Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ภาษา และอักษรไทย

Posted By Plookpedia | 05 ก.ค. 60
68,055 Views

  Favorite

 

ภาษาคือ สิ่งที่มนุษย์เราใช้พูดกัน เพื่อเล่าเรื่องต่างๆ หรือบอกให้ผู้อื่นทราบว่า เราต้องการอะไร หรือเป็นอะไร เช่น บอกว่า เราต้องการฟังนิทาน หรือบอกว่า เรารู้สึกหิว นอกจากนี้เราใช้ภาษาสำหรับฟังและเข้าใจผู้อื่น

ภาษาทำให้เราเข้าใจนิทานที่คุณแม่เล่าให้ฟัง รู้เรื่องที่คุณครูสอนเราในห้องเรียน ภาษาทำให้เราจดจำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย ภาษาทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ไม่มีสัตว์อื่นใดอีกที่สามารถใช้ภาษาพูด เล่าเรื่อง จำ ฟัง และถามได้แบบเดียวกับมนุษย์

 

มนุษย์เราสามารถพูดได้ มนุษย์จึงใช้ภาษาสั่งสอนกันได้ ภาษาทำให้มนุษย์คิดและทำสิ่งต่างๆ ด้วยกันได้ อยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า และสร้างความเจริญให้หมู่คณะหรือสังคมได้

ในสังคมที่เจริญแล้ว หรือสังคมที่อยู่รวมกันเป็นเมือง คนมักมีเรื่องที่ต้องทำและจดจำมากมาย และคนไม่สามารถจำทุกอย่างได้ จึงคิดหาวิธีที่จะช่วยทำให้ตนเองจำเรื่องต่างๆ ได้ และจำได้เป็นเวลานานๆ คนในเมืองจึงคิดสร้างตัวอักษร สำหรับเขียนขึ้น เพื่อไว้จดบันทึกเรื่องราว เพื่อเตือนความจำเรื่องต่างๆ

 

มนุษย์เราใช้ภาษาเขียน และตัวอักษร จดบันทึกสะสมเรื่องและความคิดต่างๆ ไว้มากมาย คนในปัจจุบันสามารถอ่านและเรียนรู้ถึงความคิดของคนสมัยก่อนได้ สามารถคิดและทำสิ่งต่างๆ ต่อจากที่คนอื่นคิดเริ่มต้นไว้แล้วได้ การที่มนุษย์เรามีความรู้มาก จนต้องมีโรงเรียน และมหาวิทยาลัยไว้ สำหรับเรียนและสอนความรู้ทางวิชาการ ก็เพราะมีภาษาเขียนบันทึกความรู้ไว้ การที่นักวิทยาศาสตร์สามารถประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาใช้ได้ เช่น เครื่องบิน เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือทำให้มนุษย์เดินทางไปในอวกาศได้ ก็เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้อ่านได้เรียนรู้ถึงความคิด และผลของการศึกษาหาความรู้ของคนรุ่นก่อนๆ จากที่ภาษาเขียนบันทึกไว้

มนุษย์ในทุกสังคมมีภาษาพูดเป็นของตัวเองทั้งสิ้น นักภาษาประมาณว่า ในโลกเรามีภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ทั้งหมดราวๆ ๓,๐๐๐ ภาษา แต่มีไม่ถึง ๑๐๐ ภาษาที่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง และภาษาไทยก็เป็นหนึ่งในไม่ถึง ๑๐๐ ภาษานี้ด้วย

พ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์องค์ที่ ๓ ของอาณาจักรสุโขทัย เป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๖ หลังจากที่คนไทยรวมตัวกันเป็นบ้านเมือง และมีพระเจ้าแผ่นดินของตนเองแล้ว ในสมัยนั้นชาวเขมร ชาวพม่า และชาวมอญ ที่อยู่ใกล้เคียงกับคนไทย มีการ ปกครองตนเอง และมีอักษรเป็นของตัวเองใช้แล้ว และเพื่อนบ้านเหล่านี้ ล้วนมีจารึกเกี่ยวกับบ้านเมืองของตนเอง เขียนด้วยภาษาของตนเองทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อคนไทยมีบ้านเมือง และมีการปกครองเป็นของตนเอง ก็จำเป็นที่จะต้องมีภาษาเขียนของตัวเองด้วย เพื่อให้มีฐานะเท่าเทียมกับเพื่อนบ้าน พ่อขุนรามคำแหงจึงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น ไว้ให้ชาวไทยใช้เขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ

อักษรไทย หรือ ลายสือไทย ที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้น มีพยัญชนะ สระ และเครื่องหมายวรรณยุกต์ ซึ่งแตกต่างไปจากตัวอักษรของเพื่อนบ้านของเรา ตรงที่ภาษาไทยมีเครื่องหมายวรรณยุกต์ใช้ เพราะเป็นภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์ แต่ตัวอักษรของเพื่อนบ้านใกล้เคียงของเรา ไม่มีเครื่องหมายเหล่านี้

นับจนถึงปัจจุบันภาษาเขียน และตัวอักษรของไทยเรา มีอายุกว่า ๗๐๐ ปีแล้ว ถ้าเราเปรียบเทียบลักษณะการเขียนตัวอักษรของภาษาไทย สมัยสุโขทัยกับสมัยปัจจุบัน จะเห็นว่า ต่างกันมาก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทั้งวิธีการเขียน และลักษณะตัวอักษร ในสมัยสุโขทัย การเขียน หรือ "การจารึก" ที่เหลืออยู่ให้เราเห็นได้นั้น ทำลงบนแผ่นหิน ลักษณะตัวอักษรจึงเป็นคนละแบบกับปัจจุบัน ต่อมาในสมัยอยุธยามีการเรียนการสอนภาษาไทย และปรากฏว่า มีกระดาษใช้แล้ว มีตำราสอนภาษาไทยชื่อ จินดามณี จึงมี "การเขียน" ด้วยมือลงบนกระดาษที่ทำด้วยมือ จึงทำให้ตัวอักษรต่างไปจากที่จารึกบนแผ่นศิลา เพราะเขียนด้วยดินสอ หรือปากกา ต่อมาก็ใช้ตัวพิมพ์ พิมพ์ด้วยเครื่อง ตัวหนังสือในสมัยปัจจุบันนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวเขียนสมัยอยุธยา แต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว

ภาษาพูดในปัจจุบัน ก็แตกต่างจากภาษาพูดในสมัยสุโขทัย เสียง "ฃ" และ "ฅ" ที่เคยมีใช้ในสมัยสุโขทัยในปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว เราจึงเลิกใช้ตัวเขียน ๒ ตัวนี้ แต่ตัวเขียนอื่นๆ ทั้งพยัญชนะ สระ และเครื่องหมายวรรณยุกต์ยังใช้เขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ได้ดี แม้ตัวอักษรจะมีลักษณะเปลี่ยนไปมากตามกาลเวลา และตามเครื่องมือที่ใช้เขียนในแต่ละยุคก็ตาม

ตัวอักษรไทย ซึ่งเราใช้เขียนในปัจจุบัน นับเป็นมรดกสังคม ที่เรารับทอดมาจากสังคมไทย สมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหง ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยไว้ให้คนไทยได้มีอักษรไว้ใช้เป็นของตัวเอง และคนไทยก็ได้ใช้สืบทอดกันมาเป็นเวลากว่า ๗๐๐ ปีแล้ว อักษรไทยนับเป็นมรดกสังคม ที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าอย่างยิ่ง สำหรับคนไทย 

คนไทย และสังคมไทยในยุคปัจจุบัน แตกต่างไปจากคนไทย และสังคมไทยในยุคสุโขทัยมาก และสิ่งที่สามารถชี้บอกได้ว่า เรายังคงความเป็นคนไทยอยู่ ก็คือ การใช้ภาษาไทย ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอักษรที่ใช้เขียน

ภาษาเขียนทำให้มนุษย์จดบันทึกเก็บสะสมเรื่องราวต่างๆ ไว้ได้ ทำให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ถึงความคิดของคนรุ่นก่อนได้ สามารถคิดเรื่องสืบต่อจากคนที่คิดไว้ก่อนแล้วได้ โดยไม่ต้องเริ่มต้นคิดใหม่ทั้งหมด ภาษาเขียนทำให้มนุษย์สามารถสร้างความเจริญให้สังคมได้มากมาย ทำให้เกิดอารยธรรม และความเจริญต่างๆ ดังที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ การที่เรามีการศึกษาขั้นสูง การประดิษฐ์ด้านวิทยาศาสตร์ การเดินทางไปในอวกาศ และทำเรื่องยากๆ ต่างๆ ได้มากมายนั้น ก็เพราะอาศัยภาษาเขียนเป็นเครื่องมือช่วยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีภาษาเขียน มนุษย์เราคงจะพัฒนามาถึงจุดนี้ไม่ได้ 

สิ่งประดิษฐ์ด้านวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยภาษาเขียนเป็นเครื่องมือพื้นฐานของการศึกษาขั้นสูง

สังคมของคนไทย หรือคนที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาพูดประจำกลุ่ม หรือสังคม ไม่ใช่มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่มีอยู่ในประเทศลาว เวียดนาม อินเดีย จีน กัมพูชา และมาเลเซียด้วย ในประเทศไทยเราใช้ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ ประเทศลาวใช้ภาษาในกลุ่มภาษาไทยแต่เรียกว่า ภาษาลาว ส่วนในประเทศอื่นๆ นั้น ภาษาไทยเป็นภาษาของคนกลุ่มน้อย เพราะคนที่พูดภาษาไทยในประเทศเหล่านั้น มีจำนวนน้อย บางกลุ่มก็เรียกตนเองว่า เป็นคนไต บางกลุ่มก็ไม่ใช้คำว่า ไตหรือไทยเรียก แต่ที่เราทราบได้ว่า ภาษาเหล่านี้เป็นภาษาไทย ก็เพราะภาษาเหล่านี้ทุกภาษา มีคำพื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนกัน
คำพื้นฐาน หมายความว่า เป็นคำที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตในสังคมแบบโบราณ แต่ยังใช้อยู่ถึงในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น คำว่า พ่อ แม่ พี่ น้อง ข้าว หู ตา น้ำ ฝน บ้าน กิน มา นั่ง ลง ใส่ หนึ่ง สอง ร้อน งู กล้วย อ้อย ฯลฯ คำเหล่านี้เป็นมรดกทางภาษา ที่คนไทยกลุ่มต่างๆ รับทอดมาจากสังคมไทยสมัยโบราณ ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปอยู่ตามถิ่นต่างๆ และเนื่องจากคนไทยแยกย้ายกันอยู่ ภาษาจึงต่างกันไป เพราะภาษาต่างๆ ล้วนต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และสภาพแวดล้อม เหมือนกับสังคม และคนที่พูดภาษานั้นๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

แม้แต่ในประเทศไทยด้วยกันเอง ภาษาไทยของคนในถิ่นต่างๆ ก็ยังต่างกันไป ทั้งการออกเสียงต่างกัน และใช้คำศัพท์หลายคำที่ต่างกันไป ตามสภาพสังคม และที่ตั้ง ภาษาในภาคต่างๆ ของประเทศ มีเสียงและสำเนียงที่ต่างกัน ภาษาของกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชาวมาเลเซีย ก็มีคำภาษามาเลย์ใช้บ้าง กลุ่มที่อยู่ใกล้ชาวกัมพูชา ก็มีคำจากภาษาเขมรใช้บ้าง กลุ่มที่มีโอกาสได้รับอิทธิพลจากภาษาอังกฤษ ก็มีคำภาษาอังกฤษใช้บ้าง เป็นต้น

ลายสือไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

อักษรไทย หรือภาษาเขียน ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นตัวเขียนที่พัฒนาสืบทอดมาจาก ลายสือไทย ที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ หลังจากที่คนไทยรวมตัวกันอยู่เป็นเมือง มีเมืองเป็นของตนเอง และมีการปกครองตนเองเรียบร้อยแล้ว ในยุคนั้นการจารึกเรื่องราวของกษัตริย์ลงบนแผ่นศิลา นับเป็นประเพณีนิยมที่กระทำกันทั่วไป กษัตริย์ขอม กษัตริย์พม่า กษัตริย์มอญ ซึ่งเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรใกล้เคียงกับไทย ต่างก็มีจารึกเกี่ยวกับเรื่องราวของกษัตริย์ เช่น เรื่องพระนามของกษัตริย์ เมื่อขึ้นครองราชย์ การทำนุบำรุงศาสนา และเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นในบ้านเมืองที่สำคัญ ทั้งเขมรและพม่าล้วนแต่มีการจารึกเหตุการณ์ไว้ด้วยตัวอักษรของตนเองแล้วทั้งสิ้น การจารึกก็ใช้ทั้งภาษาของตนเอง ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต ก่อนที่คนไทยจะมีภาษาเขียนของตนเอง คงจะใช้ตัวอักษรขอม ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ใช้เขียนกันอยู่ในขณะนั้น ดังนั้นเมื่อคนไทยมีบ้านเมืองเป็นของตนเอง มีการปกครองตนเองแล้ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีอักษรเป็นภาษาของตนเองไว้เขียน เพื่อให้แตกต่าง และมีฐานะทัดเทียมกับชนชาติอื่นที่อยู่รอบด้าน พ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์องค์ที่ ๓ ของอาณาจักรสุโขทัย จึงได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น เพื่อให้คนไทยได้มีอักษรของตัวเองไว้ใช้

ภาษาเขียนของไทยแตกต่างไปจากภาษาอื่นๆ ที่มีใช้อยู่ในขณะนั้น คือ นอกจาก มีตัวอักษร พยัญชนะ และสระแล้ว ยังมีเครื่องหมายกำกับแสดงเสียงวรรณยุกต์อีกด้วย ทั้งนี้ เพราะภาษาไทยเป็นภาษาที่ใช้เสียงวรรณยุกต์ ซึ่งต่างจากภาษาบาลี ภาษามอญ และเขมร ที่ไม่ใช้เสียงวรรณยุกต์ในภาษา

ตัวอักษร หรือพยัญชนะ ที่ประดิษฐ์ขึ้นสมัยพ่อขุนรามคำแหงมี ๔๔ ตัว ในปัจจุบันเราไม่ได้ใช้ ๒ ตัว คือ "ฃ" กับ "ฅ" พยัญชนะ ๒ ตัวนี้ ใช้แทนเสียงไทยโบราณ ๒ เสียง ซึ่งในปัจจุบันนี้เราไม่ใช้แล้ว เสียง "ฃ" ได้กลายรวมเป็นเสียงเดียวกับ "ข" และ "ฅ" กลายเป็นเสียงเดียวกับ "ค" ทำให้เราแยกไม่ออกว่า เสียงใดเคยเขียนด้วยตัว "ฃ" หรือตัว "ฅ" เราจึงไม่ได้ใช้อักษร ๒ ตัวนี้ นอกจากนี้ตัวอักษรในสมัยสุโขทัย ทั้งพยัญชนะ สระ และ เครื่องหมายวรรณยุกต์ มีลักษณะที่แตกต่างไปจากตัวอักษร ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันมาก ทั้งนี้ เพราะการเขียน หรือการจารึกลงบนแผ่นศิลา เป็นวิธีเขียนที่แตกต่างไปจากการเขียนด้วยมือ ลงบนแผ่นกระดาษมาก ตัวเขียนในปัจจุบัน มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวเขียนในสมัยอยุธยามากกว่า ในสมัยนั้นมีการเรียนการสอนภาษาไทย มีตำราสอนที่รู้จักกันทั่วไป คือ จินดามณี นอกจากนั้นคน ในสมัยอยุธยายังนิยมแต่งโคลงกลอนกัน ผู้คนจึงคงมีโอกาสเขียนหนังสือมากกว่าในสมัยสุโขทัย และการมีโอกาสเขียน ทำให้เกิดมีลักษณะลายมือการเขียนขึ้น ในปัจจุบัน นอกจากการเขียนด้วยมือแล้ว เรายังมีเครื่องพิมพ์ พิมพ์ดีด และคอมพิวเตอร์อีกด้วย ซึ่งทำให้เรามีลักษณะตัวอักษรที่แตกต่างไปอีก

ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยีของแต่ละยุค ทั้งตัวภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทย และสังคมไทยได้เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง และใช้บ่งบอกถึงความเป็นคนไทย และสังคมไทย ได้ทุกยุคทุกสมัย คือ การใช้ภาษาไทย ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอักษรไทย  

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow