Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ก๊าซพิษ อันตรายจากภาวะขาดออกซิเจน

Posted By sanomaru | 04 ก.ค. 60
19,501 Views

  Favorite

กิจกรรมภายในโรงงานอุตสาหกรรมก่อให้เกิดน้ำเสียจำนวนมาก ซึ่งหากปล่อยน้ำเสียเหล่านี้ลงสู่สิ่งแวดล้อม ก็จะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาได้ โรงงานส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อมต่อไป

 

กระบวนการของบ่อบำบัดน้ำเสีย ประกอบด้วยกระบวนการหลัก 3 กระบวนการ ได้แก่
1. กระบวนการทางกายภาพ เป็นการกรองสิ่งสกปรกขนาดใหญ่ด้วยตะแกรง การตกตะกอนของกรวดหรือทราย และการเติมอากาศให้กับน้ำ
2. กระบวนการทางกายภาพ-เคมี เป็นการกรองสารแขวนลอยในน้ำด้วยเยื่อกรอง หรือการกำจัดสิ่งเจือปนหรือสิ่งเป็นพิษ เช่น คาร์บอน ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ด้วยการเติมสารเคมีให้เกิดการตกตะกอน
3. กระบวนการทางชีวภาพ เป็นการเติมไวรัสและแบคทีเรีย คลอรีน โอโซน ลงในน้ำ ตลอดจนผ่านน้ำด้วยอัลตร้าไวโอเลต

 

ในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะกระบวนการทางชีวภาพที่มีการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Digestion) ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียที่นิยมในประเทศเขตร้อน จะทำให้มีก๊าซพิษเกิดขึ้น เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่า มีเทน และแอมโมเนีย ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่ดี ก๊าซเหล่านี้ก็อาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงและสิ่งแวดล้อมได้

ภาพ : Shutterstock

 

ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่า (Hydrogen sulfide) มีสูตรทางเคมี คือ H2S เป็นก๊าซที่มีกลิ่นคล้ายไข่เน่า หากได้รับก๊าซชนิดนี้ที่ระดับความเข้มข้นมากกว่า 1,000 ppm จะทำให้หมดสติในทันที เนื่องจากก๊าซตัวนี้จะไปขัดขวางการจับออกซิเจนของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้ไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย จึงหายใจติดขัด และหมดสติในที่สุด แต่หากได้รับที่ระดับความเข้มข้นน้อยๆ ก็อาจมีอาการระคายเคืองของเยื่อบุต่างๆ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ความดันต่ำได้


ก๊าซแอมโมเนีย (Ammonia) มีสูตรทางเคมี คือ NH3 เป็นก๊าซที่ไม่มีสี แต่มีกลิ่นฉุนรุนแรง ถ้าได้รับก๊าซชนิดนี้ที่ระดับความเข้มข้นน้อยๆ จะทำให้เกิดการระคายเคือง จาม แสบคอ ความดันสูง แต่ถ้าได้รับที่ระดับความเข้มข้น 5,000-10,000 ppm อาจเกิดการชักกระตุกของกล้ามเนื้อและระบบหายใจ หมดสติ และเสียชีวิตได้ในไม่กี่นาที


ก๊าซมีเทน (Methane) มีสูตรทางเคมี คือ CH4 เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น  สามารถนำไปใช้เป็นพลังงานชีวภาพหรือเชื้อเพลิงในการหุงต้มอาหารได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะก๊าซชนิดนี้ไวไฟและสามารถระเบิดได้ นอกจากนี้หากสูดดมยังก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายด้วย แต่ก็น้อยกว่าไฮโดรเจนซัลไฟด์และแอมโมเนีย โดยจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไปจนถึงหมดสติได้ เนื่องจากจะเข้าไปแทนที่ออกซิเจนในปอด

 

การช่วยเหลือผู้ที่รับก๊าซพิษในเบื้องต้น คือ ต้องรีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีก๊าซพิษโดยเร็วที่สุด และให้ผู้ป่วยได้รับอากาศบริสุทธิ์ แต่หากหายใจติดขัดหรือหยุดหายใจ ต้องรีบปฐมพยาบาลโดยการใช้เครื่องช่วยหายใจหรือผายปอด แล้วรีบนำส่งแพทย์ทันที

 

นอกจากก๊าซพิษที่กล่าวมาแล้ว ยังมีก๊าซพิษอีกชนิดหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก แต่เป็นภัยเงียบที่หลายคนอาจไม่ทราบหรือไม่ทันได้ระวัง นั่นคือก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งมีสูตรทางเคมีเป็น CO ที่ว่าใกล้ตัวมากเพราะก๊าซชนิดนี้ถูกปล่อยออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ หากเราอยู่ในที่เปิด ก๊าซก็จะเจือจางไปในบรรยากาศ ทำให้เราไม่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบหรือได้รับอันตรายจากก๊าซนี้แต่อย่างใด แต่หากเราอยู่ในที่ปิด เช่น นอนเปิดแอร์ในรถ ก๊าซชนิดนี้จะเข้ามาในรถ เมื่อเราหายใจเข้าไปมันจะไปขัดขวางการจับออกซิเจนของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เช่นเดียวกับก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งจะทำให้เราหมดสติและเสียชีวิตได้ในที่สุด

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow