Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การทำฝนเทียม

Posted By Plookpedia | 04 ก.ค. 60
3,926 Views

  Favorite

การทำฝนเทียม

ความพยายามในการทำฝนเทียมนั้น ได้เริ่มกันมานานแล้ว ทั้งชาวอินเดียนแดง และชาวไทยมีวิธีขอฝนต่างๆ นานา เช่น แห่นางแมว เป็นต้น วิธีเหล่านี้ยังไม่เคยพิสูจน์ว่า ได้ผลในทางวิทยาศาสตร์เลย 

การทำฝนเทียมในปัจจุบันได้อาศัยเทคนิคจากการศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่ว่า กรรมวิธีของฝนธรรมชาติเกิดขึ้นได้อย่างไร ฉะนั้น ในการทำฝนเทียม นักวิทยาศาสตร์จึงได้พยายามเลียนแบบธรรมชาติโดยทำจากเมฆซึ่งมีลักษณะเหมาะสมพอจะเกิดฝนได้ การทำฝนเทียมในปัจจุบันมีอยู่ ๒ วิธี 

ก. การทำฝนเทียมในเขตอบอุ่นซึ่งมีเมฆที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ๐°ซ. 

การทำฝนเทียมในเมฆชนิดนี้ เขาใช้โปรยหรือหว่าน ด้วยเม็ดน้ำแข็งแห้งเล็กๆ (dry ice) หรือซิลเวอร์ ไอโอไดด์ (silver iodide) ตามธรรมดาเม็ดน้ำแข็งแห้งเม็ดเล็กๆ ซึ่งมีอุณหภูมิ -๗๘°ซ. จะสามารถทำให้เมฆกลายเป็นผลึกน้ำแข็ง และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และตกลงมา ส่วนผงซิลเวอร์ไอโอไดด์นั้นทำหน้าที่เป็นนิวเคลียสของการเกิดผลึกน้ำแข็ง ผลึกน้ำแข็งที่เกิดขึ้นนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็ว และตกลงมาเป็นหิมะหรือฝน การหว่านเม็ดน้ำแข็งแห้ง หรือผงซิลเวอร์ไอโอไดด์นั้น อาศัยหลักของการเกิดฝนตามกรรมวิธีของเบอร์เจอรอน-ฟินดีเซน และใช้สำหรับทำฝนเทียมในเมฆซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า ๐°ซ. แต่ทว่าปฏิกิริยาของน้ำแข็งแห้ง หรือผงซิลเวอร์ไอโอไดด์ทำหน้าที่ต่างกัน

เครื่องบินกำลังโปรยสารเคมีปฏิบัติการฝนหลวง

 

ข. การทำฝนเทียมในเขตร้อนซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า ๐°ซ. 

การทำฝนเทียมจากเมฆซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า ๐°ซ. หรือเรียกว่าเมฆอุ่นนี้มีหลายแห่งที่เขาใช้โปรยด้วยเม็ดน้ำธรรมดา หรือน้ำเกลือ เพื่อที่จะให้เม็ดของน้ำ หรือน้ำเกลือทำหน้าที่เป็นเม็ดเมฆขนาดใหญ่กว่าเม็ดเมฆที่เป็นอยู่ และเมื่อเม็ดของเมฆมีขนาดต่างๆ กัน ก็จะทำให้เกิดการรวมตัวกันโดยการชนกัน ตามกรรมวิธีรวมตัวกัน และชนกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว 

เรื่องการทำฝนเทียมนี้ยังจะต้องทำการค้นคว้ากันอีกมากในขณะนี้มีนักวิทยาศาสตร์ เข้าใจว่า อาจจะเพิ่มฝนได้มากกว่าฝนธรรมชาติประมาณร้อยละ ๑๐ ถึง ๒๐ แต่เรื่องนี้ก็ยัง ไม่มีการพิสูจน์ได้แน่นอนเด็ดขาด เพราะการแยกปริมาณน้ำฝนจากฝนธรรมชาติและฝนเทียมนั้น ทำได้ลำบากมาก

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow