Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วัคซีนคืออะไร ทำไมต้องฉีด

Posted By Plook Creator | 14 ก.ค. 60
23,243 Views

  Favorite

ยังจำตอนเด็กสมัยประถมที่ต้องต่อแถวรอให้หมอหรือพยาบาลฉีดวัคซีน (Vaccine) ที่โรงเรียนได้ไหม ตอนนั้นทุกคนต้องถูกฉีดวัคซีนกันถ้วนหน้า เป็นเรื่องสยองสองนาทีที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยจริง ๆ เพราะเข็มแหลม ๆ นั้นมันดูน่ากลัวเอามาก ๆ แต่ถึงจะวิ่งหนี ก็จะถูกจับกลับมาฉีดจนได้อยู่ดี นั่นเพราะวัคซีนมีความสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคร้ายบางอย่างต่อเรานั่นเอง

 

วัคซีนคืออะไร

วัคซีนก็คือเชื้อโรคที่ถูกทำให้ตายหรืออ่อนแอลงโดยวิธีต่าง ๆ แล้วนำเข้าสู่ร่างกายทางใดทางหนึ่ง เช่น ฉีด เพื่อให้เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ที่เรียกรวมว่าแอนติเจน (Antigen) เข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยอันดับแรกร่างกายจะหลั่งอินเทอร์เฟียรอน (interferon) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อยับยั้งไม่ให้เชื้อกระจายไปยังเซลล์ข้างเคียง จากนั้นจะกำจัดเชื้อโดยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ พร้อมกับจดจำลักษณะของแอนติเจนชนิดนี้ เพื่อสามารถสร้างแอนติบอดีให้เข้ากำจัดเชื้อได้อย่างรวดเร็วในครั้งต่อไปที่มีแอนติเจนชนิดนี้เข้าสู่ร่างกาย การฉีดวัคซีนจึงเป็นเหมือนการเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายรู้จักเชื้อโรคและสร้างแอนติบอดีที่สามารถรับมือกับเชื้อโรคนั้น ๆ ได้ทันท่วงที

ภาพ : Shutterstock

 

ก้าวแรกของวัคซีน

จริง ๆ ชาวจีนมีเทคนิคการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ (Smallpox) มาตั้งแต่ช่วง 1000 ปีก่อนคริสตกาลแล้วละ และเทคนิคนี้ก็มีใช้กันในแถบแอฟริกาและตุรกีด้วย แต่มาเป็นจริงเป็นจังก็ตอนที่เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) นักวิทยาศาสตร์และนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ได้ทดลองผลิตวัคซีนจากเชื้อไข้ทรพิษในวัว (Cowpox) แล้วใส่ให้กับเด็ก 8 ขวบผ่านทางผิวหนัง แต่เด็กก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น 6 สัปดาห์ก็ทดลองฉีดเชื้อไข้ทรพิษให้เด็กคนเดิม ปรากฏว่าเด็กคนนั้นไม่ได้แสดงอาการใด ๆ ของโรคออกมาเลย จึงมีการทดลองเพิ่มเติมต่อ และแนวคิดนี้ก็ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในประเทศอังกฤษ แต่ในปี ค.ศ. 1840 กลับถูกสั่งห้ามให้ใช้กันทั่วไป

 

ต่อมาในปี ค.ศ. 1879 หลุย ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักเคมีและจุลชีววิทยา ชาวฝรั่งเศส ได้ค้นพบวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคเป็นครั้งแรก เขาค้นพบว่าเชื้อโรคที่ถูกทำให้ฤทธิ์อ่อนลงแล้วไม่อาจทำให้เกิดโรคได้ ซึ่งแนวคิดนี้ได้กลายมาเป็นพื้นฐานการผลิตวัคซีนในระยะหลัง หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1882 เขาก็ค้นพบวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างมาก ภายหลังวัคซีนจึงได้รับการผลักดันจนมีกฎหมายบังคับให้ฉีดวัคซีนในหลายประเทศ

 

ประเภทของวัคซีน

1. วัคซีนเชื้อเป็น (Live, attenuated vaccine)
เป็นวัคซีนชนิดที่เชื้อจุลินทรีย์ยังมีชีวิตอยู่แต่ถูกทำให้อ่อนแอลง จึงไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ วัคซีนชนิดนี้จะเข้าไปกระตุ้นให้แอนติบอดีมีการตอบสนอง และสร้างภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตแค่เพียงฉีดวัคซีนนี้ 1-2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งวัคซีนประเภทนี้ ได้แก่
    - วัคซีนไข้ทรพิษ (smallpox)
    - วัคซีนโรคหัด (Measles)/หัดเยอรมัน (rubella), วัคซีนโรคคางทูม (mumps)
    - วัคซีนโรคอีสุกอีใส (chickenpox)
    - วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่โดยการพ่น (Influenza)
    - วัคซีนไวรัสโรตา (Rotavirus)
    - วัคซีนโรคงูสวัด (Zoster, shingles)
    - วัคซีนโรคไข้เหลือง (Yellow fever)


2. วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated/killed vaccine)
เป็นวัคซีนที่เชื้อจุลินทรีย์ถูกทำให้ตายหรือไม่มีปฏิกิริยาโดยวิธีต่างๆ เช่น ให้ความร้อนสูง ผ่านรังสี หรือใช้วิธีทางเคมี แต่เนื่องจากเป็นเชื้อที่ตายแล้ว การออกฤทธิ์ของวัคซีนประเภทนี้จึงมีระยะเวลาที่สั้น แต่ก็สามารถฉีดกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาวได้ วัคซีนประเภทนี้ ได้แก่
    - วัคซีนโปลิโอ (Polio)
    - วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A)
    - วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

3. วัคซีนประเภททอกซอยด์ (Toxoid)
เป็นวัคซีนที่ผลิตจากพิษของจุลินทรีย์ โดยการนำมาทำให้ความเป็นพิษหมดไปแต่ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคได้ วัคซีนประเภทนี้ ได้แก่
     - วัคซีนคอตีบ (Diphtheria), วัคซีนบาดทะยัก (tetanus)


4. วัคซีนประเภทหน่วยย่อย/เชื่อมผนึก (Subunit/conjugate vaccine)
เป็นวัคซีนที่ผลิตจากส่วนหนึ่งของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี วัคซีนประเภทนี้ ได้แก่
    - วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B)
    - วัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยการฉีด (Influenza)
    - วัคซีนเฮโมฟิลุสอินฟลูเอนซาชนิดบี (Haemophilus influenzae type b (Hib))
    - วัคซีนไอกรน (Pertussis)
    - วัคซีนปอดอักเสบ (Pneumococcal)
    - วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal)
    - วัคซีนโรคติดเชื้อเอชพีวี (Human papillomavirus (HPV))

 

วัคซีนกับเซรุ่มต่างกันอย่างไร

วัคซีน เป็นการฉีดเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเพื่อไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาป้องกันตนเอง
เซรุ่ม เป็นการเสริมภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย ซึ่งร่างกายนำไปกำจัดเชื้อโรคได้ทันที โดยภูมิต้านทานดังกล่าว อาจสกัดมาจากเลือดสัตว์บางชนิด เช่น เซรุ่มแก้พิษงูที่สกัดจากเลือดของม้า


หากไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้ว ร่างกายอาจไม่สามารถสร้างแอนติบอดีเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคได้ทัน เด็กจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคและเสียชีวิตได้มากกว่า อีกทั้งโรคบางอย่างอาจทำให้เกิดความพิการทางร่างกายตามมาด้วย ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงมีการกำหนดให้ฉีดวัคซีนกันตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว

 

ภาพปก : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow