จะต้องเลือกพันธุ์ข้าวสาลีให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม รวมทั้งการนำไปใช้ประโยชน์ พันธุ์ข้าวสาลีที่เหมาะสำหรับปลูกในประเทศไทย มีดังนี้
สะเมิง ๑ (INIA ๖๖)
เหมาะสำหรับปลูกในภาคเหนือตอนบน ค่อนข้างต้านทานโรคราสนิมใบ ให้แป้งอเนกประสงค์ที่มีคุณภาพดี มีโปรตีนสูง (๑๒-๑๕%) เหมาะสำหรับทำขนมปัง
สะเมิง ๒ (Sonora ๖๔)
เป็นข้าวสาลีพันธุ์เบา ทนร้อน เหมาะสำหรับปลูกในสภาพไร่อาศัยน้ำฝน และปลูกหลังนาปี ไม่ต้านทานโรคราสนิมใบ แป้งมีความยืดหยุ่นปานกลาง แป้งมีสีคล้ำ มีโปรตีนสูง (๑๒-๑๔%) แป้งใช้ทำขนมปังได้
ฝาง ๖๐ (# ๑๐๑๕)
เหมาะสำหรับปลูกในที่ร้อนและแห้งแล้ง ทั้งในสภาพไร่อาศัยน้ำฝน และสภาพนาชลประทาน ในภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีช่วงฤดูหนาวสั้น ค่อนข้างต้านทานโรคราสนิมใบ ให้แป้งอเนกประสงค์ โปรตีนปานกลาง (๑๐-๑๑%) เหมาะสำหรับทำคุกกี้ บิสกิต และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ต้องการแป้งที่เหนียวมาก
แพร่ ๖๐ (UP ๒๖๒)
เหมาะสำหรับปลูกในเขตชลประทานที่เป็นสภาพนาดินเหนียวปนทราย ภูมิอากาศค่อนข้างหนาวในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่อนข้างต้านทานโรคราสนิมใบ ให้แป้งอเนกประสงค์ มีโปรตีนปานกลาง (๑๐-๑๑%) เหมาะสำหรับทำคุกกี้ ปาท่องโก๋ โรตี
อินทรี ๑ (KU HR # ๑๒)
เหมาะสำหรับปลูกในเขตชลประทาน ใช้ทำแป้งอเนกประสงค์ได้
อินทรี ๒ (KU HR # ๖)
ทนอากาศร้อนและแห้งแล้งได้ดี ใช้ทำแป้งอเนกประสงค์ได้
การเตรียมเมล็ดพันธุ์
เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ต้องมีความงอกไม่ต่ำกว่า ๘๐% นำเมล็ดพันธุ์ใส่อ่างแช่ในน้ำสะอาด ตากแดดนาน ๑๕ นาที เอาเมล็ดขึ้น เกลี่ยบนผ้าใบ หรือผ้าพลาสติก ตากแดดจนแห้งสนิท แล้วเอาไปปลูกทันที ห้ามเก็บเมล็ดข้ามวัน ถ้าไม่ทำดังกล่าว จะใช้เมล็ดแห้งปลูกก็ได้
ใช้สารเคมีจำนวน ๒ ชนิด คลุกเมล็ดก่อนปลูก โดยผสมเข้าด้วยกัน ได้แก่
๑. คาร์โบซัลฟาน (carbosulfan) เป็นสารเคมีป้องกันแมลงที่อยู่ในดิน ใช้ในอัตรา ๕ กรัมต่อน้ำหนักเมล็ดข้างสาลี ๑ กิโลกรัม
๒. คาร์บ็อกซิน (carboxin) เป็นสารเคมีป้องกันโรคต้นแห้ง อันเกิดจากเชื้อรา ใช้ในอัตรา ๐.๕-๒.๕ กรัมต่อเมล็ดหนัก ๑ กิโลกรัม
เมื่อคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีแล้ว ให้คลุกเมล็ดกับปุ๋ยเคมีสูตร ๑๕-๑๕-๑๕ อัตราปุ๋ยเคมี ๓ กิโลกรัมต่อเมล็ดพันธุ์ข้าวสาลี ๒ กิโลกรัม