หมายถึง การติดตามรักษาพยาบาลประชาชนทั่วไป ทุกโรค ทุกระดับอายุ วัตถุประสงค์ที่สำคัญก็คือ เพื่อจะตรวจให้พบว่า คนไข้เป็นโรคอะไรหรือไม่ ถ้าเป็น ก็ควรจะพบตั้งแต่เริ่มเป็น จะได้รักษา และติดตามการรักษาให้อาการทุเลาลง หรือหายขาดจากโรคนั้นๆ ได้ การรักษาพยาบาลทั่วไปนี้ หมายรวมถึง การจัดมาตรการป้องกัน เช่น ปลูกฝี ฉีดยา ป้องกันไม่ให้คนไข้เป็นโรคต่างๆ ที่มีทางป้องกันได้
ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ประชาชนแต่ละคนจะต้องมีแพทย์ประจำตัว หรือแพทย์ประจำครอบครัว (family doctor) แม้จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรเลย ประชาชนแต่ละคนก็ควรจะไปหาแพทย์อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อให้ตรวจร่างกายทั่วไป เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องตามไปพบแพทย์ประจำตัว ก่อนที่จะพบแพทย์คนอื่น แพทย์ประจำตัวจะต้องเป็นผู้ตรวจวินิจฉัย และสั่งการรักษาพยาบาล ฉะนั้นแพทย์ประจำตัวต้องเป็นผู้ที่รอบรู้เรื่องโรคทุกชนิด ทั้งอาการ และการรักษา จะต้องรอบรู้เรื่องของคนไข้แต่ละคน และทุกคนว่า มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เคยเป็นโรคอะไรบ้าง เคยผ่าตัดหรือไม่ เคยแพ้ยาอะไรหรือไม่ แพทย์ประจำตัวจะต้องใช้ข้อมูลมากมายในการตัดสินใจ แต่ความสามารถของคนธรรมดานั้น ย่อมมีจำกัด ไม่สามารถจะจำข้อมูลนับหมื่น นับแสนรายการได้ ฉะนั้น จึงน่าจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการจดจำ และค้นหาข้อมูลเหล่านั้น
งานต่างๆ ที่คอมพิวเตอร์อาจจะช่วยทำได้ในการรักษาพยาบาลทั่วไป ดังกล่าวข้างต้น อาจจะแบ่งได้ดังนี้
๑. งานทะเบียนและประวัติคนไข้
๒. งานปลูกฝีและฉีดวัคซีน
๓. งานทะเบียนการเป็นโรค
๔. งานข้อมูลเพื่อการปฏิบัติงาน
การทำงานนี้หาก ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ มักจะใช้บัตรกระดาษบันทึกชื่อ ที่อยู่ อายุ และเลขประจำตัวของคนไข้แต่ละคน คนละบัตร นำเข้าแฟ้มเรียงกัน ในการนี้เมื่อคนไข้เก่ามาแจ้งว่าเป็นคน ไข้เก่า ก็ต้องรอนานกว่าเจ้าหน้าที่จะหาบัตรพบ จึงมักจะแจ้งเป็นคนไข้ใหม่ การทำบัตรใหม่ใช้เวลาน้อยกว่า ไม่ต้อง รอนาน เพื่อขจัดปัญหาเกี่ยวกับบัตรดังกล่าวนี้ จึงได้มีการ บันทึกข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ และเรียกหาจากคอมพิวเตอร์ โดยผ่านจอโทรทัศน์ ต่อจากนั้น อาจสั่งให้คอมพิวเตอร์จัดทำรายงานโดย
๑) เรียงตามเลขประจำตัวคนไข้
๒) เรียงตามตัวอักษรของชื่อ
๓) จัดกลุ่มตามอายุ เช่น ผู้หญิงอายุ ๓๕-๖๔ ปี สำหรับคนไข้ที่ควรจะตรวจภายในเป็นระยะๆ เป็นต้น
๔) จัดกลุ่มตามเขตของที่อยู่
๕) จัดกลุ่มตามปีที่เริ่มมาเป็นคนไข้ของโรงพยาบาล หรือสำนักแพทย์
๖) จัดกลุ่มตามเพศ แต่งงานแล้วหรือโสด
รายการที่คอมพิวเตอร์พิมพ์ออกมาให้ไว้ข้างบนนี้ อาจ จะช่วยในการหาบัตรของคนไข้ได้ และช่วยในการทำสถิติต่างๆ
ในระบบคอมพิวเตอร์นั้น นายแพทย์แต่ละคน สามารถกดปุ่มบนแป้นพิมพ์ของเครื่องเหล่านี้ เพื่อดูประวัติ รายละเอียดการตรวจรักษาพยาบาล การแพ้ยา และการฉีด วัคซีนต่างๆ ของคนไข้คนหนึ่งคนใดได้ทันทีบนจอโทรทัศน์ เพื่อประกอบการวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ได้ง่าย ถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจใช้ เครื่องรับส่งข้อมูลแบบนี้ต่อเข้ากับเครื่องพิมพ์ขนาดเล็ก เพื่อ พิมพ์ใบสั่งยา และใบกำกับสินค้าได้โดยสะดวกอีกด้วย
การใช้คอมพิวเตอร์ใน งานนี้จะช่วยให้ประชาชนได้รับการปลูกฝีฉีดวัคซีนป้องกัน อย่างถูกต้องครบถ้วนมากขึ้น โดยการบันทึกทะเบียนการ เกิดของเด็กทุกคนที่เกิดในเขตต่างๆ และปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ ด้วยการเปลี่ยนแปลงรายการ อันเนื่องมาจากการตาย การย้ายที่อยู่ เป็นต้น ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเขตสามารถใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์รายงานให้ทุกเดือนว่า มีเด็กอายุครบกำหนดจะต้องปลูกฝี ฉีดวัคซีน ชนิดใดในแต่ละเดือน พร้อมทั้งพิมพ์ใบเตือนเพื่อส่งไปให้ถึง บ้าน ในใบเตือนนั้นอาจจะระบุด้วยว่าให้ผู้ปกครองนำเด็กไป ปลูกฝี ฉีดวัคซีนที่ใด วันเวลาใด พร้อมกันนั้นคอมพิว- เตอร์ก็จะพิมพ์รายการนัด (appointment list) ส่งไปให้แพทย์ หรือพยาบาล ผู้มีหน้าที่ฉีดยาปลูกฝีว่า คอมพิวเตอร์ได้นัดบุคคลใดให้มาพบเมื่อใด เพื่อรับบริการอะไร เมื่อเด็กมาพบและ รับบริการแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ส่งรายการกลับไปให้คอมพิวเตอร์ บันทึกไว้ สำหรับเด็กที่ไม่มาพบตามนัด คอมพิวเตอร์ก็จะ จัดพิมพ์ใบเตือน ๓-๔ ครั้ง ถ้ายังไม่มาพบอีก ก็อาจส่ง รายการให้เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ เพื่อดำเนินการต่อไป
แพทย์แต่ละคนอาจจะ ตรวจรักษาคนไข้ในแต่ละเดือนนับเป็นพันๆ ราย แต่ละราย มีข้อมูลให้บันทึกหลายรายการ เช่น มีอาการอย่างไร เป็น มานานเท่าใด ผลการตรวจเป็นอย่างไร ผลการทดลองเป็น อย่างไร ให้ยาอะไร และได้ผลอย่างไร เป็นต้น ใน อังกฤษได้มีโครงการเก็บข้อมูลเหล่านี้ โดยให้คอมพิวเตอร์ พิมพ์เลขประจำตัวคนไข้ วันที่คนไข้นัดจะมาพบ และแพทย์ ขีดเลือกคำตอบในแบบฟอร์มสำหรับแพทย์ หรือพยาบาลทำ เครื่องหมายบ่งผลการตรวจวินิจฉัยโรคและวิธีการรักษา โดยใช้เวลากรอกแบบฟอร์ม ประมาณ ๑๐ วินาทีต่อคนไข้หนึ่งคน นำแบบฟอร์มนี้ส่งเข้าคอมพิวเตอร์พิมพ์รายงานต่างๆ ซึ่ง ได้แก่
รายงานแยกประเภทตามชนิดของโรค เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ กามโรค ฯลฯ ว่าเขตใดมีคนไข้เป็นโรคอะไรมาก และตรงกับระยะเวลาใดของปี เช่น ในหน้าฝนมีคน เป็นไข้หวัดกันมาก เป็นต้น
รายงานความถี่ของการพบแพทย์ เพื่อจะได้ทราบว่ามี คนไข้กลุ่มใดพบแพทย์มากเป็นพิเศษหรือไม่ ในบางแห่งที่รัฐจัดบริการรักษาพยาบาล โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ปรากฏว่า มีคนไข้วัยชราชอบมาพบแพทย์ เพราะเหงาไม่มีใครจะคุยด้วย จากสถิติแห่งหนึ่งในบรรดาคนไข้ประมาณ ๕๐๐ ราย พบแพทย์รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑,๐๐๐ ครั้ง ในเดือนนั้น ปรากฏว่า เป็นการพบของคนไข้เพียง ๗๒ คน เป็นจำนวน ๒๑๐ ครั้ง ฉะนั้นจากข้อมูลนี้ ถ้าเราทราบว่า คนไข้จำนวนมากในบรรดา ๗๒ คนนี้ ย้ายบ้านหรือตายไป งานของแพทย์คนนี้ก็จะลด ลงมาก
รายงานเมื่อเกิดโรคระบาด เพื่อจะได้ทราบว่าควรจะเรียกคนไข้กลุ่มใดมาฉีดยาป้องกันหรือไม่ เช่น เมื่อโรคหัดเยอรมันระบาด ก็ให้คอมพิวเตอร์พิมพ์ใบเตือนส่งไปให้สตรี มีครรภ์ทุกคนมาตรวจ และหรือฉีดวัคซีนป้องกัน เป็นต้น
รายงานว่าคนไข้กลุ่มใดได้รับการปลูกฝี ฉีดวัคซีน และตรวจร่างกายทั่วไปล่าช้าเกินไป ต้องเตือนให้มาพบแพทย์
ในการจัดเวลาปฏิบัติ งานของโรงพยาบาลและคลินิกบางแห่ง บางวันอาจมีปัญหา ที่แพทย์บางคนมีคนไข้มาก จนไม่มีเวลาให้กับคนไข้แต่ละคนมากเท่าที่คนไข้ต้องการ และบางวันแพทย์บางคนก็ไม่มีคนไข้ การนำข้อมูลต่างๆ เช่น ทะเบียนคนไข้ ทะเบียนอาการ เป็นโรค สถิติต่างๆ และรายการนัดพบแพทย์ เป็นต้น ส่งเข้าคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ช่วยจัดรายการล่วงหน้าว่า วันใด แพทย์คนไหนควรจะมาพบคนไข้จากเวลาเท่าใดถึงเท่าใด ถ้าแพทย์คนใดจะหยุดพักผ่อนประจำปี ก็ให้คอมพิวเตอร์เสนอ แนะว่าจะให้แพทย์คนใดดูแลคนไข้คนใดแทน หรือให้เลื่อนนัดคนไข้ที่ไม่เร่งด่วนอย่างไร คลินิกแห่งนี้ควรจะมีแพทย์ ด้านใดเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในทางตรงกันข้ามก็อาจจะพิจารณาว่า ควรจะลดแพทย์ด้านใดลงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม รายงาน ของคอมพิวเตอร์นี้ก็เป็นเพียงข้อเสนอแนะ การปฏิบัติตามหรือไม่อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ซึ่งอาจต้องพิจารณาความเหมาะสมด้านอื่นๆ ด้วย
อาจจะใช้ได้ตั้งแต่ระดับชาติลงมาถึงระดับโรงพยาบาล ในระดับชาตินั้น ก็มีตัวอย่าง เช่น การบริการสาธารณสุข แห่งสหราชอาณาจักร (British National Health Service) และคณะกรรมาธิการกิจกรรม และบุคลากรโรงพยาบาล (Commission on Professional and Hospital Activities) ซึ่งเป็นองค์การอิสระไม่ค้ากำไรในสหรัฐอเมริกา
ในระดับชาติ หรือระดับจังหวัดนั้น การนำข้อมูลเข้ารวมไว้ในคอมพิวเตอร์ อาจนำมาใช้ประโยชน์ ดังนี้
๑) หาสถิติระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติว่า ในด้านการเกิด การตาย การเป็นโรคต่างๆ นั้น มีแนวโน้มอย่างไร
๒) หาสถิติการใช้บริการด้านสาธารณสุข และความจำเป็นในการจัดบริการด้านสาธารณสุข เพื่อวางแผนจัดบริการด้านสาธารณสุข
๓) เก็บสถิติสำหรับวิเคราะห์โรคระบาด เช่น ถ้ามีไข้หวัดใหญ่ระบาด อหิวาต์ระบาด จะร้ายแรงมากน้อยเพียงใดอย่างไร
๔) เก็บสถิติในรูปแบบมาตรฐาน ให้แพทย์สามารถนำไปใช้ศึกษาวางแผนว่า จะให้บริการแก่คนไข้ของตนอย่างไร
ตัวอย่างของสถิติที่อาจใช้ในการวางแผนด้านสาธารณสุข เช่น การใช้โรงพยาบาลในการคลอดบุตร เราจะมีสถิติว่า โดยเฉลี่ยคนไข้เข้ามาเจ็บท้องอยู่นานเท่าใดจึงจะคลอด เวลาคลอดมีปัญหามากน้อยเพียงใด คลอดแล้ว จะต้องให้บริการพิเศษเพียงใด แก่แม่และเด็ก รวมแล้วแม่และเด็ก ต้องอยู่โรงพยาบาลนานเท่าใด ขณะนี้มีหญิงวัยตั้งครรภ์ มากน้อยเท่าใด อัตราการตั้งครรภ์มากน้อยเท่าใด มี สถานที่ เช่น ห้องคลอด ห้องพักฟื้น ห้องเลี้ยงเด็ก ฯลฯ เพียงพอหรือไม่ และมีแพทย์เพียงพอหรือไม่ เป็นต้น
อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นเรื่องคนไข้ภายนอก ซึ่งอาจมีการ เก็บข้อมูลไม่เพียงพอ เพราะจำนวนคนไข้ภายนอกมากมาย ระยะเวลาที่แต่ละคนจะพบแพทย์ก็น้อย แพทย์ไม่มีเวลาจด ข้อมูลต่างๆ เช่น จำนวนครั้งที่มาพบ ระยะเวลาที่ต้องรอ จากวันขอนัด จนถึงวันที่ได้พบ รายการตรวจสอบ และผล การตรวจสอบจากการส่งเข้าโรงพยาบาล หรือจากการส่งให้ ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ใน การบริหาร จึงควรหาทางเก็บรักษาข้อมูลไว้
นอกจากการใช้คอมพิวเตอร์ในการบริหารด้านการ แพทย์ในระดับชาติ ระดับภาค ระดับจังหวัดแล้ว ยังมีการใช้คอมพิวเตอร์ในการบริหารระดับโรงพยาบาล หรือสำนักงานแพทย์ เช่น ในด้านบัญชีและการเงิน ในด้านเวชระเบียน ในด้านการกำหนดการใช้อุปกรณ์การแพทย์และสถิติ ต่างๆ เป็นต้น
ในด้านบัญชีและการเงิน อาจจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วย วิเคราะห์รายได้ รายจ่ายของโรงพยาบาล จัดเรียกเก็บเงิน จากคนไข้ ทำบัญชีรายรับ ค้างรับ รายจ่าย ค้างจ่าย จัด พิมพ์เช็ค และจัดกำหนดการจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ให้เงินกู้ เป็นต้น
ตัวอย่างในด้านบัญชีที่ใช้กันมากก็คือ บัญชีเงินเดือน สำหรับจ่ายเงินให้แพทย์ พยาบาลและพนักงานต่างๆ ของ โรงพยาบาล ทำรายงานวิเคราะห์รายจ่ายด้านเงินเดือน และ เก็บสถิติต่างๆ เพื่อใช้ในการวางแผน
โรงพยาบาลต่างๆ มักจะมีแผนกยา มียาชนิดต่างๆ ขนาดต่างๆ มากกว่าสินค้าในร้านค้าหลายแห่ง ฉะนั้น จึงอาจใช้คอมพิวเตอร์ช่วยทำบัญชียาคงคลัง บัญชีการสั่ง ซื้อยา บัญชีรับยาที่สั่งซื้อเข้ามา บัญชีจ่ายยาออก เมื่อยาประเภทใดถึงจุดที่ควรจะสั่งเพิ่ม ก็ให้คอมพิวเตอร์ช่วยทำรายงานเตือนให้ โดยอาจจะเสนอด้วยว่าควรสั่งจากผู้ขายรายใด ผู้ขายรายนั้นๆ จะส่งให้ได้ในเวลาเท่าใด การเก็บ เงินของผู้ขายรายนั้นๆ เก็บช้าหรือเร็วเพียงใด มีส่วนลดให้ หรือไม่ ทำทะเบียนเสนอว่า ยาอะไรค้างอยู่ในคลังนานแล้ว จะหมดอายุแล้วหรือไม่มีใครใช้เลยในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมาถ้าจะเลิกเก็บไว้ เมื่อถึงคราวต้องใช้จะหาได้จากที่ใด เป็นต้น
อีกด้านหนึ่งซึ่งอาจใช้คอมพิวเตอร์ช่วยได้ก็คือ การ จัดการใช้ตึก ใช้ห้อง ใช้เครื่องอุปกรณ์ต่างๆ เริ่มโดยการเก็บข้อมูลว่า มีตึกอะไรบ้าง แต่ละตึกมีห้องอะไรบ้าง เช่น ห้องผ่าตัด ห้องพักฟื้น และห้องพักคนไข้ประเภท ต่างๆ เป็นต้น มีอุปกรณ์ และเครื่องมืออะไรบ้าง จากนั้น เมื่อมีผู้ใดขอใช้ห้อง หรือเครื่องมือ คอมพิวเตอร์ก็จะบอก ได้ว่ามีว่างหรือไม่ เมื่อใด ถ้ามีการขอใช้มาก แต่มีเครื่องใช้ไม่พอก็อาจเสนอให้จัดหาเพิ่มขึ้น หรือถ้ามีเครื่องใช้มากแต่ใช้น้อย ก็จะได้ใช้เป็นข้อมูล ระงับการสั่งซื้อมาเพิ่ม อาจจะ มีการพิมพ์รายงานเตือนว่าเครื่องไม้เครื่องมือชิ้นหนึ่งๆ นั้น ถึงเวลาที่จะต้องตรวจสอบซ่อมแซมแก้ไข หรือเกือบจะหมด อายุจะต้องจัดหาใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการบริหารก็ อาจเป็นไปในรูปแบบของการเก็บสถิติต่างๆ เช่น จำนวนเตียงที่ว่าง จำนวนเตียงที่มีคนไข้ จำนวนคนไข้ที่เข้าโรง พยาบาล จำนวนคนไข้ที่ออก จำนวนวันที่คนไข้พักอยู่ใน โรงพยาบาล จำนวนคนไข้ใหม่ จำนวนคนไข้ที่รอจะเข้า โรงพยาบาล สถิติคนไข้แบ่งตามเพศ ตามอายุ และตาม จำนวนวันที่อยู่ในโรงพยาบาล จำนวนคนไข้แบ่งตามเหตุ ที่เข้าโรงพยาบาล เช่น ย้ายจากโรงพยาบาลอื่น ได้รับ บาดเจ็บโดยกะทันหัน อาหารเป็นพิษ และเข้ามาจากบัญชีรอ เป็นต้น
ปัจจุบันนี้แพทย์ใช้การทดลองประกอบการวินิจฉัยมากขึ้น เช่น ให้ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และอุจจาระ เป็นต้น โรงพยาบาล และห้องทดลองต่างๆ จึงได้เพิ่มจำนวนพนักงาน จ้างนิสิตนักศึกษามาทำงานในระหว่างการศึกษา ปรับปรุงวิธีการทดลองให้ง่ายขึ้น จัดหาเครื่องมือที่สามารถช่วยวัดผลให้รวดเร็วขึ้น จนในที่สุดสามารถทำการทดลองให้เสร็จสิ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้างในแง่ที่ว่า แม้จะทำการทดลองได้ผลในเวลารวดเร็ว แต่แพทย์จะต้องรออยู่เป็นเวลานานจึงจะได้รับผล ฉะนั้น เมื่อได้รับผลจึงอาจใช้คอมพิวเตอร์ช่วยตามจุดต่างๆ เพื่อให้ผลถึงมือแพทย์รวดเร็วขึ้น
เริ่มจากจุดที่ห้องทดลองได้รับตัวอย่าง (specimens) จากคนไข้พร้อมกับใบสั่งจากแพทย์ว่าให้ทดสอบอะไรบ้าง พนักงานห้องทดลองจะต้องจัดเตรียมลำดับการทดสอบว่า จะทำอะไรก่อนหลังอย่างไร ถ้าห้องทดลองมีงานมากมาย คอมพิวเตอร์ก็อาจช่วยจัดกำหนดตารางเวลาการทดลองให้ และช่วยส่งผลการทดลองให้คนไข้ได้ถูกต้อง
สถานเอกซเรย์บางแห่งในสหรัฐอเมริกา ใช้เครื่อง คอมพิวเตอร์ในงานเอกซเรย์ ซึ่งสามารถตรวจดูว่าปอดนั้น ปกติหรือไม่ ถ้าปกติ ก็แจ้งผลให้ได้ทันที โดยไม่ต้องรบกวนแพทย์ ถ้าไม่ปกติจึงจะส่งให้แพทย์วินิจฉัยต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องคอมพิวเตอร์โทโมกราฟี (tomo graphy) ใช้สำหรับเอกซเรย์ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ทุกส่วน
ห้องทดลองแต่ละแห่งอาจจะต้องทำการทดลอง ๕๐ -๗๐ อย่าง หรือมากกว่านั้น ในการทดลองแต่ละชนิด แต่ละครั้ง ก็อาจจะใช้วิธีชั่งตวงวัดแบบต่างๆ ใช้วิธีผสม สารเคมีให้เกิดสีต่างๆ ใช้วิธีความร้อนวัดความเร็วในการทำ ปฏิกิริยา หรือใช้เครื่องวัดเป็นกระแสไฟฟ้าว่า คงที่ หรือ เพิ่มขึ้น หรือลดลง ห้องทดลองใหญ่ๆ อาจมีเครื่อง วิเคราะห์อัตโนมัติ (auto analyzer) หลายเครื่อง แต่ละ เครื่องทำการวิเคราะห์ได้ประมาณ ๖๐ ตัวอย่างต่อชั่วโมง ใน วันหนึ่งๆ พนักงานคนหนึ่งอาจต้องอ่านตารางหรือกราฟถึงพันครั้ง เพื่อให้ได้ตัวเลขซึ่งจะต้องนำไปคำนวณปรับอีกนับพันครั้ง เพื่อควบคุมคุณภาพของการทดลอง (quality control) ทั้งนี้เพราะเครื่องมักจะเกิดการคลาดเคลื่อน (drift) และการที่พนักงานแต่ละคนต้องอ่านตารางหรือกราฟ และคำนวณเป็นพันๆ ครั้งเช่นนี้ ทำให้เกิดการผิดพลาดได้ง่าย เพราะคนเรานั้น เมื่อต้องทำงานอะไรซ้ำๆ มากๆ ก็เกิดอาการเบื่อหน่าย เมื่อยล้า ฉะนั้น ในต่างประเทศจึงมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ต่อเข้ากับเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ และคำนวณหาผลการทดลองได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
จากผลการทดลองที่คอมพิวเตอร์ได้รับนั้น คอมพิวเตอร์สามารถพิมพ์รายงานผล ส่งให้แพทย์ผู้สั่งการทดลอง บันทึกประวัติคนไข้ และจัดทำสถิติต่างๆ สำหรับใช้ในการบริหารต่อไป
ในสหรัฐอเมริกาได้มีการทดลองให้คอมพิวเตอร์ช่วยตรวจคนไข้ในเมืองเล็กๆ ที่ไม่มีแพทย์ ในห้องตรวจคนไข้ ในเมืองเล็กๆ โดยมีพยาบาล มีโทรทัศน์ต่อถึงโรงพยาบาลในเมืองใหญ่ แพทย์ในเมืองใหญ่ก็เห็นคนไข้บนจอโทรทัศน์ คนไข้ก็อาจจะเห็นแพทย์ในจอโทรทัศน์เช่นกัน แพทย์อาจจะบอกให้คนไข้ถอดเสื้อผ้าถ้าจำเป็น ให้พยาบาล ช่วยวัดความดันโลหิต วัดการเต้นของหัวใจ กดท้องว่าเจ็บหรือไม่ มีอะไรเป็นก้อนแข็งหรือไม่ ตรวจหู คอ จมูก ฯลฯ ต่อจากนั้น แพทย์หรือพยาบาลก็อาจจะส่งข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ว่า จากอาการต่างๆ นั้น มีทางเป็นโรคอะไรได้บ้าง ปกติแล้ว จากอาการชุดใดชุดหนึ่ง แพทย์อาจจะนึกได้ว่า เป็นอาการของโรคต่างๆ ๕-๖ อย่าง แต่ตามหลักวิชา อาการชุดนั้น อาจจะเกิดขึ้นจากโรคเป็นสิบๆ อย่างที่แพทย์เคยทราบ แต่จำไม่ได้ขณะนั้น ฉะนั้นคอมพิวเตอร์อาจจะช่วยเตือนความจำแพทย์ และแนะนำว่า ควรจะตรวจสอบ หรือทดลองอะไรต่อไป จึงจะทราบว่า น่าจะเป็นโรคอะไร จากนั้นแพทย์ก็อาจจะใช้ข้อมูลอื่นๆ ที่คอมพิวเตอร์ไม่มี เช่น ขณะนั้นมีโรคอะไรระบาดอยู่ และสงสัยว่า คนไข้จะเป็นโรคนั้น ก็สั่งให้ทำการทดลอง เพื่อยืนยันว่า เป็นโรคนั้นหรือไม่
โดยวิธีการเช่นนี้ แพทย์หนึ่งคนอาจจะควบคุมการ ตรวจวินิจฉัยคนไข้ได้หลายคน ในหลายสถานที่ในเวลาเดียวกัน
เมื่อแพทย์ตกลงวินิจฉัยว่า คนไข้เป็นโรคอะไรแล้ว อาจจะสั่งยาหลายประเภท คอมพิวเตอร์จะช่วยตรวจข้อมูลของคนไข้ ที่ได้เก็บเข้าคอมพิวเตอร์ไว้แล้วว่า คนไข้ผู้นั้นแพ้ ยาอะไรหรือไม่ ถ้าแพ้ยาที่แพทย์สั่งก็อาจเสนอว่าให้ใช้ยาอะไรแทน ให้แพทย์เลือกใหม่ได้ หรือเมื่อสั่งยาไปแล้ววันรุ่ง ขึ้นคนไข้ติดต่อต่อมาว่าอาการไม่ทุเลา หรือมีอาการอะไรเพิ่ม แพทย์อาจจะสั่งเปลี่ยนยาบางรายการ ในกรณีนี้คอมพิวเตอร์ ก็อาจจะช่วยตรวจอีกว่า ยาใหม่นี้มีปฏิกิริยากับยาเก่า ที่ยังไม่ได้สั่งให้เลิกหรือไม่ ถ้ามีก็อาจเสนอให้เปลี่ยนได้
ในบางกรณี เมื่อตรวจขั้นต้นแล้ว แพทย์ยังวินิจฉัย ไม่ได้ว่าคนไข้เป็นอะไร แพทย์อาจจะตรวจเพิ่มเติม โดยขอให้ทดลองวัดผลเพิ่มเติมอีกมากมายหลายอย่าง เมื่อได้ข้อมูลมามากๆ แล้ว ในทางทฤษฎีแพทย์ก็ควรจะมีความมั่นใจ มากขึ้นว่าคนไข้เป็นโรคอะไร แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่ามี แพทย์บางคนกลับงงเมื่อได้ข้อมูลมากเกินไป เพราะโดยหลักกว้างๆ แล้ว ถ้ามีข้อมูลมากขึ้น คอมพิวเตอร์ก็อาจจะ ใช้ข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์มากขึ้น แต่สำหรับคน ย่อมมีจุดจำกัดที่จะรับข้อมูลไปใช้ ฉะนั้นจึงควรใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในกรณีนี้ เมื่อได้ข้อมูลมามากๆ แล้ว คอมพิวเตอร์ก็อาจจะเสนอการตรวจสอบทดลองเพิ่มเติม เพื่อยืนยัน แล้วเสนอเฉพาะผลการยืนยันนั้นให้แพทย์พิจารณา
อีกโครงการหนึ่งที่เคยมีผู้ทำก็คือ ใช้คอมพิวเตอร์ สัมภาษณ์คนไข้ ใช้โทรทัศน์และพิมพ์ดีดให้คนไข้พิมพ์ โต้ตอบกับคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่ามีประโยชน์ในบางกรณี เช่น คนไข้หญิงมักจะกล้าให้ข้อมูลส่วนตัวกับคอมพิวเตอร์ มากกว่ากับแพทย์ชาย เป็นต้น
การสอน และการตรวจวินิจฉัยโรค อาจจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วย โดยแสดงภาพคนไข้พร้อมอาการให้นักศึกษาถามคำถาม สั่งตรวจทดลอง คอมพิวเตอร์เสนอผลการทดลองให้ทราบ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า เป็นโรคอะไร ให้สั่งการรักษา และให้คอมพิวเตอร์ใช้เลขสุ่มเสนอผลการรักษา เป็นต้น
ทางด้านการวิจัย มีการใช้คอมพิวเตอร์มากมาย หลายโครงการ เช่น ในเมืองไทยมีการวิจัยการแพ้ยา เป็นต้น
ในต่างประเทศ มีการใช้คอมพิวเตอร์ทำแบบจำลอง ด้านการแพทย์ต่างๆ เช่น การระบาดของโรค การควบคุมการทดลอง การติดตามวัดผล และการรักษาคนไข้ เป็นต้น มีการใช้หุ่นยนต์คอมพิวเตอร์ช่วยคนไข้ที่ตกใจอย่าง กะทันหันจนพูดไม่ได้ ให้สามารถพูดได้อีกครั้งหนึ่ง มีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยตรวจสมองว่า เป็นเนื้องอกหรือไม่ ถ้าเป็น ก็ให้คอมพิวเตอร์ควบคุมการส่งรังสีเอกซ์ให้ไปรวมกัน ณ จุดเนื้อร้าย เพื่อเผาเนื้อร้ายนั้น มีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการหาสูตรผสมยา และตรวจสอบสูตรที่เสนอมาว่า เป็น สูตรใหม่นั้น ใหม่จริงหรือไม่ เป็นต้น