Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การพิมพ์ธนบัตร

Posted By Plookpedia | 05 ก.ค. 60
1,421 Views

  Favorite
หมายราคาตำลึง
หมายราคาสูง ด้านหน้าและด้านหลัง

 

การพิมพ์ธนบัตร

ในปี พ.ศ.๒๔๐๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้จัดทำ "หมาย" ขึ้นมีราคาต่างๆ กัน ตั้งแต่ ๑ บาท เป็นลำดับลงมาจนใบละเฟื้อง โดยพิมพ์ลงบนแผ่นกระดาษ และประทับตราพระราชลัญจกร ๓ ดวง และยังทรงให้สร้างใบ "พระราชทานเงินตรา" อีกแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายเช็คในปัจจุบัน นับได้ว่า มีการใช้เงินตราทำด้วยกระดาษขึ้นในเมืองไทยเป็นครั้งแรก อันเป็นต้นตอของธนบัตร 

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๓๕ ได้มีการออกอัฐกระดาษขึ้น แต่ไม่เป็นที่นิยมจึงได้เลิกไป จนปี พ.ศ.๒๔๔๕ จึงได้ออกธนบัตรชนิดละ ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท ๑๐๐ บาท และ ๑,๐๐๐ บาท การจัดพิมพ์ธนบัตรได้จ้างพิมพ์มาจากต่างประเทศทั้งสิ้น คือ จ้างบริษัทโทมัส เดอ ลา รู (Thomas de la Rue) จากประเทศอังกฤษ จนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ การคมนาคมติดขัด ประกอบกับประเทศไทยประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษด้วย ทำให้ไม่สามารถจ้างพิมพ์ธนบัตรที่เดิมได้ จึงได้จ้างพิมพ์จากแหล่งอื่นๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น และพิมพ์ขึ้นเองในประเทศไทย ธนบัตรที่พิมพ์ขึ้นเองในยุคนั้น พิมพ์ที่โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหารบก แต่พิมพ์ได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้งาน จึงต้องจ้างพิมพ์ในโรงพิมพ์อื่นๆ ทั้งของส่วนราชการ และของเอกชนในประเทศด้วย 

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงแล้ว มีการกลับไปจ้างพิมพ์ธนบัตรจากต่างประเทศอีก และได้มีการเปลี่ยนแหล่งจ้างพิมพ์ การพิมพ์ธนบัตรนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของบ้านเมือง รัฐบาลจึงได้มอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการศึกษา และจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร เพื่อพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เองในเมืองไทย คือ ได้มีการสร้างโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้น ในสังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย และทำพิธีเปิดดำเนินการในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๒ โดยเริ่มพิมพ์ธนบัตรฉบับละ ๕ บาทออกมาก่อน และทยอยพิมพ์ฉบับที่มีมูลค่าสูงๆ ขึ้นไปออกมาตามลำดับ และได้พิมพ์ธนบัตรฉบับ ๕๐๐ บาทออกใช้ด้วย ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ได้มีการจัดพิมพ์บัตรธนาคารออกมาเป็นพิเศษ มีมูลค่าฉบับละ ๖๐ บาท เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow