การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการเกษตรที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการจัดทำระบบข้อมูลเพื่อการเกษตรซึ่งอาจมีทั้งระดับท้องถิ่นระดับชาติและระดับนานาชาติสำหรับระดับนานาชาตินั้นอาจจะเริ่มด้วยสำมะโนเกษตรนานาชาติซึ่งสถาบันการเกษตรระหว่างประเทศ (International Institute of Agriculture) ได้เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยมีประเทศต่างๆร่วมเก็บข้อมูลรวม ๔๖ ประเทศ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ องค์การอาหารและเกษตร (FAO) ก็รับงานต่อจากสถาบันการเกษตรโดยเก็บสถิติต่างๆ เช่น ขนาดที่ดิน การใช้ที่ดิน จำนวนคนและสัตว์ ผลผลิตจากไร่นา ป่าไม้ และสัตว์น้ำ สำหรับ พ.ศ. ๒๔๙๓ นั้นมีประเทศ และอาณาเขตร่วมโครงการด้วย ๕๒ ประเทศ และ ๕๔ อาณาเขต ข้อมูลต่างๆ ที่เก็บรวบรวมนี้ ถ้าประเทศใดมีทุนพอก็ให้เก็บทั้งหมด ประเทศใดมีทุนไม่พอก็อาจจะใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง และวิธีอื่น เมื่อรวมข้อมูลต่างๆ ได้แล้ว ก็จะต้องประมวลข้อมูล ซึ่งประเทศส่วนมากต้องใช้คอมพิวเตอร์ช่วย สำหรับการจัดทำสำมะโนเกษตรในประเทศไทยนั้น เดิมสำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำ และใช้คอมพิวเตอร์ของสำนักงาน ช่วยในการประมวลผล แต่ต่อมาได้มีการพิจารณาที่จะแยกงานสำมะโนเกษตรออกมาต่างหาก จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อาจจะจัดทำเอง
นอกจากจะเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์แบบสำมะโนเกษตรแล้ว ยังอาจใช้คอมพิวเตอร์ช่วยทำแบบจำลองพยากรณ์ความต้องการ พยากรณ์ผลผลิตด้านการเกษตร เช่น ถ้าจะมีความต้องการข้าวเหนียวจำนวนหนึ่ง ถ้ามีตัวเลขจำนวนพื้นที่สำหรับปลูกข้าวเหนียว และอัตราผลผลิตต่อไร่ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ มีผลการพยากรณ์อากาศ และมีข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพร้อมอยู่ ก็จะพยากรณ์อากาศ และมีข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพร้อมอยู่ ก็จะพยากรณ์ได้ว่า มีผลผลิตเท่าใด ถ้าเกิดปรากฏการณ์นอกสภาพที่คาดคะเนไว้ เช่น เกิดโรคระบาด เกิดฝนแล้ง หรือน้ำท่วม ผิดแผกแตกต่างไปจากที่พยากรณ์ไว้ ก็รับส่งข้อมูลใหม่ ให้เครื่องช่วยพยากรณ์ได้ตัวเลขใหม่ออกมา ถ้าน้อยกว่าความต้องการ ก็หาทางป้องกันแก้ไข เช่น ห้ามส่งข้าวเหนียวที่เหลือจากปีก่อนออกนอกประเทศ ปีนี้จะได้มีบริโภคภายในประเทศอย่างเพียงพอ เป็นต้น
ตัวอย่างการใช้แบบจำลองอีกอย่างหนึ่ง ที่กำลังจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในประเทศไทยก็คือ โครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นในภาคเหนือ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเครื่องหนึ่ง โดยความช่วยเหลือของมูลนิธิฟอร์ด เพื่อใช่ช่วยประมวลผลในโครงการดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะหาพืชพันธุ์ต่างๆ ๓ ชนิด มาปลูกแทนฝิ่น ให้ชาวบ้านมีรายได้ดีเท่ากับปลูกฝิ่น ถ้าไม่ใช่แบบจำลองช่วย ก็อาจจะต้องทดลองทำจริง สิ้นเปลืองงบประมาณ สิ้นเปลืองเวลามากมายกว่าจะทราบผล ถ้าใช้แบบจำลองช่วย ก็อาจต้องปลูกจริงเฉพาะในกรณีตัวอย่าง ถ้าพื้นที่แบบนี้ ขนาดนี้ และฤดูนี้ ปลูกพืชชนิดใด ใช้กำลังคนเท่าใด กำลังเครื่องจักรเท่าใด ใช้ปุ๋ยเท่าใด ใช้น้ำเท่าใด และจะได้ผลอย่างใด เป็นต้น
สำหรับด้านปุ๋ยและอาหารสัตว์นั้น ขณะนี้มีบริษัทในเมืองไทย ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยงานวิเคราะห์ เช่น ในเรื่องอาหารสัตว์ มีสูตรอยู่ว่า ต้องผสมอะไรบ้าง ต้องการคุณภาพ อย่างไร เช่น ต้องมีโปรตีน มีวิตามินต่างๆ มีกากร้อย ละไม่น้อยกว่าที่กำหนด รวมข้อจำกัดทั้งหมด ๕๐-๖๐ ข้อ สำหรับส่วนประกอบ ๔๐-๕๐ ชนิด จากนั้นก็ใช้คอมพิวเตอร์ ทำชุดคำสั่งเชิงเส้น (linear programming) ออกมาว่าใช้ส่วน ประกอบใดเท่าใด จึงจะได้อาหารที่ถูกต้องตามข้อจำกัด และราคาถูกที่สุด เมื่อราคาส่วนประกอบเปลี่ยนแปลง เช่น ปลาป่นขึ้นราคาไปร้อยละ ๓๐ ก็ต้องนำข้อมูลนี้เข้าคอมพิวเตอร์ใหม่ คำนวณออกมาว่า จะใช้ส่วนประกอบอย่างใด ซึ่งจะได้ราคาต้นทุนต่ำที่สุด มีตัวอย่างอยู่กรณีหนึ่ง คือ ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทผสมอาหารสัตว์ ใช้เวลาหลายวันวิเคราะห์ด้วยมือออกมาว่า สำหรับราคาส่วนประกอบในขณะนั้น ต้นทุนจะเป็นประมาณถุงละ ๔๐๐ บาท พอนำข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ใช้เวลาคำนวณ ๑/๒ นาที ลดต้นทุนลงเหลือ ประมาณ ๓๐๐ บาท ฉะนั้น จึงมีบริษัทผสมอาหารสัตว์หลายบริษัท จัดหาคอมพิวเตอร์มาใช้
ตัวอย่างการใช้คอมพิวเตอร์อีกด้านหนึ่งก็คือ ด้าน การผสมพันธุ์พืชและสัตว์ เช่น ถ้าจะหาพันธุ์ข้าวที่ออกผลเร็ว มีความต้านทานโรคสูง ก็อาจจะเอาข้าวพันธุ์ดีที่มีอยู่แล้ว มาผสมกับหญ้าคาที่มีความต้านทานโรคสูง หรือถ้าอยากจะได้กุหลาบพันธุ์สวยๆ ก็เอาพันธุ์กุหลาบต่างๆ มาผสมกัน สมมติว่าขณะนี้มีกุหลาบอยู่หนึ่งหมื่นพันธุ์ และมีวิธีผสมพันธุ์กันได้เป็นพันๆ วิธี ฉะนั้นการจะเก็บประวัติว่าพันธุ์ใด ผสมกันได้พันธุ์ใหม่ชื่ออะไร มีลักษณะอย่างไรบ้าง จะตรวจสอบว่า พันธุ์ที่คิดจะผสมใหม่นี้มีใครเคยผสมมาก่อนหรือไม่ ก็จะต้องเสียเวลาค้นหามากมาย นอกจากว่า จะใช้คอมพิวเตอร์ตรวจ
นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วก็ยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ในด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรกรรม อาจจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในด้านการวิเคราะห์ราคาผลิตผล และรายได้ การตีราคานาไร่ ระบบการเงินเพื่อการเกษตร ระบบการเก็บภาษีด้านเกษตรกรรม ระบบการค้าผลิตผลทาง การเกษตร ระบบสหกรณ์การเกษตร และกฎหมายการเกษตร เป็นต้น