Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการศึกษา

Posted By Plookpedia | 01 ก.ค. 60
9,219 Views

  Favorite

การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการศึกษา


โดยหลักการแล้ว การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการศึกษาอาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ ใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษา และใช้เป็นเครื่องมือในการสอน

การบริหารการศึกษา เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันการศึกษา ที่มีนักศึกษาจำนวนมาก หรือมีวิชาจำนวนมากที่เปิดให้นักศึกษาเลือกเรียนตามความถนัด และความต้องการ ดังนั้น ผู้บริหารการศึกษาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทราบข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ในการจัดเตรียมงบประมาณ จัดเตรียมห้องเรียนได้ตามความต้องการ จัดครูหรืออาจารย์ผู้สอนได้ตามความถนัดของผู้สอน และมีชั่วโมงการสอนพอเหมาะทุกคน รวมทั้งการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในแต่ละสาขาวิชา เพื่อที่จะได้ทราบว่า ในปีต่อๆ ไป ถ้าเราจะผลิตนักศึกษาเหล่านั้น จะต้องลงทุนอีกเท่าใด และถ้าเพิ่มจำนวนนักศึกษาขึ้นอีก จะมีผลทำให้ต้องเพิ่มบุคลากร อาคาร ห้องเรียน และงบประมาณเป็นเท่าใด นอกจากนี้ยังสามารถพิจารณาได้ว่า วิชาการประเภทใดบ้าง ที่นักศึกษาไม่ค่อยนิยมเรียน อาจจะต้องหาทางชี้แจงให้นักศึกษาเข้าใจ หรือพิจารณาปิดวิชาเหล่านั้น โดยทั่วไปแล้ว ในการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ทางการบริหารการศึกษานั้น จะแบ่งข้อมูลออกเป็น ๕ ด้าน คือ ด้านนักศึกษา ด้านแผนการเรียน ด้านบุคลากร ด้านการเงิน และด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์ 

ข้อมูลด้านนักศึกษา เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของนักศึกษาว่า เกิดเมื่อใด ที่ไหน ชื่อบิดามารดา อาชีพบิดามารดา เคยเรียนมาจากที่ไหนบ้าง เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งเป็นประวัติการศึกษาในระหว่างศึกษาอยู่ ณ สถาบันนั้นๆ ว่า เคยลงทะเบียนเรียนวิชาอะไร ผลการศึกษาเป็นอย่างไรในแต่ละภาคการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลดังกล่าวครบถ้วน ส่วนใหญ่เขาจะนิยมใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในงานลงทะเบียน 

ข้อมูลด้านแผนการเรียน เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับวิชาที่เปิดสอนว่า แต่ละวิชามีรหัสชื่อวิชา หน่วยกิต เวลาเรียนและสอนที่ไหน และวิธีสอนเป็นบรรยาย หรือปฏิบัติ เป็นต้น 

ข้อมูลด้านบุคลากร เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับครูผู้สอนว่า มีวุฒิอะไร มาจากที่ไหน เพศหญิง หรือเพศชาย สอนวิชาอะไรบ้าง กำลังวิจัย หรือเขียนตำราเรื่องอะไร และเงินเดือนเท่าใด เป็นต้น 

ข้อมูลด้านการเงิน เป็นข้อมูลที่สถานการศึกษานั้นได้รับเงินจากอะไรบ้าง ได้ใช้เงินเหล่านั้นแต่ละเดือนเท่าไร ใช้ซื้ออะไรบ้าง และยังเหลือเงินอยู่เป็นจำนวนเท่าใด เป็นต้น 

ข้อมูลด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์ เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับอาคาร ห้องแต่ละห้องเป็นห้องปฏิบัติการ หรือห้องบรรยาย ห้องพักนักศึกษา ห้องทำงาน ความจุของแต่ละห้อง มีโต๊ะและเก้าอี้กี่ตัว ขนาดห้องกว้างและยาวเท่าใด และในแต่ละห้องมีอุปกรณ์เครื่องมืออะไรบ้าง เป็นต้น 

จากข้อมูลทั้ง ๕ ด้านที่ได้จากคอมพิวเตอร์นี้ ผู้บริหารการศึกษาสามารถนำมาใช้ช่วยในการตัดสินใจได้ เช่น อยากจะทราบว่า ผลการเรียนในแต่ละวิชามีการให้เกรดผู้สอบอย่างไร คอมพิวเตอร์ก็สามารถวิเคราะห์ออกมาได้ เพื่อใช้พิจารณาความยากง่ายของข้อสอบ หรือการให้คะแนนสอบ เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน ถ้าต้องการทราบว่า ในสถานศึกษาของตนเองสอนวิชาหนักไปทางไหนบ้าง ถ้าจะเพิ่มวิชาอีกจะมีอาจารย์ผู้มีความรู้ด้านนั้นๆ หรือไม่ ทางด้านอาคารสถานที่ก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่า มีการใช้ห้องเต็มที่หรือไม่ ถ้าเพิ่มนักศึกษาอีก จะมีปัญหาเรื่องอาคารเรียนอย่างไรบ้าง เป็นต้น

 

ปัจจุบันคอมพิวเตอร์มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ
คอมพิวเตอร์จึงเป็นสาขาวิชาหนึ่งที่สถาบันการศึกษาเปิดสอนให้แก่นิสิตนักศึกษา

 

 

การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการสอนนี้ มีผู้เกรงกลัวกันเป็นอันมากว่าจะทำให้ครูตกงานแต่ตามความเป็นจริงแล้วคอมพิวเตอร์อาจช่วยครูทำงานบางอย่างได้ดีกว่าครูแต่ก็มีงานหลายอย่างที่คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้ยังคงจำเป็นที่จะต้องให้ครูทำอยู่อย่างแน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่คอมพิวเตอร์ช่วยทำได้ดีกว่าครูนั้นเป็นงานจำเจซึ่งครูเองคงไม่ตื่นเต้นสนใจหรือต้องการที่จะทำอยู่ตลอดไปนักฉะนั้นคอมพิวเตอร์จะช่วยให้ครูใช้ความรู้ความสามารถพิเศษให้เป็นประโยชน์แก่ระบบการศึกษาได้มากขึ้น

เพื่อให้เข้าใจว่าคอมพิวเตอร์จะช่วยในการสอนได้อย่างไรนั้นสิ่งแรกที่ควรทำก็คือศึกษาและพิจารณาระบบการศึกษาปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้างจะ ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยได้หรือไม่ข้อเสียที่สำคัญๆ ของระบบการศึกษาที่ยังไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการสอนมีอยู่สองประการคือ 

๑. ความไม่ยืดหยุ่นของระบบ เมื่อพบว่าอะไร ควรจะแก้ไขปรับปรุง กว่าจะปรับปรุงเสร็จก็ใช้เวลานานมาก อาจเป็นเวลา ๒-๓ ปี และเมื่อปรับปรุงเสร็จก็มักจะกล่าวว่า สิ่งที่ได้ปรับปรุงแล้วนั้นไม่เหมาะสม ไม่ทันต่อเหตุการณ์ แล้วจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงใหม่อีก 

๒. ความไม่สามารถของระบบที่จะจัดให้นักเรียน แต่ละคนได้มีโอกาสเลือกเรียนได้ช้าหรือเรียนได้เร็วตามความชอบ ความเฉลียวฉลาด และความสามารถของเด็ก เช่น เด็กคนใดมีความชอบหรือมีความคล่องในวิชาใดเป็นพิเศษ ควรจะเรียนวิชานั้น ให้เข้าใจได้ในระยะเวลาอันสั้น และรวดเร็ว กว่าเด็กคนอื่น แต่ในปัจจุบันเด็กทุกคนจะต้องมานั่งทนเรียนวิชานั้น ไปจนสิ้นสุดภาคการศึกษา ตามที่กำหนดไว้ให้ ซึ่งอาจ จะทำให้เด็กคนนั้นเบื่อมาก จนอาจก่อกวนให้เด็กคนอื่นเสียการเรียนไปด้วย 

ข้อเสียทั้งสองประการข้างบนนี้ พอจะมีทางแก้ไขได้ ไม่ยากนัก โดยการใช้คอมพิวเตอร์ช่วย ซึ่งถ้าจะให้ได้ผลดีเต็มที่ จะต้องใช้คอมพิวเตอร์แบบที่ใช้พร้อมๆ กันได้หลาย สิบคนให้ทั้งเด็กและครูแต่ละคน และทุกคนมีโอกาสได้ใช้คอมพิวเตอร์เมื่อใดก็ได้ เท่าที่เขาต้องการ คอมพิวเตอร์จะต้องเก็บข้อมูลทั้งหมดของเด็กและครูทุกคน โดยละเอียด ว่าเด็กคนไหนเรียนวิชาอะไรถึงไหน มีปัญหาหรืออุปสรรค อะไร ครูคนไหนมีหน้าที่ดูแลเด็กคนไหน สนใจขอดูรายงาน เกี่ยวกับเด็กในความดูแลของตนเพียงพอหรือไม่ ถ้าครู อยากทราบผลการเรียนของเด็ก ก็อาจถามคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์จะแสดงรายงานให้อ่านบนจอโทรทัศน์ได้ทันที หรือถ้าต้องการรายงานเป็นหลักฐาน คอมพิวเตอร์ก็พิมพ์ ออกมาให้ได้ ประโยชน์สำคัญที่สุดก็คือ เด็กแต่ละคนจะ มีโอกาสได้ศึกษาวิชาที่สนใจตามอัตราช้าเร็วตามความ ต้องการของตน ถ้าเด็กคนไหนสนใจวิชาใดมาก จะเรียน ติดต่อกันให้จบในสัปดาห์เดียวก็ได้ ถ้าสนใจจะศึกษาหา ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนั้น คอมพิวเตอร์ก็ช่วยแนะนำหนังสือ อ่านประกอบต่อไปได้ ถ้าเด็กคนไหนไม่ชอบวิชานั้นนัก เรียนเป็นเวลาหลายเดือนก็ไม่ได้ผล คอมพิวเตอร์ก็จะช่วย หาวิธีสอนแบบต่างๆ เช่น เรียนโดยการเล่น เป็นต้น คุณภาพของระบบการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยนี้ จะมีประสิทธิภาพเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบระบบ และ แต่งตำราสำหรับระบบโดยตรง ซึ่งอาจใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายด้านหลายคนช่วยกันได้

 

ใบแจ้งผลการสอบไล่ซึ่งพิมพ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์

 

โดยสรุปแล้วการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการเรียนการสอนอาจได้ประโยชน์ต่างๆ ดังต่อไปนี้ 

๑. คอมพิวเตอร์สามารถเปลี่ยนแปลงจุดเริ่มต้นและจังหวะช้าเร็วของการเรียนการสอน ให้เข้ากับนักเรียนแต่ละคนและทุกๆคนได้ทันทีทันใด 

๒. งานซ้ำซากที่ครูไม่อยากทำและไม่น่าจะต้องทำ เช่น จัดทำตารางสอบ รวมคะแนนสอบ จัดลำดับคะแนน คำนวณหาคะแนนเฉลี่ย ครูก็จะไม่ต้องทำเพราะ ให้คอมพิวเตอร์ทำแทนได้ 

๓. ครูมีเวลาเอาใจใส่ ช่วยแนะนำแก้ปัญหาด้าน จิตใจ ด้านครอบครัว ให้เด็กได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น 

๔. คอมพิวเตอร์สามารถเก็บประวัติผลการเรียน ของเด็กทุกคน ทุกวิชา ได้อย่างละเอียดมากกว่าที่ครูจะจำได้หมด และคอมพิวเตอร์สามารถเสนอรายงานด้านต่างๆ เกี่ยวกับเด็กแต่ละคน ให้ครูได้ใช้ประกอบการตัดสินใจได้รวดเร็วทันใจกว่าที่ครูจะให้เลขานุการช่วยค้น หรือที่ครูจะลง มือทำประวัติเหล่านั้นด้วยตนเอง 

๕. เด็กสามารถเลือกเรียนวิชาที่ตนสนใจได้ แม้ ว่าโรงเรียนที่เด็กอยู่นั้น จะไม่มีครูที่มีความรู้ความสามารถ จะสอนวิชานั้นๆ ได้

๖. เราสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบคอม- พิวเตอร์ที่ใช้ ได้ง่ายกว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของครู เพราะเครื่องไม่มีความรู้สึกว่า จะเสียเหลี่ยม ที่จะต้องยอมรับว่า อะไรที่เคยทำอยู่แล้วนั้นไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ ปัจจุบัน จำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง 

๗. การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการเรียนการสอน อาจจะทำให้ทั้งเด็กและครูเข้าใจความเกี่ยวข้องของวิชาต่างๆ มากขึ้น 

๘. การให้เด็กได้รู้จักการใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยัง อยู่ในโรงเรียน จะเป็นการเตรียมให้เด็กไม่กลัวการใช้คอมพิวเตอร์ เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว เพราะในอนาคตนั้น งานทางด้านรัฐบาลและเอกชนก็จะต้องเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ทั้งนั้น 

ข้อเสียของการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการเรียนการ สอนก็คือ ค่าใช้จ่ายสูง ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการศึกษา และด้านคอมพิวเตอร์ ต้องลงแรงใจในการออกแบบระบบ มากกว่าการเขียนตำราธรรมดา

สำหรับประเทศเรานั้น ถ้าจะไปซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งชุดคำสั่งสำหรับช่วยในการเรียนการสอน และจ้างผู้เชี่ยวชาญมาจากต่างประเทศ ก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณ มากกว่าที่ประเทศชาติจะสามารถจัดสรรให้ได้ ฉะนั้นเราจึงควรต้องใช้วิธีแบบไทยๆ ของเรา คือ ใช้ของไทยและคน ไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา มีผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ และสามารถสร้างเครื่องโทร- ทัศน์ เครื่องพิมพ์ดีด ที่จะใช้ต่อกับคอมพิวเตอร์ได้ในราคา ถูก หรืออีกวิธีหนึ่ง ควรพยายามปรับปรุงแก้ไขระบบการ ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพของเรา คือ ใช้เครื่องให้น้อยใช้คนให้มาก ซึ่งก็คงจะไม่ง่ายนัก แต่ก็น่าจะทำได้ ถ้ามีการระดมความคิดมาช่วยงานด้านนี้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow