อย่างไรก็ตาม การจำแนกหมู่เลือดที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุดและเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง คือ การจำแนกหมู่เลือดในระบบ ABO โดยจำแนกได้เป็น 4 หมู่ด้วยกัน ได้แก่ หมู่ A, หมู่ B, หมู่ O และหมู่ AB
หมู่เลือดเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกหากลูกจะมีหมู่เลือดที่เหมือนพ่อหรือแม่ แต่เมื่อไรที่ลูกมีหมู่เลือดที่แตกต่างจากพ่อหรือแม่ ก็อาจจะกลายเป็นข้อกังขาภายในครอบครัวได้ ซึ่งในความเป็นจริง การที่ลูกมีหมู่เลือดที่แตกต่างจากพ่อหรือแม่นั้นมีความเป็นไปได้อยู่ เพื่อให้เข้าใจในข้อนี้ เราจำเป็นต้องรู้จักกับการจำแนกหมู่เลือดกันก่อน
การจำแนกหมู่เลือดในระบบ ABO จะจำแนกด้วยแอนติเจน (คาร์โบไฮเดรตที่เคลือบอยู่ที่ผิวของเม็ดเลือดแดง) และแอนติบอดี (โปรตีนชนิดหนึ่งที่เม็ดเลือดขาวสร้างขึ้นเพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย) หมู่เลือดทั้งสี่มีแอนติเจนและแอนติบอดีที่แตกต่างกันดังนี้
หมู่เลือด | แอนติเจน | แอนติบอดี | หมายเหตุ |
A | A | B | ไม่สามารถรับเลือดที่เป็นหมู่ B และ AB ได้ แต่จะรับเลือดหมู่ A และ O ได้ |
B | B | A | ไม่สามารถรับเลือดที่เป็นหมู่ A และ AB ได้ แต่จะรับเลือดหมู่ B และ O ได้ |
O | ไม่มี | A และ B | ไม่สามารถรับเลือดที่เป็นหมู่ A B และ AB ได้ จะรับได้เฉพาะเลือดหมู่ O เท่านั้น |
AB | A และ B | ไม่มี | สามารถรับเลือดได้ทุกหมู่ |
ทีนี้ลองมาดูความเป็นไปได้ของหมู่เลือดของลูกกันบ้าง โดยเราจะแทนหมู่เลือดด้วยตัวอักษร 2 ตัว (ตัวหนึ่งเป็นลักษณะที่มาจากพ่อ อีกตัวหนึ่งเป็นลักษณะที่มาจากแม่ คล้ายกับการแทนโครโมโซมเพศชายเป็น XY และเพศหญิงเป็น XX) และ A B เป็นลักษณะเด่น ส่วน O เป็นลักษณะด้อย ดังนั้น หากเข้าคู่กันแล้ว ลักษณะเด่นย่อมแสดงออก และข่มลักษณะด้อยไว้ หมู่เลือดจึงแสดงออกมาตามลักษณะเด่น ดังต่อไปนี้
ดังนั้น หากฝ่ายหนึ่งมีหมู่เลือด A อีกฝ่ายมีหมู่เลือด O ลูกจะมีโอกาสเป็นหมู่เลือด A หรือ O เท่านั้น
ในทำนองเดียวกัน
หากฝ่ายหนึ่งมีหมู่เลือด A อีกฝ่ายมีหมู่เลือด B ลูกจะมีโอกาสเป็นหมู่เลือด A B AB หรือ O ก็ได้
หากฝ่ายหนึ่งมีหมู่เลือด A อีกฝ่ายมีหมู่เลือด AB ลูกจะมีโอกาสเป็นหมู่เลือด A B หรือ AB
หากทั้งสองฝ่ายมีหมู่เลือด B ลูกจะมีโอกาสเป็นหมู่เลือด B หรือ O เท่านั้น
หากฝ่ายหนึ่งมีหมู่เลือด B อีกฝ่ายมีหมู่เลือด AB ลูกจะมีโอกาสเป็นหมู่เลือด A B หรือ AB
หากฝ่ายหนึ่งมีหมู่เลือด B อีกฝ่ายมีหมู่เลือด O ลูกจะมีโอกาสเป็นหมู่เลือด B หรือ O เท่านั้น
หากทั้งสองฝ่ายมีหมู่เลือด O ลูกจะมีโอกาสเป็นหมู่เลือด O เท่านั้น
หากทั้งสองฝ่ายมีหมู่เลือด AB ลูกจะมีโอกาสเป็นหมู่เลือด A B หรือ AB เท่านั้น
หากฝ่ายหนึ่งมีหมู่เลือด AB อีกฝ่ายมีหมู่เลือด O ลูกจะมีโอกาสเป็นหมู่เลือด A B หรือ O เท่านั้น
แม้ว่าการคิดแบบครอสกันระหว่างหมู่เลือดแบบคร่าวๆ จะทำให้พอคาดเดาหมู่เลือดของลูกได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ในบางกรณี ที่อยู่นอกเหนือจากที่กล่าวมา โดยลูกอาจมีหมู่เลือดที่แตกต่างจากพ่อแม่อย่างไม่น่าเป็นไปได้ ซึ่งมาจากการที่ลูกมีหมู่เลือดพิเศษที่เรียกว่า หมู่เลือด O-bombay (คนละอย่างกับหมู่เลือด O-negative)
หมู่เลือด O-bombay พบครั้งแรกที่เมืองบอมเบย์ (มุมไบในปัจจุบัน) ประเทศอินเดีย ดังนั้น จึงเรียกชื่อหมู่เลือดพิเศษนี้ตามเมืองที่พบในครั้งแรก ซึ่งอัตราส่วนของผู้ที่มีเลือดหมู่นี้มีน้อยมากเพียง 1 : 250,000 เท่านั้น หรือในคน 1,000,000 คนบนโลก จะมีเพียง 4 คนที่มีหมู่เลือด O-bombay เชื่อกันว่าหมู่เลือดนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม (mutation) ในประชากรชาวอินเดียและก็มีการแพร่กระจายอย่างช้าๆ ไปทั่วโลก
ความพิเศษของหมู่เลือด O-bombay คืออะไร ทำไมจึงทำให้ลูกมีเลือดที่แตกต่างจากพ่อแม่อย่างไม่น่าเป็นไปได้ ก็ต้องย้อนกลับไปที่แอนติเจน A และแอนติเจน B ซึ่งแอนติเจนทั้งสองนี้สร้างมาจากแอนติเจน H ที่พบได้บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดแดงอีกที โดยแอนติเจน H พบได้ในหมู่เลือดปกติทุกหมู่ (เพียงแต่จะสร้างแอนติเจน A แอนติเจน B หรือไม่สร้างทั้งแอนติเจน A หรือ B เท่านั้น) ขณะที่ในหมู่เลือด O-bombay จะไม่แสดงแอนติเจน H แต่มีแอนติบอดี A และ B เหมือนหมู่เลือด O
การที่หมู่เลือด O-bombay ไม่แสดงแอนติเจน H เลย มาจากยีนที่เป็น hh genotype ซึ่งอาจเกิดจากการจับคู่ของยีน Hh genotype ของพ่อและแม่ กรณีของหมู่เลือด O-bombay มีให้เห็นอยู่บ้าง เช่น พ่อมีหมู่เลือด AB แม่มีหมู่เลือด A ลูกมีหมู่เลือด O ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ แต่มันเป็นไปได้ ถ้าทั้งพ่อและแม่ของเด็กมียีน Hh ทำให้เด็กที่เกิดมามียีน hh genotype ดังนั้น แม้จะได้รับพันธุกรรมหมู่เลือดจากพ่อและแม่ แต่เด็กก็ไม่สามารถแสดงแอนติเจนให้เห็นได้ จึงกลายเป็นว่าเด็กมีหมู่เลือด O นั่นเอง