเดินทางผ่านไปถึงบริเวณที่เกิดการอักเสบ มันจะเข้าทำปฏิกิริยากับพื้นที่ของร่างกายที่มีปัญหาตามปฏิกิริยาเคมีที่มันถูกออกแบบมาทันที โดยไปปิดกั้นการส่งสัญญาณความเจ็บปวดไม่ให้ส่งไปยังสมอง คุณจะไม่รู้สึกถึงอาการอักเสบหรือเจ็บ แม้ว่าส่วนนั้นของร่างกายจะยังไม่หายดีก็ตาม

 

แน่นอนว่าตัวยาอาจจะไม่สามารถทำปฏิกิริยากับอาการผิดปกติของร่างหายได้ถูกต้อง หากได้รับการวินิจฉัยที่ไม่ตรงกับอาการ ดังนั้น จึงไม่มียาครอบจักรวาลที่จะสามารถรักษาได้ทุกอาการ เพราะแต่ละอาการต้องการยาที่ทำปฏิกิริยาแตกต่างกัน


ปัจจัยที่มีผลต่อการดูดซึมของตัวยามีมากมาย โดยหลัก ๆ แล้วมักเป็นปัจจัยทางเคมี เช่น การจับคู่ไอออนของตัวยา และค่า pH ของส่วนต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาาหาร ยาที่มีฤทธิ์เป็นกรดจะละลายได้ดีในส่วนที่มีฤทธิ์เป็นด่าง เป็นต้น การเคลื่อนที่และการบีบตัวของระบบทางเดินอาหารก็มีส่วนต่อปริมาณยาที่จะได้รับการดูดซึม หากคุณรับประทานยาเข้าไปก่อนอาหารมื้อใหญ่ อาหารที่คุณรับประทานเข้าไปอาจจะเบียดให้ยาเคลื่อนที่ผ่านระบบไปเร็วกว่าปกติ มันอาจจะไปอยู่ในส่วนของระบบทางเดินอาหารที่ดูดซึมตัวยาได้ไม่ดี และนั่นทำให้คุณรับประทานยาไปแล้วไม่ได้ผล ดังนั้น หากมีข้อบ่งชี้การใช้ยาอย่างเช่น ควรรับประทานยาก่อนอาหาร 30 นาที คุณก็ควรทิ้งระยะเวลาให้ยาได้รับการดูดซึมเต็มที่ก่อนจะถูกดันโดยอาหารที่คุณรับประทานเข้าไป ชนิดของอาหารเองก็มีผลต่อการดูดซึมด้วย กลุ่มอาหารบางชนิดอาจทำให้ยาไม่สามารถออกฤทธิ์ได้เท่าที่ควร และขนาดโมเลกุลของยาก็มีผลต่อการออกฤทธิ์ เพราะยาที่มีโมเลกุลเล็กจะได้รับการดูดซึมที่ดีกว่า และแม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วยาจะได้รับการดูดซึมได้ดีเมื่อท้องว่าง แต่ตัวยาบางชนิดก่อให้เกิดการระคายเคืองกับกระเพาะอาหารได้จึงจำเป็นต้องกินหลังอาหาร เป็นต้น

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow