Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ผิวโค้ง

Posted By Plookpedia | 10 ก.ค. 60
1,896 Views

  Favorite

 

ผิวโค้ง (Surface)

 

เมื่อเรามองดูสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น เครื่องใช้ และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หรือของที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น ผลไม้ ร่างกายของมนุษย์ และ สัตว์ ลำต้น ไม้ ฯลฯ เราจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นลักษณะผิวโค้ง

 

 

ผิวโค้งของเปลือกไข่ เป็นเส้นโค้งปิด

 

 

ในทางคณิตศาสตร์ถือว่า ผิวโค้งเกิดจากการที่เส้นตรงหรือเส้นโค้งเคลื่อน ที่ไปอย่างมีกฎเกณฑ์ เช่น ผิวของเปลือกไข่ หรือผิวของผลไม้เป็นตัวอย่างของผิว โค้งปิด ส่วนผิวโค้งรูปทรงกรวย ผิวของถังน้ำ ถ้วยแก้ว และ ภาชนะต่างๆ เป็น ผิวโค้งเปิด

 

ผิวโค้งที่เกิดจากการหมุน
เมื่อหมุนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบด้านๆ หนึ่ง จะได้รูปทรงเรียกว่าทรงกระบอก ด้านที่อยู่กับที่ เรียกว่า แกนหมุน หรือแกนของทรงกระบอก ทรงกระบอกที่ได้มีแกนตั้งฉากกับฐาน

 

 

 

 

โดยทั่วไป ถ้าเราเคลื่อนเส้นตรงให้ขนานกับเส้นตรงที่เส้นหนึ่ง และ ให้เส้นที่เคลื่อนที่นั้นสัมผัสเส้นโค้งซึ่งอยู่ในพื้นระนาบ (เส้นตรงนี้ต้องไม่อยู่ในพื้นระนาบนี้ด้วย) ก็จะได้ผิวโค้งเรียกว่า ผิวทรงกระบอก ทั้งสิ้น ถ้าเส้นตรงคงที่ไม่ได้ตั้งฉากกับระนาบของเส้นโค้งรูปทรงกระบอกที่ได้จะเป็นรูปทรงกระบอกเอียง เส้นโค้งที่ฐานอาจจะเป็นเส้นโค้งเปิดแบบพาราโบลาหรือแบบไฮเพอร์โบลาก็ได้ ผิวที่เกิดจากการเคลื่อนที่เส้นตรง ก็ยังคงเรียกว่า ผิวทรงกระบอก แต่ผิวโค้งทั้งสองข้างจะกางออกไปไม่สิ้นสุดเราเรียกว่า ทรงกระบอกเปิด

 

 

 

 

ถ้าหมุนรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก รอบด้านที่ตั้งฉากด้านหนึ่งรูปที่ได้จะเป็น รูปกรวยมีฐานเป็นวงกลม ด้านที่อยู่กับที่เรียกว่าแกนของรูปกรวย จุดยอดหรือ ยอดกรวยจะอยู่บนแกนนี้ โดยทั่วไปแล้วแกนหมุนไม่จำเป็นต้องตั้งฉากกับฐาน ความหมายทางคณิตศาสตร์ของรูปกรวยก็คือ รูปที่ได้จากการเคลื่อนเส้นตรงให้ ปลายหนึ่งสัมผัสเส้นโค้งที่อยู่ในพื้นราบ และ อีกปลายหนึ่งอยู่คงที่ที่จุดๆ หนึ่งนอกระนาบของเส้นโค้งนั้น


เส้นตรงสองเส้นที่ตัดกัน ให้เส้นหนึ่งอยู่คงที่ และ หมุนอีกเส้นหนึ่งรอบเส้นที่อยู่คงที่ โดยให้มุมระหว่างเส้นตรงทั้งสองคงที่อยู่ตลอดเวลา รูปที่ได้จะเป็นรูปกรวยมีปลายสองทาง และ มีจุดยอดรวมกันตรงจุดตัดของเส้นตรงทั้งสอง เมื่อใช้ระนาบตัดกรวยแบบนี้ จะได้รอยตัดเป็นวงกลม วงรี พาราโบลา ไฮเพอร์โบลา หรือเส้นตรงคู่ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น


เมื่อหมุนวงกลมรอบเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นหนึ่งจะได้รูปทรงกลม แต่ถ้าหมุนวงกลมรอบเส้นตรงเส้นหนึ่งที่อยู่นอกวงกลม แต่ยังคงอยู่ในระนาบเดียวกันกับวงกลมนั้น ก็จะได้รูปทรงเป็นแบบยางในของรถยนต์ หรือห่วงพวงชูชีพ

รูปทรงที่ได้จากการหมุนรูปวงรีรอบแกนยาว จะมีลักษณะคล้ายผลแตง ไทยหรือลูกรักบี้ (rugby) นักคณิตศาสตร์เรียกผิวโค้งรูปทรงนี้ว่า รูป อิลลิปซอยด์ (ellipsoid) ถ้าหากว่า หมุนรูปวงรีรอบแกนสั้นบ้าง จะได้รูป มีลักษณะอย่างไร ?

 

 

รูปอิลลิปซอยด์

 

 

ไฮเพอร์โบลามีสองส่วนไม่ติดต่อกัน ฉะนั้นเมื่อหมุนไฮเพอร์โบลารอบ เส้นตรงที่ตั้งได้ฉากกับแกนของรูป ที่จุดกึ่งกลางของแกน และ ในระนาบเดียวกับ ไฮเพอร์โบลา ผิวโค้งที่ได้จะมีเพียงชิ้นเดียวเรียกว่า รูปไฮเพอร์โบลอยด์ชนิดชิ้นเดียว (Hyperboloid of one sheet) มีลักษณะคอดตรงกลาง และ ผายออกไปไม่สิ้นสุดทั้งสองปลาย นักออกแบบเครื่องประดับบ้านมักจะออกแบบเก้าอี้นั่งเล่นให้มี รูปร่างอย่างนี้ นอกจากนี้ เราอาจจะเห็นแจกัน และ ถ้วยแก้วบางชนิด ก็มีรูปทรง เช่นนี้ด้วย

 

 

ผิวโค้งไฮเพอร์โบลอยด์ชนิดสองชิ้น

 

 

ถ้าเปลี่ยนแกนหมุนโดยเอาแกนของไฮเพอร์โบลาเป็นแกนหมุน รูปที่ได้ จะเป็นรูปคล้ายโคมไฟฉายสองโคมหันหลังให้กัน และ กัน เราเรียกผิวโค้งเช่นนี้ว่า ไฮเพอร์โบลอยด์ชนิดสองชิ้น (Hyperboliod of two sheets)

 

 

 

การหมุนพาราโบลารอบแกนของรูป จะได้ผิวโค้งมีลักษณะรูปโคมไฟฉาย เรียกกันว่า ผิวโค้งพาราโบลอยด์ (paraboloid) ซึ่งมีคุณสมบัติทางแสงเป็นพิเศษ เมื่อวางจุดกำเนิดแสงสว่างไว้ตรงโฟกัส (ตรงจุด F) ของรูป แสงจะกระทบผิวโค้ง แล้วสะท้อนเป็นลำแสงขนานกับแกนของรูปไปจนถึงระยะอนันต์ และ ลำแสงที่ส่องมาไกลๆ เช่น จากดวงอาทิตย์ เมื่อมากระทบผิวโค้งนี้ ก็จะมารวมกันที่จุดโฟกัสพอดี นักดาราศาสตร์ได้ประดิษฐ์กล้องโทรทัศน์โดยใช้ผิวโค้งพาราโบลอยด์ เป็นผิวโค้งที่รับแสง หรือรับคลื่นวิทยุจากดวงดาว ทำให้มนุษย์สามารถทราบความลี้ลับของจักรวาล
 

ผิวเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน เช่น แก้ว ถังน้ำ กระโถน หม้อหุงต้ม อาหาร หลอดไฟ ฯลฯ มีลักษณะเป็นผิวโค้งที่เกิดจากการหมุน ระฆังก็มีลักษณะเป็นผิวโค้งที่เกิดจากการหมุนเช่นกัน

ผิวโค้งที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของเส้นตรง

เราอาจจะสร้างผิวโค้งจากเส้นตรงโดยใช้หลักการที่คล้ายกับการเขียนเส้น โค้งจากเส้นตรงในระนาบได้ดังนี้ 

ใช้ไม้อัดหรือแผ่นพลาสติกสามแผ่นรูปจัตุรัสขนาดกว้างด้านละ 6 นิ้ว เจาะรูไม้อัดนี้เป็นแถวๆ ให้แต่ละแถวห่างกัน 1/4  นิ้ว และ ในแต่ละแถวให้รูปห่างกัน 1/4  นิ้ว เช่นเดียวกัน ประกอบไม้อัดหรือแผ่นพลาสติกทั้งสามแผ่นนี้ให้ตั้ง ฉากกัน และกัน ใช้ด้ายไนลอนสีสอดขึ้นจากรูแถวริมนอกที่สุดของแผ่นไม้อัดแผ่นล่าง (รูหมายเลข 9) แล้วนำไปสอดที่รูปล่างสุดของแถว ก ในแผ่นตั้ง ดึง ด้ายให้ตึงแล้วสอดเส้นด้ายออกทางรูที่สองนับจากข้างล่างในแถว ข ของแผ่นตั้ง ดึงด้ายให้ตึง แล้วกลับมาสอดลงในแถวนอกที่สุด ในรูปถัดไปทางซ้ายมือของรูแรก (รูหมายเลข 8) และ นำด้ายสอดขึ้นจากรูหมายเลข 7 แล้วกลับไปสอดเข้ารูที่ 3 นับจากข้างล่างของแถว ค ของแผ่นตั้ง ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนครบทุกรูของแถว นอกของแผ่นล่าง และ ทุกรูในแนวเส้นทแยงมุมของแผ่นตั้งชุดของเส้นตรงเหล่า นี้จะเรียงกันไปจนดูคล้ายผิวโค้ง ถ้าเจาะรูไม้อัดหรือแผ่นพลาสติกให้ถี่มากขึ้นเท่าใด ลักษณะของเส้นด้ายก็จะเป็นผิวโค้งมากขึ้น

 

 

 

 

โดยใช้หลักการเดียวกันนี้ เราอาจนำไปสร้างแบบแสดงลักษณะของผิวโค้งที่เกิดจากเส้นตรงหลายชุด ด้วยการสอดเส้นด้ายให้ออกจากรูปในแถวหนึ่งของไม้แบบแผ่นล่าง แล้วสอดเส้นด้ายเข้าในแถวทแยงมุมของไม้แบบแผ่นตั้ง ที่อยู่ทางซ้ายหรือทางขวาก็ได้ ผู้อ่านจะสังเกตวิธีการได้จากรูปต่อไปนี้ และ อาจจะนำไปประดิษฐ์แบบอื่นๆ ต่อไปอีกได้

เมื่อสังเกตธรรมชาติรอบๆ ตัวเรา จะแลเห็นว่าส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นผิวโค้ง และ มีขอบเป็นเส้นโค้ง เราจะแลเห็นความคล้ายคลึงกัน ระหว่างผิวโค้ง และ เส้นโค้งทางคณิตศาสตร์กับทางธรรมชาติ ธรรมชาติสร้างสิ่งต่างๆ อย่างมีระเบียบแลดูสวยงามคล้ายกับมีกฎเกณฑ์กำหนดไว้ การสร้างเส้นโค้ง และ ผิวโค้ง ทางคณิตศาสตร์ก็เป็นไปอย่างมีกฎเกณฑ์ และ วิธีการ ด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์ เราสามารถหาความยาวของเส้นโค้ง และ หาเนื้อที่ของผิวโค้งได้ ตลอดจนสามารถหาปริมาตรรูปทรงที่ผิวโค้งนั้นห่อหุ้มอยู่ มนุษย์สามารถนำผลจากการศึกษาในเรื่องเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ทั้งในทางวิทยาศาสตร์ ทางศิลปะ ทางการ ออกแบบ ทำให้ผลิตผลทางหัตถกรรม และ ศิลปกรรมดูงดงามยิ่งขึ้น

 

 

 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow