โอลิมปิกวิชาการ ถือเป็นโครงการด้านวิชาการที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักเป็นอย่างมาก ที่รวบรวมเด็กไทยที่มีความฉลาดจากหลายสาขาวิชาเอาไว้มากมาย และเป็นโครงการที่พัฒนาและเพิ่มทักษะทางวิชาการให้กับเยาวชนไทย ซึ่งจะเห็นได้จากผลงานที่เด็กไทยสร้างชื่อเสียงกวาดรางวัลระดับโลกมากมาย ซึ่งเป็นเครื่องการันตีความสามารถว่าเยาวชนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
โอลิมปิกวิชาการ คือโครงการของกลุ่มการแข่งขันระดับชาติในสาขาต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ ในแต่ละปีจะคัดเลือกผู้เข้าร่วมแข่งขันจากนักเรียนมัธยมปลายที่ร่วมโครงการ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ที่ได้ผ่านกระบวนการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับประเทศ ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี คอมพิวเตอร์และชีววิทยา และดาราศาสตร์ โดยคัดเลือกสุดยอดเด็กเก่งที่สุดในสาขาวิชาต่าง ๆ มาแข่งขันกันเพื่อคัดผู้มีความรู้เข้าสู่โครงการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มาเตรียมตัวฟิตความพร้อมเพื่อทำการแข่งขันฟาดฟันสติปัญญากันกับเด็กเก่งจากทั่วโลก ในการแข่งขันโอลิมปิกระหว่างประเทศ แน่นอนว่าประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันและคว้ารางวัลกลับมาเสมอ และด้วยความสามารถเหล่านี้ทำให้มหาวิทยาลัยในไทยหลายที่มีความต้องการปั้นนักศึกษาคุณภาพ จึงทำให้มีการเปิดรับพร้อมมอบสิทธิพิเศษทางการศึกษารวมถึงทุนการศึกษา ผ่านโครงการโอลิมปิกวิชาการในการเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากมาย ที่ได้รับความสนใจจากเด็กไทยทั่วทั้งประเทศ
เส้นทางการจะเป็นเด็กโอลิมปิกวิชาการนั้น แน่นอนว่าพื้นฐานสำคัญต้องเริ่มจากการเรียนที่ดี เพื่อปูทางสำหรับการเริ่มต้นในการเข้าร่วมค่าย สอวน. เพื่อร่วมเป็นเด็กในโครงการ โดย สอวน. จะมีหลายศูนย์อยู่ทั่วประเทศ สามารถเลือกที่จะเข้า สอวน. ศูนย์ไหนก็ได้โดยขึ้นอยู่กับพื้นที่ของโรงเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ เมื่อสมัครเข้าโครงการ ถ้าอยากเข้าค่าย สอวน. ก็จะต้องสอบคัดเลือกเพื่อเข้าค่าย สอวน. ค่าย 1 เมื่อสอบผ่านการคัดเลือกแล้วก็สามารถเข้าร่วมค่าย สอวน. ค่าย 1 ได้ และจะมีการจัดสอบคัดเลือกอีกเพื่อเข้าร่วมค่าย 2
เมื่อผ่านการเข้าร่วมเรียนรู้จากทั้ง 2 ค่ายของ สอวน. แล้ว หลังจากนั้นก็สามารถสอบแข่งขันกับเด็กที่ผ่านการเข้าค่ายเพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนจากศูนย์ ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในระดับชาติ เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจะต้องสอบแข่งขันในระดับชาติ แต่ละศูนย์จะเวียนกันเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน และมีรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ซึ่งผู้ที่เป็นหนึ่งในการสอบแข่งขันจะมีสิทธิ์เข้าค่าย สสวท. เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว ค่าย สสวท. จะมีการจัดสอบภาคทฤษฎีทั้งหมด 2 ครั้ง ผู้ที่ได้คะแนนสูง ๆ จะมีสิทธิ์ในการสอบภาคปฏิบัติ เพื่อคัดเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละสาขาวิชาไปเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันโอลิมปิกระหว่างประเทศ
เด็กส่วนใหญ่ที่เลือกเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการนั้น ล้วนมาจากความต้องการในการเดินตามความฝันที่ตนเองหวังไว้ และตามมาด้วยเรื่องสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่จะได้ตามมานั้นเอง ซึ่งนอกจากความพิเศษที่ตามมาแล้วยังได้ทั้งความรู้และฝึกทักษะทางวิชาการที่มีนอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียนจากการร่วมค่ายต่าง ๆ อีกด้วย โดยเด็กที่เข้าร่วมโครงการมองเห็นถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้น ทั้งมีความต้องการจะได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ อยากได้โควตาเพื่อเข้าศึกษาในคณะในฝัน รวมทั้งการเข้าศึกษาต่อในโครงการต่าง ๆ ในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเปิดรับโดยไม่ต้องทำการสอบแข่งขัน รวมทั้งการเข้าร่วมโครงการรับทุนการศึกษาต่าง ๆ ในการศึกษา ทั้งหมดนี้จึงอาจถือเป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในการเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ
สำหรับสิทธิพิเศษที่นักเรียนในโครงการโอลิมปิกวิชาการจะได้รับ คือ นักเรียนที่เป็นตัวแทนประเทศจะได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศในสาขาที่แข่งขันจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากรัฐบาล รวมถึงศึกษางานวิจัยในระดับหลังจบปริญญาเอก ส่วนนักเรียนที่ผ่านการอบรมค่าย 2 ของ สอวน.จะได้รับสิทธิเข้าศึกษาคณะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยที่มีการเปิดรับสมัคร และเด็กที่ผ่านโครงการนี้ยังมีเงินอุดหนุนจากภาคเอกชน รวมทั้งมีทุนการศึกษามอบให้อีกด้วย ซึ่งสิทธิพิเศษเหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดัน และของขวัญชิ้นโตสำหรับเด็กนักเรียนทั่วประเทศไทย ในการพัฒนาตนเองด้านวิชาการและการศึกษาเพื่อเข้าร่วมโครงการและสอบแข่งขันเพื่อหวังจะได้รับสิทธิพิเศษเหล่านี้ สำหรับการเข้าศึกษาต่อในอนาคต
ในแต่ละปีจะมีการเปิดรับสมัครเด็กนักเรียนที่สนใจร่วมโครงการจากทั่วประเทศ ซึ่งจะเปิดรับสมัครในหลายสาขาวิชา แต่สาขาชีววิทยาถือเป็นวิชาที่มีจำนวนนักเรียนสมัครเข้ามามากที่สุดในประเทศ สำหรับสาขารองลงมาคือคณิตศาสตร์ เคมีและฟิสิกส์ ส่วนสาขาคอมพิวเตอร์มีผู้สมัครน้อยที่สุด เป็นเพราะผู้แข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกต้องเก่งคณิตศาสตร์ แต่คนที่เก่งคณิตศาสตร์มักจะเลือกสอบแข่งขันในวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนเหตุผลที่เด็กสมัครสาขาชีววิทยามากเป็นอันดับหนึ่งนั้น คงหนีไม่พ้นค่านิยมและความใฝ่ฝันในการเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ และคณะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้นเอง เพราะอาชีพที่อยู่ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์นั้น ถือว่าได้รับการยอมรับจากสังคม และได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองเป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงในการทำงาน และได้รับค่าตอบแทนด้านรายได้ที่คุ้มค่า แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยความพยายาม ทุ่มเทในการเรียนและฝึกฝนหาความรู้เป็นอย่างมาก แต่ก็ได้รับความสนใจจากเด็กนักเรียนมัธยมทั่วประเทศที่ต้องการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย
สอวน. คือ โครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ มีการจัดค่ายการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ ที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มีโอกาสได้รับการพัฒนาและเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ ตามความถนัดและความสนใจ ซึ่งจะมีการจัดค่าย สอวน. เพื่อคัดเลือกเด็กจากทั่วประเทศเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในค่ายการเรียนรู้ และสอบคัดเลือกเพื่อเฟ้นหาเด็กเก่งไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ และสอบแข่งขันคัดสุดยอดเด็กเก่งจากทั่วประเทศไปรวมกับโครงการ สสวท. ต่อไป
สสวท. คือ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่คัดเลือกเด็กเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้และฝึกฝน ซึ่งความต่างของการเรียนรู้ในค่าย สสวท. นั้นเนื้อหาที่เรียนค่อนข้างยากและเจาะลึกมากกว่าค่าย สอวน. เพราะต้องฝึกเด็กสำหรับการแข่งขันระหว่างประเทศนั้นเอง สสวท. เป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจาก สอวน. ที่สอบคัดเลือกเด็กที่มีคะแนนสูงในอันดับต้นจากค่าย สอวน. ในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ เพื่อฝึกฝนเด็กที่มีความรู้เหล่านี้ในการเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันโอลิมปิกระหว่างประเทศ
สรุปการจะเข้าร่วมเป็นเด็กในโครงการ สสวท. ได้นั้นต้องผ่านการเข้าค่าย สอวน. มาก่อน ซึ่งจะต้องสมัครเข้าร่วมค่าย สอวน. ในทุกค่าย และสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกผู้ชนะจากทุกศูนย์ มาแข่งขันกัน และสอบคัดเลือกผู้ที่มีคะแนนสูงสุด เพื่อเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ ผู้ที่มีคะแนนสูงสุดติดอันดับในแต่ละสาขาวิชา จะได้ร่วมเป็นหนึ่งในโครงการ สสวท. เพื่อเข้าฝึกฝนและพัฒนาความรู้ ความสามารถ ในการเตรียมตัวเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกระหว่างประเทศนั้นเอง
อย่างที่ทราบกันแล้วว่าการจะเป็นเด็กโอลิมปิกวิชาการได้นั้นไม่เรื่องง่าย เด็กที่จะเข้าร่วมโครงการต้องผ่านการฝึกฝนและสอบคัดเลือกหลายครั้ง แน่นอนว่าความพยายามที่ทำมาย่อมไม่สูญเปล่า การพยายามที่เต็มย่อมสมควรได้รับผลตอบแทน เด็กที่ผ่านการเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการมาแล้วนั้น แม้บางคนจะไม่ผ่านเข้ารอบเป็นหนึ่งในโครงการ สสวท. เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศเข้าแข่งขัน แต่ความตั้งใจและการเรียนรู้ที่ผ่านมา ก็การันตีได้ว่าเด็กกลุ่มนี้มีความสามารถระดับหัวกระทิ ซึ่งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศมีความต้องการนักศึกษาที่มีคุณภาพมาร่วมสถาบัน จึงทำให้หลายมหาวิทยาลัยเปิดโครงการต่าง ๆ ในคณะ/สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ เพื่อเปิดรับเด็กหัวกระทิที่ผ่านการเข้าค่าย สอวน. เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
เด็กที่ผ่านโครงการ สอวน. สามารถรับสิทธิพิเศษเข้าศึกษาผ่านโครงการต่าง ๆ ที่เปิดรับเด็กที่ผ่านการเข้าค่ายโครงการดังกล่าวมาก่อน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีสิทธิพิเศษเข้าศึกษาได้โดยไม่ต้องสอบเข้าแข่งขัน สามารถยื่นหลักฐานการผ่านค่าย สอวน. แก่มหาวิทยาลัยเพื่อเข้าศึกษาตามคณะ/สาขาวิชาที่สนใจ นอกจากนี้ยังมีโอกาสขอรับทุนตามโครงการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย ส่วนเด็กที่ผ่านโครงการ สสวท. นอกจากจะได้รับสิทธิพิเศษที่ได้จากการผ่านค่าย สอวน. แล้ว เด็กกลุ่มนี้ยังได้รับทั้งทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัย ทุนเรียนต่อต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งทุนศึกษาและทำวิจัยในระดับสูงอีกมากมาย เรียกว่าโครงการ สอวน. และ สสวท. นั้นเปรียบเสมือนใบเบิกทางด้านการศึกษาที่ดีแก่นักเรียนที่จะศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ให้ได้รับสิทธิและการพิจารณาพิเศษมากกว่าเด็กนักเรียนธรรมดาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเสียเวลาฟาดฟันสอบแข่งขันกับคนทั้งประเทศเพิ่มอีกแล้ว เพราะปลายทางมีสถาบันการศึกษาเปิดประตูรอรับอยู่แล้วนั้นเอง แต่ยังไงก็ตามกว่าจะได้รับสิทธิพิเศษเหล่านี้ในการเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ก็ต้องแลกมาด้วยความขยัน อดทน ฝึกฝน และตั้งใจอย่างเต็มที่ เพื่ออนาคตที่หวังไว้ในการศึกษาในมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยนเรศวร
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ศูนย์ สอวน.วิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยบูรพา
มหาวิทยาลัยศิลปากร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยทักษิณ
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
โรงเรียนเตรียมทหาร
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
โรงเรียนเทพศิรินทร์
โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
มหาวิทยาลัยรามคำแหง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ศูนย์ สอวน. กรุงเทพมหานคร เปิดรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อเข้าค่าย 1 ประมาณเดือนสิงหาคม
ศูนย์ สอวน. ภูมิภาค เปิดรับสมัครไม่ตรงกับศูนย์ กทม.สามารถดูรายละเอียดการรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ ศูนย์ สอวน. ภูมิภาคทั่วประเทศ
ค่าย 1 จะอบรมประมาณเดือน ตุลาคม พฤศจิกายน
ค่าย 2 นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจากค่าย 1 จะเข้าอบรมค่าย 2 ประมาณเดือนมีนาคม เมษายน
ชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ เดือนเมษายน
ดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ เดือนพฤษภาคม
คณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ เดือนพฤษภาคม
ฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ เดือนมิถุนายน
เคมีโอลิมปิกระดับชาติ เดือนมิถุนายน
คอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ เดือนมิถุนายน
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยทักษิณ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) สืบค้นจาก https://www.posn.or.th
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สืบค้นจาก https://www.ipst.ac.th