Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปรากฏการณ์ของอากาศ

Posted By Plookpedia | 04 ก.ค. 60
32,425 Views

  Favorite

อากาศย่อมเคลื่อนตัวอยู่เสมอ การเคลื่อนตัวของอากาศทำให้เรารู้สึกว่า มีลมเกิดขึ้น บางครั้งบรรยากาศมีลมแรงพอสามารถทำให้ว่าวของเราลอยอยู่ในอากาศได้ ถ้าไม่มีลมหรือลมเบาเกินไป ว่าวก็จะตกลงมายังพื้นดิน แต่ถ้าลมแรงเกินไปว่าวอาจจะขาดลอยไปได้ นอกจากลมแล้ว ยังมีเมฆลอยอยู่ในอากาศด้วย เมฆก็คือไอน้ำซึ่งกลั่นตัวรวมกัน ซึ่งเราสามารถมองเห็นได้ ถ้าเมฆหนาหรือสูง และทึบมากแล้ว ฝนอาจจะตกลงมาอีกด้วย ลม เมฆ และฝน ก็เป็นปรากฏการณ์ของอากาศ


 
ทุกๆ คนต้องเคยเห็นรุ้งกินน้ำมาแล้ว รุ้งกินน้ำเป็นปรากฏการณ์ ของอากาศอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นจากแสงของดวงอาทิตย์ที่ส่องไปยัง เม็ดน้ำในก้อนเมฆ ทำให้ปรากฏเป็นสีต่างๆ โค้งอย่างสวยงาม ซึ่ง จะมีสีสวยๆ ใหญ่ๆ ๗ สีดังนี้ คือ สีม่วง สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สี แสด และสีแดง เมื่อรุ้งกินน้ำปรากฏขึ้นให้เห็น ดวงอาทิตย์ จะต้องส่องจากด้านหลังของผู้ที่เห็นทุกครั้งไป

ปรากฏการณ์์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในบรรยากาศ คือ เมฆพายุฟ้าคะนอง เมฆชนิดนี้จะทำให้เกิด ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ และฝนตกหนัก บางครั้งก็มีฟ้าผ่าเปรี้ยงๆ ลงมายังพื้นดินด้วย ฟ้าผ่านั้นมีอันตรายมาก อาจทำให้มนุษย์ถึงแก่ความตาย บ้านเรือนพัง และลุกไหม้เป็นไฟได้ ยอดของเมฆพายุฟ้าคะนองจะมีลักษณะคล้ายรูปทั่งสำหรับตีเหล็ก เมฆพายุฟ้าคะนองนี้มีอันตรายต่อเครื่องบินเล็กๆ เป็นอย่างมาก

ปรากฏการณ์ของอากาศต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งนั้น เรียกว่า "กาลอากาศ" ถ้าวันใดมีฝนตกหนักหรือมีลมพัดแรง ก็เป็นกาลอากาศของวันนั้น ส่วนในวันอื่นๆ นั้นกาลอากาศอาจจะร้อนหรืออบอ้าวก็ได้

เราคงได้ยินคำว่า ดินฟ้าอากาศ หรือภูมิอากาศมาแล้ว ดินฟ้าอากาศ หรือภูมิอากาศ หมายถึง ปรากฏการณ์ของอากาศ หรือกาลอากาศเฉลี่ยของบริเวณ หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นระยะเวลานานๆ ตั้งแต่ ๓๐ หรือ ๓๕ ปีขึ้นไป ดังเช่นภูมิอากาศในภาคกลางของประเทศไทยแห้งแล้งตั้งแต่เดือน พฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนมาแล้วเป็นเวลานานหลายสิบปี แต่ทว่ากาลอากาศของวันใดวันหนึ่งอาจจะไม่เหมือนลักษณะอากาศเฉลี่ย หรือภูมิอากาศ (climatology) ก็ได้ สิ่งที่บังคับภูมิอากาศมีอยู่หลายอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อุณหภูมิ และปริมาณของฝนที่ตกในปีหนึ่งๆ

สิ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ของอากาศหรือกาลอากาศ 

การที่จะเกิดฝนตก พายุ หรือเมฆเต็มท้องฟ้านั้น จำต้องมีหลายสิ่งหลายอย่างรวมกันเป็นต้นเหตุ สิ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ของอากาศ มี ๔ อย่างด้วยกัน คือ

 
๑. ดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นลูกไฟดวงใหญ่ (ดูเรื่องเกี่ยวกับดวงอาทิตย์) ดวงอาทิตย์เป็นสิ่งที่ให้ความร้อนแก่โลก ซึ่งมีทั้งพื้นดิน และพื้นน้ำความร้อนจากดวงอาทิตย์เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ของอากาศ

๒. โลกของเรา หมุนรอบตัวเอง ทำให้เกิดกลางวันซึ่งร้อน และเกิดกลางคืนซึ่งเย็นกว่า นอกจากนี้แล้ว โลกยังโคจรรอบดวงอาทิตย์ ด้วยระยะเวลาประมาณ ๓๖๕ วัน (๑ ปี ) ต่อรอบ การโคจรของโลกทำให้เกิดฤดูต่างๆ เช่น ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว

๓. น้ำซึ่งเป็นแหล่งเกิดไอน้ำ พื้นโลกของเรามีน้ำอยู่มาก ความร้อนจากดวงอาทิตย์จะทำให้น้ำระเหยเป็นไอน้ำและลอยขึ้นไปในอากาศ เพราะฉะนั้นในอากาศจึงมีไอน้ำอยู่เสมอไม่มากก็น้อย

๔. อากาศหรือบรรยากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคลื่อนตัวและหอบเอาไอน้ำไปด้วย  ทำให้เกิดปรากฏการณ์ของอากาศ ตามธรรมดาเรามองไม่เห็นอากาศ แต่เรารู้สึกว่า มีอากาศ เมื่อลมพัดถูกร่างกายของเรา เราคงเคยเห็นแล้วว่า ถ้าลมแรงจริงๆ ลมอาจจะพัดให้ต้นไม้หรือเสาไฟฟ้าล้มได้ 

เราพอจะสรุปได้ว่าดวงอาทิตย์ โลก น้ำ (และไอน้ำ) และอากาศ ทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นปัจจัยร่วมกันทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ของบรรยากาศ หรือกาลอากาศที่เกิดขึ้นทุกๆ วัน ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งใน ๔ อย่างนี้ ปรากฏการณ์ของอากาศจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น ในดวงจันทร์ ซึ่งนักบินอวกาศของสหรัฐอเมริกาลงไปสำรวจนั้น ไม่มีอากาสอยู่ด้วยจึงไม่มีลม ไม่มีพายุ หรือไม่มีปรากฏการณ์ของอากาศเลย
 
ดวงอาทิตย์ โลก บรรยากาศและไอน้ำ คือ สิ่งที่ทำให้เกิดกาลอากาศ หรือปรากฏการณ์ ของอากาศ

 

ภูมิประเทศตามบริเวณต่างๆ มีอุณหภูมิไม่เท่ากัน 

ในการศึกษาวิชาใดๆ เราจำต้องศึกษาศัพท์ใหม่ๆ เสมอ เพื่อเพิ่มเติมความรู้ของเรา เช่น เราได้ศึกษาแล้วว่า ปรากฏการณ์ของอากาศ หรือกาลอากาศ หมายความว่าอย่างไร สำหรับคำว่า "อุณหภูมิ" หมายถึง ระดับความร้อน ถ้าของใดมีระดับความร้อนสูง เราเรียกว่า ของนั้นมีอุณหภูมิสูง ของใดมีระดับความร้อนต่ำ เราเรียกว่า ของนั้นมีอุณหภูมิต่ำหรือเย็น เช่น น้ำเดือดมีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำอุ่น และน้ำอุ่นมีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำเย็น เป็นต้น

เราคงได้ทราบในบทความเรื่องโลกของเราแล้วว่า พื้นโลกมีน้ำปกคลุมอยู่เกือบ ๓ ใน ๔ ส่วน และมีพื้นดินอยู่มากกว่า ๑ ใน ๔ ส่วน ของพื้นที่โลกทั้งหมด ตามบริเวณพื้นดินยังมีความแตกต่างกันไปอีก เช่น บริเวณป่าไม้ บริเวณทะเลทราย และบริเวณทุ่งหญ้า เมื่อรังสีจากดวงอาทิตย์ส่องลงมายังพื้นที่ต่างๆ ของโลกบริเวณต่างๆ จะร้อนขึ้นไม่เท่ากัน บริเวณพื้นดินหรือทะเลทรายจะร้อนขึ้น มากกว่าบริเวณพื้นน้ำ ดังนั้นอากาศที่อยู่ตามบริเวณพื้นดิน หรือทะเลทรายจะร้อนกว่าอากาศตามบริเวณพื้นน้ำด้วย อากาศร้อนจะเบากว่าอากาศ เย็น และอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้น อากาศเย็นซึ่งหนักกว่าจะพัดเข้ามาแทนที่เกิดเป็นลมขึ้น หรือเราเรียกว่า เกิดการหมุนเวียนของอากาศ

 

แสดงการลดของอุณหภูมิที่ความสูงระดับต่างๆ อุณหภูมิของอากาศที่พื้นดินจะสูงกว่าอุณหภูมิที่ระดับสูง

 

นอกจากนี้ยังปรากฏว่า เมื่อเราขึ้นไปยังบริเวณที่สูงจากพื้นดิน เช่น ที่เขาใหญ่ หรือดอยภูพิงค์ อากาศจะเย็นสบายดี เมื่อเราขึ้นไปสูงจากพื้นดินไปในท้องฟ้า ๑ กิโลเมตร อุณหภูมิจะลดลงราวๆ ๖.๕°ซ. ถ้าขึ้นไปสูงจากพื้นดินประมาณ ๕ กิโลเมตร อุณหภูมิจะเย็น ลงเหลือเท่าๆ กับอุณภูมิของน้ำแข็ง หรือประมาณ ๐°ซ
 

ในบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร เช่น ประเทศสิงคโปร์ ประเทศอินโดนีเซีย และภาค ใต้ของประเทศไทย แสงอาทิตย์ส่องลงมาเกือบตรงศีรษะ (หรือเราเรียกว่า ส่องมาเกือบตั้งฉากกับพื้นดิน) ดังนั้นบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร จะได้รับความร้อนมากกว่าบริเวณใกล้ขั้วโลก เพราะบริเวณใกล้ขั้วโลกแสงอาทิตย์ส่องเฉียงๆ ลงมายังพื้นดิน จึงทำให้พื้นโลกได้รับรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์น้อยกว่า

แสดงฤดูร้อนของซีกโลกใต้ เพราะรังสีของดวงอาทิตย์ส่องลงมายังซีกโลกใต้เกือบเป็นมุมฉาก
 แต่เป็นฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ เพราะรังสีของดวงอาทิตย์ส่องเฉียงลงมายังพื้นดิน

 

พายุชนิดต่างๆ 

พายุที่เกิดขึ้นในบรรยากาศมีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์ กลางประมาณ ๑๐ เมตร ๑๐๐ เมตร ไปจนถึง ๑,๐๐๐ กิโลเมตร และความเร็วของลมในพายุบางชนิด จะถึง ๘๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง อันตราย และความเสียหายจากพายุต่างๆ มีตั้งแต่เล็กน้อย เช่น เสาไฟฟ้าล้มไปจนถึงผู้คนตายเป็นแสนๆ คน และทรัพย์สมบัติอาจจะเสียหายถึง หมื่นล้านบาทได้

พายุต่างๆ มีชื่อต่างกันแล้วแต่คุณสมบัติ และความรุนแรงของพายุนั้น พายุบางชนิดเกิดเฉพาะแห่งจึงมีชื่อตามภาษาพื้นเมือง ของประเทศนั้น พายุบางชนิดมีลักษณะเหมือนกันแต่มีชื่อต่างๆ กันตามแหล่งกำเนิด เช่น พายุเฮอร์ริเคน หรือไต้ฝุ่น เป็นพายุชนิดเดียวกัน แต่มีชื่อไต้ฝุ่น ถ้าเกิดทางตะวันตกของแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือแถว บริเวณประเทศฟิลิปินส์และไทย และมีชื่อว่า เฮอร์ริเคน ถ้าเกิดทางตะวันตกของบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือแถวบริเวณสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราจะกล่าวถึงพายุบางชนิดดังต่อไปนี้ 

๑. พายุฟ้าคะนอง

พายุชนิดนี้หมายถึง พายุที่มีลมพัดแรง และมีลมกระโชกด้วย มีฝนตกหนัก มีฟ้า แลบและฟ้าร้อง บางครั้งมีลูกเห็บด้วย พายุนี้ชอบเกิดในบริเวณที่มีอากาศร้อนและชื้น เช่น ในเดือนพฤษภาคม หรือในฤดูฝนของประเทศไทย พายุนี้เกิดจากเมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งมีรูปร่างสูงใหญ่มียอดคล้ายรูปทั่งตีเหล็ก ถ้าเรามองเห็นเมฆซึ่งมียอดเป็นรูปทั่ง แสดงว่า จะมีพายุฟ้าคะนอง เครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์ควรจะอยู่ห่างจากเมฆชนิดนี้ เพราะเป็นอันตรายต่อการบิน โดยเฉพาะเครื่องบินขนาดเล็ก หรือเฮลิคอปเตอร์

 

เมฆพายุฟ้าคะนองเรียกว่า เมฆคิวมูโลนิมบัส

 

พายุฟ้าคะนองนี้มีขนาดตั้งแต่ลูกเดียวโดดเดี่ยวห่างเป็นกิโลเมตรๆ ไป จนถึงติดต่อกันเป็นแนวยาวหลายสิบ หรืออาจถึงร้อยๆ กิโลเมตร 

๒. พายุไต้ฝุ่น 

พายุไต้ฝุ่น พายุเฮอร์ริเคน หรือพายุไซโคลน (ในมหาสมุทรอินเดีย) เป็นพายุหมุนที่เกิดในโซนร้อน และเริ่มเกิดจากทะเลเท่านั้น ในซีกโลกเหนือลมของพายุนี้จะพัดรอบศูนย์กลางจากขวาไปซ้ายตามทิศตรงกันข้ามกับการหมุนของเข็มนาฬิกา ในซีกโลกใต้ ลมของพายุนี้จะพัดตามทิศการหมุนของเข็มนาฬิกา พายุนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางเป็นร้อยๆ กิโลเมตร และอาจจะถึงพันกิโลเมตร หรือมากกว่านั้น ความเร็วของลมใกล้ศูนย์กลางอาจถึง ๒๕๐ หรือ ๓๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เราได้กล่าวไว้แล้วว่า พายุนี้ทำให้ทะเลมีคลื่นใหญ่และสูง และทำให้เกิดฝนตกหนัก ฉะนั้นอันตรายจากน้ำท่วมห รือคลื่นแรงจึงมีมาก

รูปตัดขวางตามแนวตั้งแสดงลักษณะของเมฆรอบๆ ศูนย์กลางของพายุไต้ฝุ่น
ตามธรรดามีความสูงน้อยกว่า ๑๕ กม. และเส้นผ่าศูนย์กลางอาจกว้างถึง ๑,๐๐๐ กม.

 

ส่วนพายุที่เราเรียกว่า พายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชันนั้น เป็นพายุที่มีความรุนแรงของลมน้อยกว่าพายุไต้ฝุ่น

๓. พายุทอร์นาโด 

พายุทอร์นาโด เป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุด ลมพัดรอบศูนย์กลางอาจจะมีความเร็วถึง ๘๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถทำความเสียหายให้แก่มนุษย์ และทรัพย์สมบัติได้มาก แต่พายุนี้มีขนาดเล็กซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ ถึง ๕๐๐ เมตร และมีอายุอยู่ได้ไม่นาน เฉลี่ยแล้วมีอายุน้อยกว่า ๑ ชั่วโมง ส่วนมากพายุชนิดนี้มักเกิดขึ้นใน ประเทศสหรัฐอเมริกา

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow