ผู้ที่ติดยาเสพย์ติดจะมีอาการแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของยาวิธีใช้และความรุนแรงของการติดนั้น
๑. อาการจากฤทธิ์ของยา
ในระยะที่ผู้ใช้ได้รับยาเข้าไปในร่างกายและยากำลังออกฤทธิ์ก็อาจปรากฏอาการตามฤทธิ์ของยานั้น ๆ ยาที่ทำให้เกิดความมึนเมา เช่น แอลกอฮอล์ ยานอนหลับและฝิ่นอาจทำให้ผู้ใช้มีอาการซึมความคิดและการรับรู้สึกเชื่องช้าบางคนอาจมีอาการกระวนกระวา หรือคลุ้มคลั่งอาละวาดก็ได้ ผู้ใช้ยาที่ทำให้เกิดประสาทหลอนอาจแสดงอาการหวาดกลัวตื่นเต้นหรือคลุ้มคลั่งได้ สำหรับผู้ใช้ฝิ่น มอร์ฟีนหรือเฮโรอีนจะมีช่องม่านตา หรือช่องดำกลางม่านตาแคบมาก ผู้ที่ใช้ยาจนชินและมีการด้านยาแล้วอาจไม่ปรากฏอาการจากฤทธิ์ของยาชัดเจนนักก็ได้
๒. ร่องรอยของการใช้ยา
ผู้ที่ติดเฮโรอีนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่สูบบุหรี่จัดด้วยมักจะเห็นรอยคราบบุหรี่สีเหลืองที่นิ้วมือในคนที่ใช้วิธีฉีดเข้าหลอดเลือดก็จะมีรอยเข็มตามแนวหลอดเลือดที่แขนหรือขาผู้ที่ติดฝิ่นจะต้องใช้มือปั้นฝิ่นเป็นเม็ดสำหรับ สูบจะมีคราบฝิ่นสีดำติดที่นิ้วมือให้เห็นได้
๓. การเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของผู้ติดยา
ผู้ติดยาเสพติดมักจะไม่สนใจดูแลสุขภาพและอนามัยของตนเองมัวแต่สนใจต่อฤทธิ์ของยาและความพยายามที่จะหายามาสนองความอยากของตนดังนั้นจะเห็นว่าผู้ติดยาเสพติดมีสุขภาพทรุดโทรมผอมและซูบซีด ผิวหนังและเสื้อผ้ามักจะสกปรกผู้ติดยาเสพติดขั้นรุนแรงมักจะเบื่อหน่ายการงานทำให้ผลงานหรือผลการเรียนด้อยลงมักหนีงานหรือหนีเรียนบ่อย ๆ โดยที่การติดยาเป็นที่รังเกียจของสังคมผู้ติดยาจึงมักทำตัวลึกลับบางทีมีความระแวงหรือทุกข์กังวลใจอยู่เสมออารมณ์ก็หงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย พูดจา ก้าวร้าวและขาดเหตุผล
๔. อาการจากการขาดยาหรืออาการถอนยา
ผู้ที่หายาไม่ได้หรือตั้งใจจะเลิกยาสำหรับตัวยาที่มีสภาพร่างกายขึ้นกับยาด้วยแล้วจะเกิดอาการถอนยาดังได้กล่าวไว้แล้วปรากฏให้เห็นได้ในการตรวจเพื่อวินิจฉัยผู้ติดยานั้นอาจใช้การกักขังหรือกักบริเวณผู้ต้องสงสัยไว้สักพักหนึ่งและเฝ้าไม่ให้สามารถไปหายาเสพติดมาใช้ได้ผู้ที่ติดยาจะปรากฏอาการถอนยาขึ้นในเวลา ๔ ถึง ๘ ชั่วโมง ในรายที่ต้องการให้ทราบผลเร็วอาจใช้ยาที่มีฤทธิ์ต้านสารเสพติดนั้น เช่น นาลอกโซนและนาลอร์ฟีน (naloxone and nalorphine) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านมอร์ฟีนฉีดให้กับผู้ต้องสงสัยหากผู้นั้นติดยาพวกฝิ่น มอร์ฟีนหรือเฮโรอีนจะเกิดอาการถอนยาขึ้นทันทีในเวลาไม่กี่นาที
๕. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ส่วนใหญ่ใช้การตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติดนั้นหรืออนุพันธ์ของสารนั้นที่ถูกขับถ่ายออกไปทางปัสสาวะ การตรวจปัสสาวะใช้วิธีการทางชีวเคมีมีอยู่หลายวิธีทั้งการตรวจวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณที่ใช้กันมาก ได้แก่ วิธีการตรวจสี (calorimetric method) และวิธีการแยกสารและย้อมสี (chromatography) และวิธีการแบบอิมมูโนแอสเซ (immunoassay) เป็นต้น
การตรวจปัสสาวะเป็นวิธีการที่ใช้ในการตรวจหาสารที่ต้องการในปัสสาวะเท่านั้นไม่ได้บ่งถึงบุคลิกภาพของผู้ใช้ตลอดจนสภาพการติดยานอกจากนี้การมีสารดังกล่าวในปัสสาวะอาจเป็นผลจากการใช้ยานั้นในการรักษาโรคก็ได้ในประเทศไทยมียาตำรับผสมอยู่มากทั้งยาแก้ปวด แก้ไอ แก้ท้องเสียและอื่น ๆ ซึ่งมีฝิ่นหรืออนุพันธ์บางอย่างผสมอยู่และอาจมีผลให้ตรวจพบในปัสสาวะได้ในบางกรณีผู้ใช้ยาไม่ทราบด้วยซ้ำว่าในยาที่ใช้นั้นมีฝิ่นเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย