Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฟ้าแลบและฟ้าร้อง

Posted By Plookpedia | 04 ก.ค. 60
2,832 Views

  Favorite

ฟ้าแลบและฟ้าร้อง

ฟ้าแลบ และฟ้าร้องในพายุเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แต่มนุษย์เรามองเห็นฟ้าแลบก่อน ต่อมาจึงได้ยินฟ้าร้อง ทั้งนี้เพราะเหตุว่า แสงมีความเร็วมากกว่าเสียง แสงมีอัตราเร็ว ๓๐๐,๐๐๐ กิโลเมตรต่อวินาที ส่วนเสียงมีอัตราเร็วประมาณ ๑/๓ กิโลเมตรต่อวินาทีเท่านั้น โดยเหตุนี้ เมื่อมีฟ้าแลบ และฟ้าร้อง เราจึงได้เห็นฟ้าแลบ หรือประกายไฟอันแรงจ้าได้ทันที และได้ยินเสียงฟ้าร้องทีหลัง ถ้าเราต้องการทราบว่า ฟ้าแลบอยู่ห่างจากเราเท่าใด เราก็จับเวลาตั้งแต่เมื่อเราเห็นฟ้าแลบ จนถึงเมื่อเราได้ยินเสียงฟ้าร้องว่า เป็นจำนวนกี่วินาที แล้วเอาจำนวนวินาทีคูณด้วย ๑/๓ ก็จะได้เป็นระยะกิโลเมตร สมมุติว่า เราจับเวลาระหว่างฟ้าแลบกับฟ้าร้องได้ ๖ วินาที เราก็จะทราบได้ว่า ฟ้าแลบอยู่ห่างจากเราประมาณ๑/๓ x ๖ = ๒ กิโลเมตร 

ประกายไฟฟ้าของฟ้าแลบสามารถทำให้อากาศในบริเวณนั้นร้อนขึ้นมาก อุณหภูมิอาจจะร้อนถึง ๒๕,๐๐๐°ซ. และขยายตัวอย่างฉับพลัน การขยายตัวของอากาศอย่างฉับพลันนี้ จะทำให้เกิดคลื่นเสียงอย่างแรง ซึ่งเราได้ยินกันเป็นเสียง "ฟ้าร้อง" ฟ้าแลบครั้งหนึ่งมีปริมาณไฟฟ้าเป็นจำนวนมหึมา อาจจะถึง ๒๐๐,๐๐๐ แอมแปร์หรือกว่านั้น และความต่างของศักย์ไฟฟ้า อาจจะถึง ๓๐ ล้านโวลต์ ฉะนั้นเมื่อฟ้าแลบผ่าลงมาที่ใด (ซึ่งไม่มีการป้องกัน) ก็จะเป็นอันตรายได้มาก ถ้าถูกสิ่งที่มีชีวิต ก็อาจถึงแก่ความตายได้ ถ้าเกิดฟ้าแลบฟ้าร้องในบริเวณที่เราอยู่ เราควรหลบเข้าไปในบ้านหรือตึก จะเป็นการปลอดภัยกว่าอยู่กลางแจ้ง สำหรับผู้อยู่ในรถยนต์ เรือ เครื่องบินก็จะปลอดภัย แต่ถ้าอยู่กลางแจ้ง อย่าหลบเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้ขณะที่มีฟ้าแลบฟ้าร้อง โดยเฉพาะต้นไม้โดดเดี่ยวนั้น อย่าเข้าไปใกล้เป็นอันขาด

นักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า "ถ้าท่านได้เห็นฟ้าแลบ ก็หมายความว่า ฟ้าผ่าลงที่อื่น ถ้าท่านได้ยินฟ้าร้อง ก็หมายความว่า ฟ้าผ่าได้ผ่านไป และท่านปลอดภัยแล้ว แต่ถ้าฟ้าผ่าลงที่ตัวท่าน ท่านก็จะไม่ทราบ และไม่ต้องห่วงอะไรอีกต่อไป"

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow