จากหลักฐานที่ปรากฏ คนไทยเริ่มรู้จักใช้แป้งสาลีประกอบอาหารในสมัยกรุงศรีอยุธยา จากจดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยามของบาทหลวงตาชาร์ด เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๘ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวว่า ขนมปังหาซื้อได้ยาก และมีราคาแพง เพราะต้องซื้อแป้งสาลีจากเมืองสุหรัด (ประเทศอินเดีย) หรือจากญี่ปุ่น ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๙ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ กัปตันเทาน์เซนต์ แฮริส ได้บันทึกไว้ว่า ต้องนำแป้งสาลีมาจากฮ่องกง เพื่อใช้ทำขนมปังสำหรับงานเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง เพราะจะหาขนมปัง และแป้งสาลีที่กรุงเทพฯ ไม่ได้
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นายอาริยันต์ มันยีกุล ข้าราชการกรมเกษตรฯ ไปราชการที่จังหวัดแพร่ ในระหว่างฤดูหนาว ได้สังเกตสภาพภูมิประเทศแล้วเห็นว่า น่าจะปลูกข้าวสาลีได้ นายอาริยันต์จึงได้ทดลองปลูกข้าวสาลีจำนวน ๔ พันธุ์ จากออสเตรเลีย และจากภาคกลางของอินเดีย โดยปลูกที่โรงเรียนกสิกรรมจังหวัดแพร่ และที่ตำบลบ้านหนองวังดิน อำเภอบ้านกลางจังหวัดแพร่ ปรากฎว่าข้าวสาลีขึ้นงอกงามดี นายอาริยันต์มีความเห็นว่า ควรส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวสาลีในประเทศไทย เพื่อเป็นการออมเงินของประเทศ
พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๗ พระยาพหลพลพยุหเสนา นำพันธุ์ข้าวสาลีมาจากญี่ปุ่น จำนวน ๔ พันธุ์ ในระยะนี้ได้มีการทดลองปลูกข้าวสาลีที่สถานีกสิกรรมฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างสงครามเอเชียบูรพา เป็นระยะที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนแป้งสาลีอย่างมาก ร.ท.ขุนณรงค์ชวนกิจ (ชวน ณรงคะชวนะ) ได้พยายามจะจัดตั้งบริษัทปลูกข้าวสาลี และโรงงานโม่แป้งสาลีขึ้น ที่อำเภอฝาง โดยได้ติดต่อกับแหล่งขายเมล็ดพันธุ์ข้าวสาลี และเครื่องจักรโม่แป้งไว้แล้วจากญี่ปุ่น แต่ไม่มีผู้ใดสนใจด้วย เรื่องจึงไม่สำเร็จ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เริ่มงานวิจัยข้าวสาลีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งในสมัยแรกนั้น ได้แต่งตั้งให้ ดร. ครุย บุณยสิงห์ เป็นหัวหน้าโครงการ ในปัจจุบันข้าวสาลีเป็นพืชเศรษฐกิจที่อยู่ในแผนการปลูก เพื่อทดแทนการนำเข้า งานวิจัย และส่งเสริม อยู่ในความรับผิดชอบ และประสานงานของหน่วยงานหลายแห่ง ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ และภาคเอกชน