ฝน
ในการพิจารณาฝนในประเทศไทยนั้น อาจแบ่งออกเป็น ๒ อาณาเขต เช่น เดียวกับอุณหภูมิ คือ
ฝนในประเทศไทยตอนบน
ตลอดฤดูหนาว หรือฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในบริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศค่อนข้างแห้งแล้งทั่วไป เนื่องจาก ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดเข้ามานั้น ได้ผ่านผืนแผ่นดินเป็นส่วนมาก ประกอบกับมีความหนาวเย็นด้วย จึงทำให้ในช่วงฤดูนี้ ไม่ค่อยมีฝนตก ในเดือนเมษายนฝนจะเริ่มตกบ้าง แต่ยังมีปริมาณไม่มากนัก ส่วนมากเป็นฝนจากเมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งเป็นเมฆที่ทำให้เกิดพายุฟ้าคะนอง กล่าวคือ ในระหว่างที่มีฝนตกจะมีพายุลมแรง และในบางคราวอาจเกิดลูกเห็บ หรือฟ้าผ่าขึ้นได้ ฝนของบริเวณนี้จะตกชัดเจนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ คือ ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป จนกระทั่งถึงกลางเดือนตุลาคม และจะมีช่วงฝนน้อยลงไปบ้าง ในระหว่างเดือนมิถุนายน หรือกรฎาคม ฝนจะกลับตกหนาแน่นขึ้นอีก ในเดือนสิงหาคมและกันยายน สำหรับในเดือนกันยายนนั้นจะปรากฏฝนตกมากที่สุด เพราะร่องมรสุมหรือร่องความกดอากาศต่ำ กำลังเคลื่อนลงมาทางใต้ และในเดือนนี้อาจจะมีพายุหมุนในโซนร้อนจากทะเลจีนใต้ผ่านเข้ามาด้วย ฝนที่เกิดจากพายุหมุนเหล่านี้ เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้นได้ในบริเวณประเทศไทยตอนบน สำหรับในเดือนตุลาคม ฝนค่อนข้างหนาแน่น ในระยะครึ่งแรกของเดือน ต่อจากนั้นฝนจะลดน้อยลงอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ภาคเหนือลงมาจนถึงภาคกลางเป็นลำดับ
ฝนในบริเวณประเทศไทยตอนล่างหรือภาคใต้
บริเวณนี้จัดได้ว่าเป็นบริเวณซึ่งมีฝนตกตลอดทั้งปี ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นฤดูที่ประเทศไทยตอนบนแห้งแล้งทั่วไปนั้น ทางภาคใต้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นโดยเฉพาะทางฝั่งทะเลด้านตะวันออก ซึ่งได้แก่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับไอน้ำจากบริเวณอ่าวไทย และน่านน้ำทะเลใกล้เคียง ทำให้อากาศมีความชุ่มชื้นมาก เมื่อพัดปะทะชายฝั่งด้านนี้ จึงทำให้เกิดฝนตกชุกหนาแน่นขึ้น โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคมจะมีฝนมากกว่าในเดือนอื่นๆ และในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม อาจมีพายุหมุนจากทะเลจีนใต้เคลื่อนเข้าสู่ฝั่งทะเลแถบนี้ได้อีกด้วย สำหรับฝั่งทะเลด้านตะวันตก ซึ่งมีจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ฝนจะเริ่มตกในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ คือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม
ปริมาณฝนตกตลอดทั้งปีในภาคต่างๆ ของประเทศไทยจะมีมากกว่า ๑,๐๐๐ มิลลิเมตรขึ้นไป เว้นแต่ทางแถบด้านหลังทิวเขาตะนาวศรี คือ ตั้งแต่จังหวัดตากลงมาจนถึงจังหวัดกาญจนบุรี จะมีปริมาณต่ำกว่า ๑,๐๐๐ มิลลิเมตร จังหวัดที่มีฝนตกมากที่สุดของประเทศไทยได้แก่ จังหวัดระนอง ซึ่งมีฝนรวมทั้งปี เฉลี่ยประมาณ ๕,๑๐๐ มิลลิเมตร (๒๐๑ นิ้ว) และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เคยวัดได้ถึง ๖,๘๐๐ มิลลิเมตร (๒๖๘ นิ้ว) ซึ่งนับว่า เป็นสถิติสูงสุดของประเทศไทย ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกรองลงมาก็คือ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งมีฝนรวมทั้งปีเฉลี่ยประมาณ ๔,๔๕๐ มิลลิเมตร (๑๗๘ นิ้ว)