ประมาณ ๔๐ กว่าปีมานี้ ทางชีววิทยา ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ สนใจวิธีการสร้างภาพแสดงรายละเอียดภายในของวัตถุจากการฉายภาพ (projection) ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ ๒ ภาพขึ้นไป ด้วยการผ่านรังสีเอกซ์ หรือรังสีแกมมา เข้าไปในวัตถุนั้น แล้วนำผลลัพธ์มาทำภาพกลับ จะได้ภาพหน้าตัดของวัตถุนั้นกลับคืน เรียกว่า "โทโมแกรม" (tomogram) ถ้าต้องการภาพ ๓ มิติก็ให้ถ่ายภาพโทโมแกรมจำนวนมากมาเรียงซ้อนกัน
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ กอดเฟรย์ เฮาน์สฟิลด์ (Godfrey Hounsfield) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษทำงานอยู่กับบริษัท อีเอ็มไอ จำกัด ณ เมืองเฮส์ (EMI Limited of Hayes) มิดเดิลเซ็กซ์ (Middlesex) ประเทศอังกฤษ ได้จดสิทธิบัตร ที่กรุงลอนดอนประกาศกรรมสิทธิ์เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ให้ชื่อเรียกว่า "อีเอ็มไอสแกนเนอร์" (EMI scanner) ใช้ถ่ายภาพสมองของมนุษย์ เพื่อตรวจดูเนื้องอก พยาธิ เลือด ออกในสมอง และความผิดปกติอื่นๆ ในสมอง ต่อมาได้ พัฒนาให้ถ่ายภาพหน้าตัดได้ทั่วทั้งร่างกายเรียกชื่อว่า "ซีเอที" หรือ "คอมพิวเตอร์ไรซ์แอกเซียลโทโมกราฟิกสแกนเนอร์" (CAT; computerized axial tomographic scanner หรือ computer-aided axial tomographic scanner) ซึ่งคน ไทยเรียกง่ายๆ ว่า "เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์" โดยใช้ หลักการที่ว่า เครื่องเอกซเรย์ฉายแสงเป็นจังหวะไปรอบๆ ร่างกายของมนุษย์ ที่ต้องการถ่ายเอกซเรย์ และเครื่องรับแสงเอกซเรย์ที่อยู่ตรงข้าม จะเปลี่ยนแสงเอกซเรย์ให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า เข้าไปเก็บไว้ในจาน หรือแถบแม่เหล็ก แล้วนำสัญญาณไฟฟ้าเหล่านี้ เข้าไปวิเคราะห์ ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อได้ผลลัพธ์ออกมาก็นำไปเก็บในส่วนความจำ และพิมพ์ภาพออกมา หรือแสดงเป็นภาพทางจอโทรทัศน์