การสำรวจอย่างต่อเนื่องทำให้เราทราบว่า บนดาวอังคารเคยมีทะเลขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งคล้ายกับพื้นที่บางแห่งบนโลกไปแล้ว และล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการตรวจสอบตัวอย่างดินจากดาวอังคาร ซึ่งอาจจะพบเบาะแสอะไรเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต่างดาวเพิ่มเติมบ้าง และพวกเขาก็ได้พบมันจริงๆ
นักวิทยาศาสตร์พบว่า ดินบนดาวอังคารนั้นมีสารประกอบที่เรียกว่า เพอร์คลอเรต (Perchlorate) ซึ่งเมื่อถูกกระตุ้นด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเลต (UV) จากแสงอาทิตย์ จะแตกตัวเป็นสารเคมีอื่น ได้แก่ ไฮโพคลอไรต์ ( hypochlorite) และคลอไรต์ (chlorite) และเห็นได้ชัดว่ามันเป็นสารพิษที่สามารถฆ่าสิ่งมีชีวิตประะเภทจุลินทรีย์ได้ทันที โดยสารเพอร์คลอเรตนี้ แท้จริงแล้วพบได้บนโลกของเราด้วยในแถบทะเลทราย แต่มันมีความเข้มข้นน้อยกว่าในดินจากดาวอังคาร
โชคร้ายของแบคทีเรียที่การทดลองซ้ำครั้งต่อมาของนักวิทยาศาสตร์ ทำให้ทราบว่า เชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis จะมีการตายเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่าในไม่กี่นาที เมื่อทดลองใช้สารเพอร์คลอเรตร่วมกับออกไซด์ของเหล็กและไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ซึ่งมีอยู่บนดาวอังคาร แล้วกระตุ้นด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเลต ฟังดูแล้วเหมือนสารเพอร์คลอเรตจะเป็นตัวร้ายของเรื่อง แต่เปล่าเลย เพราะกรณีของเพอร์คลอเรตนั้นไม่ได้เป็นนักฆ่าโดยตัวมันเอง มันสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตหรืออินทรีย์วัตถุได้เป็นเวลาหลายปีโดยไม่ทำอันตรายกันและกัน แต่เมื่อใดก็ตามที่มันสัมผัสกับรังสีอัลตร้าไวโอเลต การฆาตกรรมหมู่อันโหดเหี้ยมก็จะเริ่มบรรเลงขึ้น และนั่นเป็นการดับฝันที่จะพบสิ่งมีชีวิตบนพื้นผิวดาวอังคารเลยก็ว่าได้
โชคดีที่ผลการทดลองดังกล่าวยังไม่ฟันธงได้ว่า ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่โหดร้ายจนเกินไปและปราศจากสิ่งที่เอื้อต่อการมีชีวิต เพราะเรายังไม่ได้ขุดลึกลงไปในดินระดับล่าง ความหวังว่าที่ระดับความลึก 2-3 เมตรจากผิวดินลงไป อาจยังมีสิ่งมีชีวิตต่างดาวซ่อนตัวอยู่ยังคงเป็นไปได้ เพราะที่ระดับนั้นรังสีอัลตร้าไวโอเลตอาจส่องลงไปไม่ถึง และดินจะช่วยป้องกันสิ่งมีชีวิตที่เหลือรอดได้อย่างดี
ภาพปก : NASA