ภาวะพร่องออกซิเจน หมายถึง ภาวะที่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเป็นสาเหตุให้การทำงานของร่างกายและสมองบกพร่อง
แบ่งตามสาเหตุได้เป็น ๔ ชนิด คือ
๑. ภาวะพร่องออกซิเจนซึ่งร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย (Hypoxic Hypoxia) เป็นภาวะพร่องออกซิเจนที่พบได้บ่อยที่สุดเกิดขึ้นเนื่องจาก
๑.๑ ความกดดันของออกซิเจนในถุงลมปอดลดลง มักเกิดขึ้นจากการขึ้นไปอยู่ในที่สูงซึ่งความกดบรรยากาศลดลงทำให้ความกดดันย่อยของออกซิเจนลดลงด้วย จึงอาจเรียกภาวะพร่องออกซิเจนแบบนี้ว่า ภาวะพร่องออกซิเจนจากระยะสูง (Altitude Hypoxia) นอกจากนี้แล้วอาจเกิดจากการกลั้นหายใจ โรคหอบหืด อากาศที่หายใจมีก๊าซอื่นปะปน เป็นต้น
๑.๒ พื้นที่ซึ่งใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างปอดกับกระแสโลหิตลดลง เช่น ปอดบวม ปอดแฟบ มีลมในช่องปอด จมน้ำ เป็นต้น
๑.๓ ออกซิเจนไม่สามารถซึมผ่านจากถุงลมปอดไปสู่กระแสโลหิตได้สะดวก เช่น ปอดบวม จมน้ำ โรคเยื่อไฮยาลีน เป็นต้น
๒. ภาวะพร่องออกซิเจนซึ่งมีสาเหตุจากเลือด (Hypemic Hypoxia)
เป็นภาวะพร่องออกซิเจนที่เกิดจากความบกพร่องในการนำพาออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น จำนวนเม็ดเลือดแดงในกระแสโลหิตลดลงจากโรคโลหิตจางหรือการเสียเลือด ภาวะผิดปกติของสารเฮโมโกลบิน (Hemoglobin) ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้ตามปกติ ตลอดจนการที่ร่างกายได้รับยาหรือสารพิษบางอย่างที่ทำให้สารเฮโมโกลบินหรือเม็ดเลือดแดงเกิดความบกพร่องในการจับออกซิเจน เช่น ยากลุ่มซัลฟานิลาไมด์ (Sulfanilamides) สารไซยาไนด์ (Cyanide) หรือก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) เป็นต้น
๓. ภาวะพร่องออกซิเจนซึ่งมีสาเหตุจากการคั่งของกระแสโลหิต (Stagnant Hypoxia)
เป็นภาวะพร่องออกซิเจนที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการไหลเวียนของกระแสโลหิต เช่น การลดลงของปริมาณแรงดันเลือดจากหัวใจ เนื่องจากโรคหัวใจล้มเหลวหรือภาวะเลือดคั่งอยู่ที่ร่างกายส่วนล่างเนื่องจากแรง G เป็นต้น
๔. ภาวะพร่องออกซิเจนซึ่งมีสาเหตุจากภาวะเป็นพิษของเซลล์ (Histotoxic Hypoxia)
เป็นภาวะพร่องออกซิเจนซึ่งเกิดขึ้นจากการที่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายไม่สามารถนำเอาออกซิเจนไปใช้ได้เนื่องจากได้รับสารพิษ เช่น แอลกอฮอล์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ สารไซยาไนด์ เป็นต้น
ภาวะพร่องออกซิเจนนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากมักจะเกิดอาการขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่รู้สึกตัว (Insidious onset) จนหมดสติไปในที่สุด โดยทั่วไปแล้วมีอาการและอาการแสดง ดังนี้
อาการ (Subjective symptoms)
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตนเองรู้สึกได้เช่น มึนงง วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ร้อน ๆ หนาว ๆ วูบวาบตามตัว มือเท้าชา ตาพร่ามัว ลานสายตาแคบลง เคลิ้มฝันเป็นสุข (euphoria) ไม่รู้สึกวิตกกังวลใด ๆ เป็นต้น อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับแต่ละคนและแต่ละวันอาจจะแตกต่างกันไปซึ่งตัวเองอาจสังเกตและจดจำไว้เป็นสัญญาณเตือนให้ทราบว่ากำลังเกิดภาวะพร่องออกซิเจนขึ้นแล้ว
อาการแสดง (Objective signs)
เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผู้อื่นสามารถสังเกตเห็นหรือตรวจพบได้ เช่น หายใจเร็วและลึกขึ้น (air hunger) เขียวคล้ำ (cyanosis) สับสน (confusion) การทำงานของกล้ามเนื้อไม่ประสานกัน (muscle incoordination) หรือหมดสติในที่สุด
คือ ระยะเวลาตั้งแต่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการของภาวะพร่องออกซิเจนขึ้นจนกระทั่งหมดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานซึ่งขณะนั้นอาจจะยังไม่ถึงกับหมดสติก็ได้ ระยะเวลาดังกล่าวขึ้นอยู่กับระยะสูงที่ทำการบินซึ่งมีค่าเฉลี่ยตามตารางแสดงระยะเวลาครองสติที่ระยะสูงต่าง ๆ