การที่ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อบุคคลพิการ โดยได้จัดให้มีการศึกษาพิเศษในรูปแบบต่าง ๆ กัน รวมทั้งยังมีการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐบาล และเอกชน ทำให้การให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ และการฟื้นฟูสมรรถภาพบุคคลพิการ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแล้วก็ตาม แต่ยังมีบุคคลพิการจำนวนมาก ที่มีความรู้สึกว่า สังคมไทยยังไม่ค่อยยอมรับคนพิการ ในแง่การงานอาชีพ และการสังคม กล่าวคือ สังคมให้ความเห็นใจ แต่หากจะต้องว่าจ้างบุคคลพิการเข้าทำงาน หรือคบหาสมาคมกับบุคคลพิการ ก็ยังมีทัศนคติเชิงลบ และยังไม่มีความแน่ใจว่า บุคคลพิการจะสามารถประกอบ อาชีพได้ หรือหากจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ หรือสถานที่ ก็รู้สึกว่า เป็นภาระหน้าที่มากเกินไป ที่จะต้องมาทำ เพื่อคนพิการ ฉะนั้น ในฐานะที่เราทุกคนเป็นประชาชนคนไทย ในสังคมไทย เราจึงควรทราบถึงแนวปฏิบัติต่อคนพิการ เพื่อให้คนพิการได้อยู่ร่วมกับคนปกติ ในสังคมไทยอย่างมีความสุข และมีประสิทธิภาพ
๑. ศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ เกี่ยวกับบุคคลพิการทุกประเภท เพื่อทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในสภาพความพิการ แล้วจะทำให้ อคติ ความกลัว ความรังเกียจ ทัศนคติเชิงลบต่าง ๆ หมดไป ทำให้เกิดการยอมรับบุคคลพิการได้มากขึ้น
๒. เมื่อสามารถยอมรับบุคคลพิการได้แล้ว ก็สามารถให้การสนับสนุนส่งเสริมให้เขามีโอกาสได้แสดงความสามารถ ให้โอกาสเขาได้ทำงานร่วมกับคนปกติ
๓. ถ่ายทอดทัศนคติเชิงบวก หรือที่ถูกต้องให้กับบุคคลอื่น ๆ ที่ยังไม่เข้าใจบุคคลพิการ โดยให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่บุคคลเหล่านั้น
๔. ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลพิการ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนพิการ
๕. ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานที่ให้บริการแก่บุคคลพิการ และครอบครัว เพื่อช่วยแนะนำบุคคลพิการ และครอบครัว ให้ได้รู้จัก และใช้บริการที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลพิการ
๖. ให้การสนับสนุน และเร่งรัดให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกกฎข้อบังคับ และระเบียบการปฏิบัติงานการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เพื่อบุคคลพิการจะได้มีโอกาสรับสิทธิ ที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย และมีโอกาสได้ใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นๆ ในสังคมของคนปกติ