๑) นำเมล็ดข้าวสาลีมาบดให้แตกด้วยโม่หิน หรือโม่กาแฟ (โม่โลหะ) เมล็ดที่แตกแล้ว ใช้ทำโจ๊ก ข้าวต้ม ถ้านำมาลวกน้ำเดือดสัก ๒๐ นาที ก็นำมาทำยำสลัด ข้าวผัด ข้าวสาลีต้มสุกทั้งเมล็ด ใช้ทำขนมประเภท ข้าวเหนียวเปียก และข้าวโพดคลุก
๒) นำเมล็ดข้าวสาลีที่บดแตกแล้ว มาโม่ต่อ จนเป็นแป้ง ได้แป้งสาลี สำหรับทำขนมปัง ซาละเปา บะหมี่ โรตี โดนัต เค้ก ปาท๋องโก๋
๓) นวดแป้งสาลีให้เป็นก้อน แล้วเอาไปล้างน้ำ จะได้ "มี่กึง" (gluten) เอามี่กึงไปต้มสุก จะได้เนื้อเทียม ซึ่งเป็นโปรตีนจากพืช ใช้ทำอาหารเจ เช่น แกงลูกชิ้น พะโล้ ได้
๔) ใช้ทำแบะแซ (น้ำเชื่อมข้น) โดยการเพาะเมล็ดข้าวสาลี ที่มีความงอกดีในกระบะไม้นาน ๗ วัน เอาต้นกล้าอ่อนไปโขลก คั้นกรองเอาส่วนที่เป็นของเหลว (เอนไซม์) แล้วเอาของเหลวไปเคี่ยวกับปลายข้าวเหนียว หมักไว้ประมาณ ๒ ชั่วโมง แล้วคั้นเอาน้ำเชื่อมข้นออกมา
๕) ใช้ทำซีอิ๊ว และเต้าเจี้ยว โดยใช้เมล็ดถั่วเหลือง และเมล็ดข้าวสาลี คั่วแล้วบดในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน หมักด้วยเชื้อ Aspergillus sojae
๖) เชื้อชีวิตและรำ ใช้เป็นอาหารของมนุษย์ได้ มีคุณค่าทางอาหารสูง และมีกากอาหาร ช่วยการขับถ่ายของลำไส้ใหญ่
๗) เพาะเมล็ดให้งอก แล้วนำไปประกอบอาหารแบบถั่วงอก
๘) ใช้ทำเชื้อเห็ดบางประเภท โดยผสมเมล็ดข้าวสาลีที่นึ่งสุกกับรำละเอียด เอาบรรจุในขวดแบน แล้วเขี่ยเชื้อจากอาหารวุ้นใส่
๙) ใช้เมล็ดสุกหมักกับส่า เพื่อทำเป็นเมรัย หรือกลั่นเป็นสุรา
๑๐) ใช้เมล็ดทำข้าวนึ่ง แล้วเอาไปทำอาหาร
๑๑) ฟางใช้เลี้ยงสัตว์กินหญ้า เช่น วัว ควาย ใช้ มุงหลังคา ใช้ทำตุ๊กตาฟาง