"เขา" ที่ว่าคือข้อมูล คือผลงานวิจัย คือวารสารทางการแพทย์ คือผลการทดลองที่ได้รับการยืนยันจากหลายสถาบันว่า จมูกของคนเรามีความสามารถทางด้านการดมด้อยกว่าสัตว์หลายชนิด อันที่จริงเกือบจะแย่ที่สุดก็ว่าได้ แต่การดมที่ด้อยกว่าสัตว์ชนิดอื่นก็ไม่ได้ทำให้เราใช้ชีวิตได้แย่กว่า เรามีประสาทสัมผัสด้านอื่นที่มาทดแทน รวมถึงการประมวลผลในสมองที่เป็นเลิศมาร่วมด้วย
ข่าวดีจากการศึกษาไม่นานมานี้คือ จมูกของเราไม่ได้แย่อย่างที่คิด มันยังพอมีดีอยู่บ้าง สุนัขสามารถตรวจหาวัตถุระเบิด ตามหาคนจากเศษเสื้อผ้า หรือแม้แต่มุดลงรูเพื่อตามล่าตัวตุ่น หมูมีความสามารถในการดมกลิ่นที่เป็นเลิศเช่นกัน มันสามารถถูกฝึกให้ดมกลิ่นสัญญาณโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ก็มีความสามารถในการดมที่ดีกว่าคน สัตว์หลายชนิดสามารถดมกลิ่นฉี่หรือฮอร์โมนที่เพศตรงข้ามปล่อยเอาไว้ตามจุดต่าง ๆ เพื่อหาคู่ได้ รวมถึงรับรู้ได้ว่าคู่ที่มันตามหาพร้อมผสมพันธุ์หรือยัง เป็นต้น แต่การดมกลิ่นของคนเราก็สามารถบอกอะไรได้มากกว่าแค่กลิ่นของอาหาร น้ำเสีย หรือแม้แต่ควันไฟ เพราะความสามารถในการรับกลิ่นของคนเป็นการทำงานของสมองในระดับซึ่งจดจำกลิ่นแต่ละกลิ่นที่เคยสูดดมเข้าไป จับคู่กับสิ่งที่รับรู้ หรือเห็นตรงหน้า เช่น กลิ่นอาหารเมนูโปรดซึ่งคุณแม่ทำให้คุณกิน และคุณเองก็คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก หากได้กลิ่นเหล่านั้นอีกครั้ง ภาพความทรงจำจะย้อนกลับมาให้เห็นในหัว ภาพอาหาร ครัว แม่ คุณในวัยเด็ก ความสุข ความเศร้า ความโหยหา ความทรงจำ หรือแม้แต่บทสนทนาที่เคยได้พูดคุยในช่วงนั้นจะย้อนกลับมา
สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแล้วการรับกลิ่นเป็นการทำงานสอดประสานกันระหว่างจมูกและสมองส่วนหน้า ที่เรียกว่า Olfactory bulb ในการดักจับเอาสารเคมีที่ล่องลอยอยู่ในอากาศและละอองโมเลกุลที่มาตกอยู่กับเซลล์ประสาทสัมผัสรับรู้กลิ่น เนื้อเยื่อบริเวณที่รับกลิ่นจะมีความชื้นเพื่อทำละลายโมเลกุลเหล่านั้น ก่อนที่จะส่งต่อสัญญาณประสาทไปยัง Olfactory bulb และไปยังสมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum) เพื่อแปลข้อมูลว่าเป็นกลิ่นอะไรต่อไป
และเหมือนกับประสาทสัมผัสชนิดอื่น ๆ ของคนเรา การดมกลิ่นก็มีความจำเป็นในฐานะเครื่องมือเพื่อการเอาตัวรอดของมนุษย์ และเมื่อวิวัฒนาการของมนุษย์เราถูกขับเคลื่อนด้วยประสาทสัมผัสด้านอื่น หรือแม้แต่พึ่งพิงการประมวลผลของสมองมากขึ้น เชื่อกันว่าประสาทสัมผัสด้านการดมจึงถูกลดทอนความสามารถลงตามไปด้วย การศึกษาไม่นานมานี้นำเสนอว่าการเปรียบเทียบความสามารถด้านการดมกลิ่นของคนกับสัตว์ชนิดอื่น อาจจะเหมือนการเปรียบเทียบว่าปลาห่วยกว่าลิงเนื่องจากลิงปีนต้นไม้ได้ดีกว่า แต่ปลาปีนไม่ได้ ในเบื้องต้นของการศึกษาเรื่องประสาทสัมผัสด้านการดมกลิ่นนั้น เราเริ่มต้นจากการเปรียบเทียบปริมาณตัวรับสัมผัสหรือตัวรับกลิ่นที่มีใน Olfactory bulb สำหรับสัตว์หลายชนิดมีเนื้อเยื่อส่วนนี้เยอะและอยู่ในกระโหลกส่วนหน้าติดกับสมองซึ่งรับเอาสัญญาณประสาทด้านการดมกลิ่นต่อมาจากต่อมต่าง ๆ ในโพรงจมูกและส่งให้กับสมอง รวมถึงสัดส่วนของเนื้อเยื่อชนิดนี้เทียบกับสมองแล้วมีอัตราส่วนมากกว่า สำหรับคนเรานั้น Olfactory bulb อยู่เป็นส่วนหนึ่งของสมองและมีสัดส่วนเพียงน้อยนิด จึงทำให้คิดได้ว่าเราคงดมกลิ่นไม่ได้ดีไม่ได้เก่งเท่ากับสัตว์ชนิดอื่น