แรงเฉื่อยคือ ความพยายามของวัตถุในการรักษาสภาพหยุดนิ่งเอาไว้ หรือการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพการเคลื่อนไหว ตามกฎการเคลื่อนที่ของนิวตันในข้อแรก ที่กล่าวว่า "วัตถุใดๆ ก็ตามจะรักษาสภาพหยุดนิ่ง หรือเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ในทิศทางเดิม ก็ต่อเมื่อแรงลัพธ์ที่มากระทำต่อวัตถุมีค่าเท่ากับศูนย์" ดังนั้น โดยทั่วไป วัตถุจะพยายามรักษาสภาพหยุดนิ่ง โดยไม่เคลื่อนที่ไปตามแรงที่มากระทำถ้าแรงนั้นมีไม่มากพอ วัตถุก็จะยังคงสามารถรักษาสภาพหยุดนิ่งเอาไว้ได้ (วัตถุอาจจะเพียงสั่นไหว เซ แต่ไม่เคลื่อนออกไปจากที่เดิม)
ตัวอย่างของแรงเฉื่อย เช่น การที่รถเบรกกะทันหันแล้วตัวของเราพุ่งไปข้างหน้า เนื่องจากร่างกายส่วนล่างของเราติดอยู่กับเบาะรถ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของรถ ขณะที่ร่างกายส่วนบนของเราเป็นอิสระ ดังนั้น เมื่อรถเบรกร่างกายส่วนล่างซึ่งติดอยู่กับเบาะรถก็หยุดด้วย แต่ร่างกายส่วนบนมีความพยายามจะรักษาสภาพการเคลื่อนที่เอาไว้ จึงเป็นเหตุผลให้ตัวของเราพุ่งไปข้างหน้า
วางวัตถุไว้บนกระดาษแข็ง แล้วนำกระดาษแข็งไปวางบนปากแก้ว เมื่อกระชากกระดาษแข็งออกจากปากแก้วอย่างรวดเร็ว วัตถุก็จะตกลงในแก้ว เนื่องจากวัตถุพยายามรักษาสภาพหยุดนิ่งของมันเอาไว้ และแรงเฉื่อยที่พยายามรักษาสภาพหยุดนิ่งของมันมีมากกว่าแรงที่มากระทำ มันจึงไม่เคลื่อนที่ไปตามกระดาษแข็ง
การสะบัดฝุ่นผงออกจากผ้า ก็มีผลมาจากแรงเฉื่อยเช่นกัน โดยเมื่อมีแรงกระทำกับผ้า (สะบัดอย่างรวดเร็ว) ฝุ่นผงจะพยายามรักษาสภาพหยุดนิ่งของมันไว้ จึงหลุดออกจากผ้าที่เคลื่อนที่ไปมา
การปล่อยม้วนสก๊อตเทปให้กลิ้งลงจากทางลาด แรงเฉื่อยจะทำให้ม้วนสก๊อตเทปนั้นเทปนั้นเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ตามกฎการเคลื่อนที่ แต่เนื่องจากมีแรงอื่นๆ มากระทำต่อม้วนสก๊อตเทปด้วย เช่น แรงเสียดทาน ดังนั้น ม้วนสก๊อตเทปจึงหยุดเคลื่อนที่เมื่อถึงจุดหนึ่ง
ภาพปก : Shutterstock