เครื่องอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม
๑. เครื่องอาณัติสัญญาณ
เป็นเครื่องมือควบคุมการจราจรเพื่อความปลอดภัย รวด เร็วและมีประสิทธิภาพในการเดินรถ
ในสมัยแรกที่เปิดกิจการเดินรถไฟขึ้นนั้น การอนุญาตให้ขบวนรถออกจากสถานี หนึ่งไปยังสถานีข้างเคียงเรียกว่า การขอ และให้ทางสะดวก การแจ้งความเคลื่อนไหวของขบวนรถ ใช้เครื่องโทรเลขเป็นเครื่องมือติดต่อสอบถาม ส่วนการให้สัญญาณขบวนรถเข้าและออกจากสถานี ใช้สัญญาณธงผ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าในเวลากลางวัน และตะเกียงสัญญาณในเวลากลางคืน ธงผ้าและตะเกียงสีเขียวหมายความว่า "อนุญาต" ส่วนสีแดงหมาย ความว่า "ห้าม" ต่อมา ได้มีการเปลี่ยนเป็นใช้เสาสัญญาณชนิดหางปลา (semaphore) ซึ่งบังคับหางปลาให้แสดงท่า "อนุญาต" หรือ "ห้าม" ส่วนการกลับประแจ เพื่อให้ขบวนวิ่งเข้าทางแยกหรือทางหลีกที่ต้องการ ทำโดยการโยกคันกลับประแจ ซึ่งจะไปดึงสายลวดเหล็กกล้า ๒ เส้น ที่ต่อไปยังกลไกที่เสาสัญญาณหรือประแจ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนมาใช้เครื่องสัญญาณ ประแจกลไฟฟ้า (electro mechanical interlocking) ซึ่งประกอบด้วยสัญญาณไฟสี (color light signal) แทนสัญญาณชนิดหางปลา การกลับประแจ ช้กลับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า นับว่าเป็นเครื่องที่ให้ความปลอดภัยสูงและรวดเร็วต่อการปฏิบัติงานในย่านใหญ่ ปัจจุบัน เครื่องสัญญาณประแจกลที่นับว่า ทันสมัยที่สุดที่มีใช้อยู่ในกิจการของการรถไฟ คือ เครื่องสัญญาณประแจกลชนิดมีกลไกสัมพันธ์กันทางไฟฟ้าทั้งหมด (all relays interlocking) เป็นเครื่องมือที่มีสมรรถนะสูง ในด้านความปลอดภัย รวดเร็ว และสะดวกในการปฏิบัติงาน
ในด้านการควบคุมความเคลื่อนไหวของขบวนรถ เนื่องจาก ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การรถไฟฯ ใช้ระบบตอนสมบูรณ์* สำหรับในกิจการเดินรถ การอนุญาตให้ขบวนรถออกจากสถานีหนึ่ง ไปยังสถานีข้างเคียง จะต้องได้รับความร่วมมือ และยินยอม จากนายสถานีทั้ง ๒ ด้าน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวสำหรับกิจการรถไฟ เรียกว่า "การขอและให้ทางสะดวก" มีการใช้เครื่องตราทางสะดวก คือ หลังจากที่นายสถานีได้ขอ และได้รับแจ้งทางสะดวกแล้ว นายสถานีที่ขบวนรถจะออกไป จะได้รับลูกตราออกมาจากเครื่องตราทางสะดวกนี้ ๑ ลูก เพื่อนำไปมอบให้พนักงานขับรถ เป็นหลักฐานว่า ได้ทางสะดวกเรียบร้อยแล้ว พนักงานขับรถจะรับลูกตราดังกล่าวไปด้วย แล้วมอบให้นายสถานีข้างหน้า เพื่อใส่คืนตราทางสะดวกให้กลับมาอยู่ในท่าปกติ สำหรับการขอและให้ทางสะดวก ครั้งต่อไป แต่ในการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้ขบวนรถต้องลดความเร็ว เพื่อรับและส่งลูกตราทางสะดวก การรถไฟฯ จึงได้ติดตั้งเครื่องทางสะดวกชนิดไม่มีลูกตรา เรียกว่า "เครื่องทางสะดวกสัมพันธ์สัญญาณประจำที่" และในปัจจุบัน ได้เปิดใช้ในเส้นทางสายเหนือถึงสถานีศิลาอาสน์ สายใต้ถึงสถานีหัวหิน และสายตะวันออกเฉียงเหนือถึงสถานีนครราชสีมา
* คือการปล่อยขบวนรถจากสถานีหนึ่งไปยังอีกสถานีหนึ่งครั้งละ ๑ ขบวน เมื่อขบวนแรกเข้าสถานีเรียบร้อยแล้ว จึงปล่อยอีกขบวนหนึ่งได้ แต่ถ้าต้องการปล่อยขบวนรถให้เข้าสถานีได้ครั้งละหลาย ๆ ขบวนแล้ว จะต้องใช้ระบบ automatic block แทน
๒. โทรคมนาคม
ในการดำเนินการติดต่อระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของกิจการรถไฟ ซึ่งมีอยู่ทุกภาคของประเทศนั้น สิ่งที่นับว่าจำเป็นอีกประการหนึ่ง คือ ระบบโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ในระยะเริ่มแรกนั้นระบบโทรคมนาคมที่ใช้เป็นหลัก คือ
โทรเลขแบบซิมเพล็กซ์ (simplex) เป็นแบบโทรเลขที่ใช้ส่งข่าวได้ทางเดียว
โทรศัพท์แบบพาร์ตีไลน์ (party line) คือ ระบบโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อพร้อมกันได้หลายๆ เครื่องในเวลาเดียวกัน
ต่อมาได้มีการปรับปรุงข่ายโทรเลขให้เป็นชนิด ดูเพล็กซ์ (duplex) ได้แก่ระบบ โทรเลขที่ใช้ส่งข่าวสวนกันได้ในขณะเดียวกัน เพื่อเอาไว้ใช้ในการติดต่อระหว่างสถานีสำคัญต่างๆ และในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ การรถไฟฯ ได้ปรับปรุงระบบโทรคมนาคมที่ใช้ เพื่อบริหารกิจการเดินรถไฟ ซึ่งประกอบด้วย
๑. โทรศัพท์ควบคุมการเดินรถ
สำหรับพนักงานควบคุมการเดินรถติดต่อกับสถานี ทุกสถานีบนเส้นทางของการรถไฟฯ เพื่อควบคุมติดตามการเคลื่อนไหวของขบวนรถ และ สั่งการให้ขบวนรถหลีกกัน ณ สถานีที่เหมาะสม เพื่อให้ขบวนรถเดินตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ให้มากที่สุด
๒. โทรศัพท์แคเรีย
เป็นระบบโทรคมนาคมสำหรับระยะไกล ได้ติดตั้งใช้งาน เพื่อการติดต่อระหว่างหน่วยงานที่สำคัญต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
๓. โทรพิมพ์
ได้ทำการติดตั้งควบคู่กันไปกับโทรศัพท์แคเรีย เพื่อใช้สำหรับส่งข่าวสารต่างๆ ที่ต้องการหลักฐานและต้องการความชัดเจน เช่น รายงานรถ รายงานการ หมุนเวียนล้อเลื่อน แจ้งเหตุอันตรายเร่งด่วน เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้มีการขยายงาน ด้านโทรศัพท์อัตโนมัติ โทรศัพท์บำรุงทาง วิทยุ เป็นต้น ส่วนระบบโทรเลขนั้นก็ยังคงอยู่ เพราะในการวางข่ายโทรคมนาคม จำเป็นจะต้องมีข่ายหลักและข่ายสำรองไว้เสมอ เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน