เนื่องจากการเลี้ยงหมูในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยและเป็นการค้ามากขึ้น มีการนำเอาหมูพันธุ์ต่างประเทศเข้ามาเลี้ยงหรือผสมกับหมูพันธุ์พื้นเมืองกันอย่างกว้างขวาง หมูพันธุ์ต่างประเทศนี้มีความต้องการสารอาหารมากกว่าหมูพันธุ์พื้นเมืองของไทย อาหารที่ใช้เลี้ยงจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยจากการที่เคยเลี้ยงด้วยหยวกกล้วย รำ หรือเศษอาหารต่าง ๆ ก็เปลี่ยนมาใช้อาหารผสมที่มีคุณค่าอาหารมากขึ้นเพื่อให้หมูได้รับสารอาหารเพียงพอกับความต้องการของร่างกายหมูจะได้เจริญเติบโตเร็วขึ้น อาหารผสมที่ใช้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลพลอยได้จากการบริโภคของคน เช่น ปลายข้าว รำละเอียด และกากถั่วเหลือง เป็นต้น นำมาประกอบกันในอัตราส่วนที่แตกต่างกันแล้วแต่ขนาดและอายุของหมูเพื่อให้ได้คุณค่าอาหารครบถ้วนทั้ง ๕ หมู่ ดังนี้
เป็นสิ่งจำเป็นต่อคนและสัตว์ทุกชนิด น้ำเป็นตัวช่วยปรับอุณหภูมิภายในร่างกายให้คงที่ช่วยขับถ่ายของเสียออกนอกร่างกายและช่วยในขบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายหมูต้องการน้ำอย่างมากเพราะหมูมีชั้นไขมันอยู่ติดกับผิวหนังทำให้ยากต่อการระบายความร้อนจึงต้องใช้น้ำเป็นตัวช่วยระบายความร้อน ถ้าหากหมูขาดน้ำเพียงครึ่งวันจะมีอาการหอบและถ้าขาดน้ำเป็นเวลานาน หมูอาจช็อกตายได้
เป็นแหล่งให้พลังงานและจะนำไปใช้ในกระบวนการต่าง ๆ เพื่อการเจริญเติบโตของหมู อาหารประเภทนี้ส่วนใหญ่ คือ แป้งและน้ำตาล ผลิตผลที่นิยมใช้เป็นอาหารสัตว์ ได้แก่ ปลายข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และมันสำปะหลัง เป็นต้น วัตถุดิบเหล่านี้มีราคาถูกเพราะมีระดับโปรตีนต่ำแต่ใช้ในสูตรอาหารในปริมาณมาก
เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญมากเพราะร่างกายต้องการโปรตีนเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและการสร้างเนื้อเยื่อต่าง ๆ เป็นต้น ถ้าสัตว์ขาดสารอาหารนี้แล้วจะทำให้สัตว์แคระแกร็น โตช้า และสุขภาพอ่อนแอ วัตถุดิบประเภทนี้ ได้แก่ กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง กากงา ปลาป่น ฯลฯ เป็นต้น โดยทั่วไปมีราคาแพงและคุณภาพไม่แน่นอน
เป็นแหล่งให้พลังงานและให้กรดไขมันชนิดต่าง ๆ ซึ่งปกติในวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่วนใหญ่มีไขมันเป็นส่วนประกอบในปริมาณที่แตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ถ้าอาหารผสมนั้นขาดพลังงานแล้วจะเสริมด้วยแหล่งไขมันซึ่งมีทั้งไขมันจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำ หรือไขมันจากสัตว์ เช่น ไขวัว น้ำมันหมู เป็นต้น
ร่างกายหมูมีความต้องการวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณน้อยแต่มีความจำเป็นต่อร่างกายมากเพราะกระบวนการต่าง ๆ ภายในร่างกายจำเป็นต้องใช้ทั้งวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ร่วมด้วย วิตามินที่มีความจำเป็นต่อหมูแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
๕.๑ วิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ ดี อี และเค
๕.๒ วิตามินที่ละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามินบีต่าง ๆ
ส่วนแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม เหล็ก ทองแดง และสังกะสี เป็นต้น โดยปกติแล้วในวัตถุดิบต่าง ๆ จะมีวิตามินและแร่ธาตุอยู่แล้วแต่อาจไม่เพียงพอหรืออยู่ในสภาพที่หมูนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ดังนั้นจึงนิยมเสริมวิตามินและแร่ธาตุสำเร็จรูปไปในอาหารหมูด้วยเพื่อให้หมูเจริญเติบโตและมีสุขภาพแข็งแรง