Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พืชที่ใช้ทำเชือกรวมทั้งทอกระสอบ

Posted By Plookpedia | 03 ก.ค. 60
5,663 Views

  Favorite

พืชที่ใช้ทำเชือกรวมทั้งทอกระสอบ

 

สมาชิกที่สำคัญในกลุ่มนี้เป็น ปอแก้ว ปอกระเจา นอกจากนั้นก็มีป่านศรนารายณ์ และมะพร้าว ซึ่งเป็นพืชให้อาหารพวกไขมัน และใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ส่วนที่เกือบจะลืมกันว่าเป็นพืชให้เส้นใย ก็คงจะเป็นกล้วย ที่ให้ผลเป็นอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต

 

เชือกกล้วย 

เป็นที่รู้จักกันมานานแล้วในชนบท แต่ในปัจจุบัน เราพบเห็นได้น้อย เพราะอิทธิพลของเทคโนโลยีสมัยใหม่ของการผลิตพลาสติก จากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม หรือที่เรียกกันว่า น้ำมัน ซึ่งเป็นสารอินทรีย์จากซากพืชซากสัตว์ที่ตายทับถมเป็นเวลานาน ทำให้เราได้ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ทำเป็นสิ่งของต่าง ๆ รวมทั้งเชือก มาอำนวยความสะดวก ทดแทนสิ่งที่ได้จากพืชมากมาย รวมทั้งใบตองที่ใช้ห่อของและ เชือกกล้วย ตามที่ใช้ประโยชน์กันจริง ๆ อย่าง มีประสิทธิภาพ ชนิดเป็นเส้นใยเหนียวนั้นเป็น ส่วนจากกาบใบตอนล่างที่หุ้มห่อซ้อนกันเป็น ลำต้น ไม่ใช่จากส่วนก้านใบหรือเส้นกลางใบ เชือกกล้วยจากกาบใบกล้วย เหนียว มีคุณภาพดี ใช้ประโยชน์ได้ดี โดยไม่ต้องนำมาฟั่นเป็นเกลียวก่อน ทำขายกันในลักษณะเชือกผูกของเท่านั้น เช่น ผูกเนื้อหมูห้อยเอาไว้ หรืออาจเอาใบตองห่อเนื้อหมูไว้ก่อน แล้วเอาเชือกกล้วยผูกไว้ข้างนอก ทำให้หิ้วหรือแขวนได้สะดวก วิธีทำคือ ลอกเอากาบกล้วยออกจากลำต้น ซึ่งความจริงเป็นส่วนของใบที่หุ้มทับ ๆ กัน โดยต้องระมัดระวัง ไม่ให้ส่วนของน้ำจากพืช ที่เรียกกันว่า ยางกล้วย เปรอะเปื้อนผ้า จนเป็นรอยด่างสีน้ำตาล ที่ติดเปื้อนไปตลอดได้ แล้วนำมาพาดบนราวไม้ไผ่ ใช้มีดกรีดให้เป็นเส้น ๆ หลายเส้น ตากแดดจนแห้ง ก็จะได้เส้นเชือกยาว ที่จะทอเสื่อหรือใช้ผูกของ ตลอดจนทำสิ่งทอ และเครื่องใช้อื่น ๆ ตามที่จะต้องการพัฒนาได้ บาง ประเทศมีอุตสาหกรรมที่ใช้พืชใบเสี้ยงเดี่ยว สกุลเดียวกับกล้วย คือ อะบาคาหรือมนิลา เฮมพ์ (abaca or Manila hemp) ที่จัดว่าเป็น อุตสาหกรรมที่ค่อนข้างใหญ่โตที่เดียว คือ ทำ กระดาษ เชือก และสิ่งของอื่น ๆ

 

กล้วย เป็นพืชเส้นใยอีกชนิดหนึ่งที่ให้ประโยชน์หลายอย่าง
กาบใบกล้วย

 

 

ป่านศรนารายณ์ (sisal)

ป่านศรนารายณ์มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า อะกาเว ไซซาลานา (Agave sisalana Perr.) เป็น พืชที่อยู่ในตระกูลอะกาเวซีอี (Agaveceae) ใบป่านศรนารายณ์มีสีเขียว แตกจากลำต้นแผ่ กว้างออกไปรอบโคนต้น ใบยาวประมาณ ๑.๒๐ เมตร ปลายใบเรียวเล็กจนถึงปลายสุดมีหนาม แข็งแหลมอยู่ ๑ อัน ผิวนอกของใบมีขี้ผึ้งหรือไข คลุมอยู่ทั่วทำให้ไม่เปียกน้ำ การออกดอกของต้นป่าน ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ และการตัดใบ โดยปกติเมื่อป่านศรนารายณ์อายุ ๘ ปี จะออกดอก แต่แทบไม่พบเห็นเมล็ดพันธุ์ แต่เกิดเป็นต้นอ่อน (bulbil) จากก้านดอกย่อย ไม่ได้เกิดจากเมล็ด เมื่อโตเต็มที่ต้นอ่อนจะหลุดออกจาก ก้าน (ประมาณ ๔-๖ เดือน) ตกลงมาที่พื้นดิน แล้วเจริญเติบโตต่อไปเอง ถ้าเราจะใช้ปลูก ต้อง นำไปเพาะชำให้โตดีเสียก่อนจึงจะได้ผลดี ซึ่งใช้ เวลาเพาะชำ ๖ เดือน หรือจนมีความสูงประมาณ ๓๐ เซนติเมตรเป็นอย่างน้อย หลังจากที่ต้นป่านออกดอกแล้ว ก็จะตาย โดยหาเมล็ดสำหรับสืบพันธุ์ได้ยาก

 

ช่อดอกของป่านศรนารายณ์



ป่านศรนารายณ์ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ให้เส้นใยจากใบที่จัดอยู่ในประเภทพืชเส้นใยแข็ง ส่วนใหญ่จึงใช้ในการผลิตเชือกขนาดใหญ่ใช้ ลากจูงเรือ และใช้ในวงการก่อสร้าง ใช้ทำที่ขัด หรือลูกบัฟ (buff) ขัดโลหะ เช่น ช้อนส้อม ตลอดจนใช้ทอผ้ารองพรม พรม และงานหัตถกรรมต่างๆ ต้นป่านศรนารายณ์เมื่อยังเล็ก จะมีลักษณะคล้ายต้นสับปะรด แต่เมื่อเจริญเติบโต จะมีขนาดใหญ่กว่าต้นสับปะรดมาก มีปลูกกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เป็นไม้ประดับและรั้วบ้าน บางท้องถิ่นปลูกเพื่อใช้ประดิษฐ์สิ่งของ ในครอบครัว เช่น แส้ปัดยุง หมวก และกระเป๋าถือ เป็นต้น

พืชชนิดนี้มีความทนทานต่อสภาวะอากาศที่แห้งแล้ง ต้องการแสงแดดจัด สามารถเจริญเติบโตได้ในที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ต้องการปุ๋ยน้อย ต้องการการดูแลการเอาใจใส่มาก ใน ระยะเริ่มต้นปลูกที่ยังตั้งตัวไม่ได้เท่านั้น หลังจากอายุประมาณ ๒-๓ ปี ก็เจริญเติบโตเต็มที่ สามารถตัดใบมาใช้ประโยชน์ได้ ในการปลูก ครั้งหนึ่งนั้นต้นป่านศรนารายณ์จะมีอายุยืนนาน สามารถตัดใบไปได้จนกว่ามันจะตาย ซึ่งมีระยะ ประมาณ ๘-๑๐ ปี จึงปลูกใหม่ โดยใช้หน่อ (sucker) ที่เกิดจากลำต้นใต้ดิน (ต้นแม่) ซึ่ง นำไปใช้ปลูกต่อไปได้เช่นเดียวกับสับปะรด โดย ใช้ระยะระหว่างแถว ประมาณ ๑-๒ เมตร และ ระหว่างต้น ๕๐-๘๐ เซนติเมตร นอกจากนั้น สามารถใช้ต้นอ่อนที่เกิดที่ช่อดอก ดังกล่าว ไว้แล้ว

 

การขูดเส้นใยของใบป่านศรนารายณ์ เพื่อจะใช้ทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ



การตัดใบป่าน เป็นงานค่อนข้างยาก ต้องใช้แรงงาน และความชำนาญ นิยมใช้มีดที่มีด้ามไม้กว้าง ๓ เซนติเมตร ยาว ๑๘ เซนติเมตร ตัดใบป่านจรดลำต้น แล้วตัดหนามแหลมที่ปลายยอด วิธีแยกเส้นใยที่ทำกันในประเทศไทยสมัย เริ่มแรกนั้น กระทำโดยวิธีแช่หมักใบป่านให้ เน่าเปื่อยเสียก่อน แล้วจึงนำมาทุบให้แหลก แล้วสั่นหรือเขย่าให้เปลือกหลุด นำไปล้างน้ำ ให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง ได้มีการพัฒนาแยกเส้นใยเสียใหม่ เรียกว่า วิธีขูดป่านสด ซึ่งอาจใช้เครื่องหรือขูดด้วยมือก็ได้ ในการขูดด้วยมือ โดยไม่ต้องอาศัยเครื่อง จะขูดได้ ประมาณวันละ ๒-๓ กิโลกรัม โดยผ่าใบป่าน ตามยาวของใบออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ กว้างประมาณ ๑-๒ นิ้ว (๒.๕-๕.๐ เซนติเมตร) แล้วจึงนำ ไปดึงผ่านใบมีดที่ทำด้วยเหล็กหรือไม้ลวกที่มี ความคม ๒ ใบ ที่วางชิดกันพอให้ส่วนหนา ของใบป่านผ่านได้ ดึงใบป่านไปตามความยาว ของใบผ่านใบมีดนี้หลาย ๆ ครั้ง จนกว่าเปลือก จะลอกหมด ก่อนนำไปทำเครื่องหัตถกรรม นำ เส้นใยตากแดดให้แห้งประมาณ ๒ วัน อย่าให้ ถูกแดดจัดเกินไป เพราะจะทำให้สีของเส้นใย ซีดลง ย้อมสีและผึ่งลมให้แห้ง แยกป่านที่ขูดได้ ๕-๑๐ เส้น ฟั่นเป็นเกลียว หรือถักเป็นเปีย จากนั้นจึงถักเป็นกระเป๋า เย็บเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ

 

การฟั่นเส้นใยป่านศรนารายณ์เป็นเกลียวหรือถักเป็นเปีย


ปริมาณ หรือน้ำหนักของเส้นใยที่จะได้จากป่านนั้น จากการทดลองของงานปอและพืชเส้นใย กองอุตสาหกรรมสิ่งทอ ปรากฏว่า น้ำหนักใบป่านสด ๑๐๐ กิโลกรัม จะให้เส้นใย ๒.๕-๓.๐ กิโลกรัม ใบป่านสด ๒๕๐ ใบ จะ หนักประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัม ในเนื้อที่ ๑ ไร่ กสิกรอาจผลิตเส้นใยป่านได้ ๖๐-๘๐ กิโลกรัม โดยขายได้กิโลกรัมละ ๑๐-๑๖ บาท ในกรณีใบสดขายตันละประมาณ ๒๐๐ บาท ใน ๑ ไร่ จะได้ใบป่านสดประมาณ ๕ ตันต่อไร่

 

 

รามี (ramie)

ป่านรามีเป็นพืชเส้นใยธรรมชาติที่ใช้ประโยชน์กันมานานแล้ว เส้นใยรามีมีคุณสมบัติที่ดีมาก ในด้านความเหนียว เมื่อเทียบกับเส้นใย ธรรมชาติอื่นๆ มีความเหมาะสม ใช้งานหลายประเภท ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เพื่อการสวมใส่ และด้านอุตสาหกรรม ที่ต้องการความคงทน สูง เช่น เชือก แห อวน ตลอดจนการใช้ทำเยื่อกระดาษ ธนบัตร ฉนวนไฟฟ้า และอื่น ๆ เช่น ผสมกับชันเป็นหมันหรือด้ายดิบที่ยังไม่ได้ฟอก หรือทำให้สะอาด สำหรับอุดแนว ช่องแคบ ๆ หรือรอยแยกของเรือที่เป็นไม้มาประกบกัน

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๒๙ มีองค์กรเอกชนของไทยร่วมมือกับจีน ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งโรงงานปั่นด้ายรามี ในนามบริษัท ไทยรามีเท็กซ์ไทล์ จำกัด และได้มีการ ทำแปลงทดลองและขยายพันธุ์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ในเขตจังหวัดเลย เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา โดยนำพันธุ์มาจากจีนและไต้หวัน แต่โครงการนี้ต้องล้มเลิกไปในปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ด้วยเหตุผลหลายประการ ในอนาคต ป่านรามีจะเป็นเส้นใยที่กิจการอุตสาหกรรมต้องการมากขึ้น และเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ อีกพืชหนึ่งของไทย

ป่านรามี เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ขึ้นเป็นพุ่ม ขนาดลำต้นสูงประมาณ ๒๕๐ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น ๑๔-๒๐ มิลลิเมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและสภาวะอากาศ ใบมีลักษณะมน มีรูปคล้ายหัวใจ กว้างประมาณ ๕๐-๑๓๐ มิลลิเมตร ยาว ๑๐๐- ๑๕๐ มิลลิเมตร สีเขียวทั้งสองด้าน หรือด้าน ล่างค่อนข้างขาว ขอบใบเว้าหยักเป็นซี่โดยรอบ คล้ายใบเลื่อย ดอกสีเขียวอ่อน ออกเป็นกลุ่มอยู่ ตรงโคนแกนหรือก้านใบ มีเมล็ดเล็ก ลักษณะ เป็นมัน ซึ่งใช้ขยายพันธุ์ได้ดีเช่นเดียวกับการ ใช้ต้นหรือกิ่งตัดปักชำ

ต้นป่านที่เจริญเติบโตในระยะแรกจะเป็นพุ่ม ไม่เหมาะสมที่จะตัดเอาไปขูดเส้นใย ควรตัดส่วนของต้นที่พื้นดินทิ้ง และเมื่อแก่เต็มที่ไม่ สามารถขูดเอาเส้นใยได้แล้ว ควรตัดทิ้งเสีย ครั้งหนึ่ง เพราะป่านระยะนี้มีคุณภาพเส้นใยต่ำ และหยาบ ส่วนที่เจริญเติบโตในระยะที่ ๒ และ ต่อไป สามารถตัดเพื่อขูดเอาเส้นใยได้ ระยะ เวลาที่ตัดควรห่างกัน ๔๕-๖๐ วัน ในปีแรก ต้นป่านจะสูงมาก ปีต่อไปต้นจะไม่สูงมาก ลำต้นจะเล็ก แต่มีเส้นใยมาก ระยะที่จะให้เส้นใย มากเป็นปีที่ ๓ จะต้องตัดในระยะที่ต้นป่านโตเต็มที่ จึงจะได้เส้นใยมาก
 

ต้นป่านรามีที่มีก้านใบสีแดง
ช่อเมล็ดของป่านรามี

 

 

การกำจัดเมือกหรือยางเหนียวในเส้นใยป่านรามี

เนื่องจากเส้นใยมียางหรือเมือกเหนียว ไขและเนื้อไม้เกาะแน่น จึงจำเป็นจะต้องหาวิธีแยกเอายางและไขออกเสียก่อน ซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ในสมัยก่อน นิยมต้มเส้นใยในสารละลายด่าง ทำให้ได้เส้นใยขาว ไม่แข็งกระด้าง แต่ยังมีเศษยางเหลือติดอยู่กับเส้นใยบ้าง วิธีที่ นิยมทำกันในวงการอุตสาหกรรม คือ ต้มเส้นใย ภายใต้ความกดดันกับด่าง แล้วล้างด้วยน้ำ

 

ประโยชน์ของเส้นใยป่านรามี

เส้นใยป่านรามีมีคุณสมบัติที่ดีกว่าเส้นใยพืชชนิดอื่นหลายอย่าง มีความเหนียวมากกว่าฝ้าย ๘ เท่า มากกว่าป่านลินิน ๔ เท่า มีความยืดหยุ่นเท่าเทียมกับฝ้าย แต่ด้อยกว่าไหม เมื่อถูกน้ำจะเพิ่มความเหนียวขึ้นอีก ๓๐-๖๐% ไม่หด ถ้าปั่นควบกับเส้นใยอื่น จะทำให้ได้เส้นด้ายที่มี ลักษณะและคุณภาพสูงกว่าเดิม ทำให้ผลิตภัณฑ์ มีราคาและน่าใช้ยิ่งกว่าใช้เส้นใยป่านรามีล้วน ๆ เส้นใยป่านรามีคล้ายคลึงกับเส้นใยลินินมาก และมีประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมมาก 

 

เส้นใยป่านรามีจัดเป็นเส้นใยประเภท เส้นใยยาวจากลำต้น (bast fiber) มีความเหนียว และความคงทนดีกว่าเส้นใยพืชชนิดอื่น มีความคงทน ไม่เน่าผุง่าย แม้ว่าจะปล่อยทิ้งไว้บนดิน หรือจมอยู่ในน้ำ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow