อวัยวะแลกเปลี่ยนก๊าซหายใจในสิ่งที่มีชีวิตชนิดต่างๆ
สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ในน้ำ เช่น พวกโปรโตซัวหลายชนิด จะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนก๊าซหายใจนัก เพราะออกซิเจนซึ่งละลายอยู่ในน้ำสามารถซึมเข้าสู่เซลล์ได้โดยตรงโดยวิธีแพร่ (diffusion) ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการหายใจภายในเซลล์ ก็จะแพร่ออกมาได้โดยวิธีเดียวกัน สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ชั้นต่ำที่อยู่ในน้ำ เช่น พวกฟองน้ำ และปะการัง ภายในลำตัวมีช่องกลวง ซึ่งมีน้ำผ่านเข้าออกได้โดยสะดวก เซลล์ทุกเซลล์มีโอกาสสัมผัสกับน้ำจึงสามารถรับก๊าซออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่น้ำได้โดยตรง เช่นเดียวกับสัตว์เซลล์เดียว สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำพวกสาหร่ายสีน้ำตาลที่อาศัยอยู่ในทะเล ถึงแม้จะมีความยาวถึง ๒๐๐-๓๐๐ ฟุต ก็ไม่จำเป็นต้องมีอวัยวะพิเศษที่ใช้สำหรับแลกเปลี่ยนก๊าซหายใจ ทั้งนี้เพราะโครงสร้างที่คล้ายใบของพืชชั้นสูง ซึ่งมีลักษณะแบนและบางมาก เป็นผลให้เซลล์ทุกเซลล์ของใบได้สัมผัสน้ำทะเล ก๊าซออกซิเจนซึ่งละลายอยู่ในน้ำทะเลสามารถแพร่เข้าสู่เซลล์ และ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แพร่จากเซลล์ออกสู่ภายนอกได้โดยตรง
สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่และโครงสร้างของร่างกายซับซ้อน ร่างกายประกอบไปด้วย เซลล์มากมาย จนไม่มีโอกาสสัมผัสกับอากาศภายนอกได้โดยตรงทุกเซลล์ จึงจำเป็นจะต้องมีอวัยวะพิเศษ ที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อจะได้นำเอาก๊าซออกซิเจนไปแจกจ่ายยังเซลล์ทุกๆ เซลล์ในร่างกาย และช่วยขจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการหายใจภายในเซลล์ ออกไปจากร่างกายโดยทั่วถึง | |
โดยทั่วๆ ไป อวัยวะที่ทำหน้าที่สำหรับแลกเปลี่ยนก๊าซหายใจของพืช และสัตว์ ชั้นสูงจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ๑. เนื้อที่มาก ๒. มีเลือดไปหล่อเลี้ยงมาก (เฉพาะในสัตว์) ๓. จะต้องมีสิ่งห่อหุ้มเพื่อป้องกันอันตรายไม่ให้แตกสลายง่าย ๔. จะต้องชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา |